โค้งสุดท้าย 'เพื่อไทย' ฮึด แลนด์สไลด์ 'ก้าวไกล' กระแสแรงไม่ตก สองลุงยังลุ้น
สำรวจ 6 พรรคการเมืองใหญ่ช่วงหาเสียงโค้งสุดท้าย 'เพื่อไทย' มุ่ง 'แลนด์สไลด์' พื้นที่อีสาน 'ก้าวไกล' กระแสยังแรงไม่ตก 'ประยุทธ์' 'ประวิตร' ลุ้นไปต่อหรือปิดฉากการเมืองกลับบ้าน
เหลือเวลาอีกประมาณสองสัปดาห์ก็จะถึงวันพิพากษาชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย ในการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่ง ณ เวลานี้ถือเป็นการห้ำหั่นกันระหว่าง "เพื่อไทย" กับ "ก้าวไกล" ที่มาแรงทั้งคู่และตัดคะแนนกันในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย
หากนับจากวันหาเสียงก่อนเปิดรับสมัคร สส.ของแต่ละพรรค จนถึงวันนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองทยอย “ปล่อยของ” ที่หวังใช้เป็นหมัดเด็ดหวังน็อคคู่แข่งในสนามชิงเก้าอี้สภาผู้แทนราษฎร
สำรวจสถานการณ์ของ 6 พรรคการเมืองใหญ่ ณ เวลานี้ ใครเป็นอย่างไรกันบ้าง
‘รทสช.’ หวังเสียงแฟนคลับ ‘ลุงตู่’
เริ่มกันที่ตัวพ่อขั้วอนุรักษ์นิยม พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่จากฐานแฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก โดยเฉพาะคะแนนจากกลุ่ม กปปส.เดิมในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่เอา “ทักษิณ” และสนับสนุนการโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557
ช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พยายามสร้างภาพจำใหม่ให้ประชาชนสลัดภาพลักษณ์ความ “ถมึงทึง” ออกไป โดยเลือกทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อแสดงออกถึงการเข้าถึงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ย่านถนนข้าวสาร การยอมเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก
รวมทั้งพยายามส่งสารไปถึงประชาชนในทำนองว่า สังคมการเมืองยังจำเป็นต้องให้โอกาสตนเองเข้ามาทำงานอีกสมัย ด้วยการเปรียบตนเองเป็น “กัปตันเครื่องบิน” ที่ต้องนำพาประเทศเดินหน้าต่อไป
คำเปรียบเทียบที่ว่าเป็นการนำวาทกรรม “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 มาตอกย้ำเพื่อเป็นจุดขายของ รทสช. ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนช่วยทำให้พรรคพลังประชารัฐได้จำนวนเสียงมากพอ จนเป็นแกนนำตัดตั้งรัฐบาลได้ แต่สถานการณ์ในปี 2566 แตกต่างกับปี 2566 โดยสิ้นเชิง นั่นเพราะปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในนามหัวหน้า คสช. แต่ปีนี้นอกจากไม่มีอำนาจพิเศษแล้ว ยังมีประเด็นให้ต้องออกมาแก้ต่างอีกหลายเรื่อง เช่น ค่าไฟแพง ราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งบรรดาขุนพลรอบกาย “ลุงตู่” ยังแก้ปมเหล่านี้ม่ไออก แถมยังโบ้ยปัญหาไปให้รัฐบาลก่อนเกิดรัฐประหารอีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ หากช่วงโค้งสุดท้าย รทสช.ยังไม่สามารถงัดไม้เด็ดออกมาได้ อาจถึงเวลานับถอยหลัง “รูดม่าน” ปิดฉากการเมืองของลุงคนแรกอย่างสิ้นเชิง
‘บิ๊กป้อม’ จาก ‘ลุงไม่รู้’ เป็น ‘ผู้นำสมานฉันท์’
พลังประชารัฐ ขั้วอนุรักษ์นิยมอีกพรรคที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แม้ในทางกายภาพจะดูไม่คล่องแคล่วเหมือนนักการเมืองหนุ่มพรรคอื่น แต่ชั้นเชิงของ “ลุงป้อม” ก็ลายครามพอสมควร ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้เห็นเกมบ้านใหญ่วิ่งไปซบพลังประชารัฐจำนวนไม่น้อย
