คลี่ปม 'คุณธรรมการเมือง' ครม.รักษาการ
มีอานาจเต็ม กับ รักษาการต่างกัน คลี่ปม 'คุณธรรมการเมือง' ครม.รักษาการ ตรวจราชการแฝงหาเสียง หลังยุบสภาแล้ว สิ่งเหล่านี้ควรทำอีกไหม?
“หากไม่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ระบบประชาธิปไตย นั่นแหละ จะเป็นระบบ ที่เลวร้ายที่สุด” พุทธทาสภิกขุ สอนไว้
พระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อ 20 มีนาคม 2566 ต่อมา กกต. ประกาศวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 หมายความว่าประเทศไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง2566 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ยุบสภาแล้ว ควรทำสิ่งนี้หรือ?
พรรคการเมืองแต่ละพรรคย่อมหาเสียงตามแนวทางของตน บ้างก็จัดเวทีปราศรัยใหญ่ ปราศรัยย่อย เคาะประตูบ้าน พบปะประชาชนตามงานสำคัญต่างๆ และที่กำลังนิยมขายนโยบายพรรคการเมืองผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละช่วงวัย ครอบคลุมทุก Generation มีทั้งผ่านช่องทาง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ติ๊กต๊อก ฯลฯ
จะมีก็แต่ฟากฝั่ง “รัฐบาล” ไม่มีอำนาจเต็ม แต่ยัง “รักษาการ”จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ นั่นหมายความว่าช่วงนี้ก็ยังเป็นรัฐบาล
ประเด็นสำคัญ สังคมสงสัยว่าทำไม ช่วงนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะฯออกตรวจราชการ ถี่ยิบตั้งแต่ใกล้ก่อนจะยุบสภา จนถึงเวลานี้
ที่น่าสังเกตคณะติดตามนายกฯ ก็มีแต่ “ทีมงานพรรค” ทั้งสิ้น ทำไมไม่มีพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลไปร่วมเลย และตอกย้ำกับสังคมทุกครั้งว่าไป“ตรวจราชการ”ไม่ใช่มา“หาเสียง”
ไม่เหมือนบางพรรคร่วมรัฐบาล ออกตัวในนามพรรคของตัวเองและบอกชัดเจนว่า “มาหาเสียง”โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด
นี่คือสิ่งที่ “ทำแล้ว” ถามต่อแล้วจะ“ทำอยู่”หรือไม่ ดูแล้วก็เหมือนเดิม คือไป“ตรวจราชการ”ต่อไป
งบตรวจราชการใช้ภาษีปชช.
รู้หรือไม่ว่างบประมาณ(ภาษีประชาชน)แต่ละครั้งในการไปตรวจราชการใช้งบประมาณมากเพียงใด คณะของนายกรัฐมนตรีเอง เบ็ดเสร็จไม่น้อยกว่า 20 คน ข้าราชการที่รอต้อนรับ ณ.จุดตรวจ ต้องมากันทั้งจังหวัด ทั้งยังมีจังหวัดใกล้เคียง เพื่อมารับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนั้นๆด้วย
อีกทั้งยังต้องระดมชาวบ้านมาต้อนรับให้เหมาะสม ใช้งบประมาณ(ภาษีประชาชน)รวมอีกเท่าไหร่? หากเป็นช่วงปกติก็อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการปฏิบัติลงพื้นที่บ้าง แต่นี่ช่วงเลือกตั้งไปถี่ยิบ สมควรหรือไม่คิดดูเอาเถอะ!!
ตรวจราชการแฝงหาเสียง
เท่านั้นไม่พอ เพราะจะ“ทำต่อ”คือไป“ตรวจราชการ”แฝง“หาเสียง”อีกจนกว่าจะถึงเวลาหย่อนบัตรเลือกตั้ง จริงๆแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรักษาการ(ครม.รักษาการ) ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขหลายประการ อาทิ
- ไม่อนุมัติโครงการที่ผูกพันกับรัฐบาลใหม่
- ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
- ไม่อนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
- ประการสำคัญไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง
ผู้นำกับคุณธรรมการเมือง
เมื่อเข้าสู่เวทีการเมืองสิ่งที่ควรมีคือ“คุณธรรม”และ“จริยธรรม”ในสังคมประชาธิปไตย ในฐานะสมาชิกรัฐและในฐานะผู้นำหรือผู้ปกครองรัฐ การมีคุณธรรมและจริยธรรมระดับบุคคล มีความสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อย่าลืมหลักการ“ความเสมอภาค” ความเท่าเทียม มีความเสี่ยงต่อการกระทำที่ก่อให้เกิด“ความเหลื่อมล้ำ”ในสังคมการเมือง เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ กับ พรรคการเมือง และนักการเมือง ที่ไม่ได้ใช้ภาษีประชาชนออกตรวจราชการแฝงหาเสียง
แต่ผู้กระทำอาจมองอีกมุมว่าการไปตรวจราชการ(แฝงหาเสียง)คือมี“คุณธรรม”เพราะไปติดตามงาน ช่วยประชาชน ไม่ทำแล้วใครจะทำ แต่แท้จริงแล้ว ข้าราชการในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ตลอดเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างๆเขาต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะเขาเหล่านั้นเป็น “ข้าราชการ” เป็นข้าของแผ่นดิน
แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เรื่อง “การใช้ทรัพยากรของรัฐ”แต่ก็ยังมีช่องว่างของกฎหมาย แต่สิ่งที่ “นักการเมือง” ควรจะมี และไม่จำเป็นต้องมีข้อกฎหมายกำหนด คือต้องมี “จริยธรรม” และการไปตรวจราชการ ให้ระวังอย่าไปอำเภอนี้นะ เพราะ“อันตราย”มาก คือไปตาม “อำเภอใจ” นะขอบอก!