ทว่า บุคลิกความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประวิตร นั้นไม่โดดเด่น และตกเป็นรองคู่ชิงแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่น อีกทั้งถูกปรามาทการสื่อสารที่มักใช้คำว่า “ไม่รู้” กับประชาชนจนกลายเป็นภาพจำในเชิงลบในความไม่ชัดเจนในการอธิบายความกับประชาชน แม้ท้ายที่สุดจะยอมไปเปิดอกเคลียร์ประเด็นในรายการสรยุทธ์ทางช่อง 3 ร่วมชั่วโมง เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพผู้นำพรรคที่ชูจุดขาย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
มองในภาพรวมของพรรคพลังประชารัฐแล้วแม้จะไม่เก๋ามาก แต่ก็มีนักการเมืองจากบ้านใหญ่ที่หลากหลาย มีแบ่งบทบาทฝ่ายบู๊ฝ่ายบุ๋นค่อนข้างชัด ระหว่างทีมเศรษฐกิจที่จะเล่นบทบุ๋นชูก้าวข้ามความขัดแย้งและแก้ปัญหาปากท้อง ขณะที่ฝ่ายบู๊นำโดย “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” เดินหน้าปะฉะดะตอบโต้ทุกประเด็นโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามในทุกเวทีดีเบต
ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐที่มีส่วนผสมลงตัวระหว่าง “นายทหารนักเลือกตั้ง” ย่อมไม่อาจถูกมองข้ามไปได้แม้ว่าผลโพลจะสวนทางกับเป้าที่วางไว้ก็ตาม
‘เพื่อไทย’ จุดยืนไม่ชัดสะเทือนแลนด์สไลด์
เพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่คะแนนความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งจากการสำรวจของโพลหลายสำนัก และนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมาจนถึงปัจจุบัน สถิติตอกย้ำชัดเจนว่า ได้ สส.มาเป็นอันดับหนึ่งและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้ง ยกเว้นการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ถูกพลังประชาชนเล่นเกมชิงชัยชนะไปต่อหน้า ทั้งที่ได้ สส.เข้าสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 136 คน
สำหรับ การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยังได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นพรรคที่ได้ สส.มากที่สุดอีกครั้ง แม้ด่าน สว.อีก 250 คนคอยขวางก็ตาม โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคเพื่อไทยพยายามหาเสียงภายใต้สโลแกน “เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์” พร้อมกับตั้งเป้ากวาด สส.ให้ได้ 300 คนขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม เข้มมุ่งแลนด์สไลด์เริ่มสะดุดออกอาการแลนด์ไถลในช่วงหลัง เนื่องจากสร้างความคลุมเครือต่อจุดยืนทางการเมืองในบางประเด็น เช่น ท่าทีการจับขั้วตั้งรัฐบาลที่ยังเปิดทางจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะพลังประชารัฐ ซึ่งไม่เป็นที่ถูกใจของคนรุ่นใหม่และกลุ่มเฟิร์สโหวตเวอร์
จากความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้เอง แม้จะไม่ทำให้พรรคเพื่อไทยร่วงลงมาจากการสำรวจของโพลหลายสำนัก แต่มองในเชิงตัวเลขแล้วมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้สองแคนดิเดตนายกฯ ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง" - แพรทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน ต้องออกมาย้ำจุดยืนว่าไม่อาจร่วมรัฐบาลกับพรรคที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่ในความชัดเจนที่ประกาศออกมานั้นก็ยังไม่แจ่มชัดแบบฟันธงเท่าที่ควร ทำให้แกนนำพรรคต้องออกแรงให้ผู้สมัครเขตในทุกพื้นที่ขยันเดินขอคะแนนประชาชนให้มากขึ้น
ตัวอย่างกรณีของ “แพรทองธาร” นั้นแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวในนามส่วนตัวเสียมากกว่า เช่นคำพูดที่ว่า “อยากให้ทุกคนดูหน้าดิฉันไว้ ก็คงไม่ได้ชอบการรัฐประหาร...” ส่วน “เศรษฐา” ประกาศชัดเจนว่าไม่ทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า เศรษฐาเองไม่ได้มีอิทธิพลในพรรค หากหลังการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา “เศรษฐา” ก็แค่รับผิดชอบด้วยการลาออกจากพรรค และปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
กา ‘ก้าวไกล’ ทั้งแผ่นดิน
ใครจะคาดคิดว่าพรรคก้าวไกลที่ช่วงแรกเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในค่อนข้างรุนแรงกับ “คณะก้าวหน้า” แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลับพบว่า พรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีคะแนนความนิยมเป็นรองแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น และช่วงโค้งสุดท้ายกระแสยิ่งมาแรงมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลมีความโดดเด่น คือ จุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เนื่องจากไม่ว่าหัวหน้าพรรคหรือแกนนำพรรคจะไปหาเสียงหรือขึ้นเวทีดีเบตที่ไหน ต่างแสดงจุดยืนทางการเมืองในนามมติของพรรคทุกครั้ง โดยเฉพาะการประกาศจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” เพื่อเป็นการย้ำว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเด็ดขาด และพร้อมจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ไม่เพียงเท่านี้การได้อดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่เดิม “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงและเป็นตัวแทนของพรรคขึ้นเวทีดีเบต ยิ่งเกิดกระแสที่ทำให้หลายฝ่ายพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแชร์คอนเทนต์ของพรรคก้าวไกลจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม จุดยืนที่ชัดและทรงที่ดีวันดีคืนของพรรคก้าวไกลก็มีอุปสรรค โดยเฉพาะการจุดพลุประเด็น “ไม่มีพรรคไหนเอาด้วย” ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็จ้องจะดิสเครดิตในทุกย่างก้าว อย่างเช่นการโจมตี “ทิม พิธา” ประเด็นเดินทางกลับจากต่างประเทศมาร่วมงานศพพ่อ ทำให้เจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจกับแฟนคลับ
‘ประชาธิปัตย์’ ระดมขุนพลฮึดสู้โค้งสุดท้าย
พรรคประชาธิปัตย์ ณ ปัจจุบัน เป็นอีกครั้งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะจากพรรคการเมืองใหญ่ที่เคยมี สส.มากกว่าร้อยคน จนกลายเป็นพรรคขนาดกลางที่มี สส.แค่ครึ่งร้อย และจากพรรคที่เคยครองใจคนกรุงเทพฯ ในปี 2562 กลับสอบตกจนสูญพันธุ์ในพื้นที่เมืองหลวง
มาถึงการเลือกตั้งคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังเผชิญความยากลำบากไม่ต่างกัน เพราะไม่ถูกจัดอันดับให้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเหมือนในอดีต มิหนำซ้ำคะแนนความนิยมของหลายสำนักระบุชัดหัวหน้าพรรคสไตล์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” คะแนนนิยมในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ยังห่างจากคู่แข่งพอสมควร
พรรคประชาธิปัตย์รู้ถึงปัญหานี้ดี จึงพยายามเดินหน้าหาเสียงด้วยกลยุทธ์รักษาฐานเดิมและยึดคืนพื้นที่ที่เคยเสียไปกลับมา โดยเฉพาะหลายเขตในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร จึงได้เห็น “ชวน หลีกภัย” ต้องลงมานำทัพลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียงมากขึ้น ถึงขึ้นที่ต้องบอกประชาชนว่านี่อาจเป็นการลงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของตัวเอง พร้อมกับชักชวนอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง “อภิสิทธิ์” และ “บัญญัติ” มาช่วยลูกพรรคหาเสียง เรียกได้ว่าหวังใช้ “รุ่นใหญ่” มาช่วยกอบกู้พรรค
ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พยายามเน้นการสื่อสารนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก พร้อมกับสงวนท่าทีต่อการจับขั้วร่วมรัฐบาลมาตลอด และชี้นำให้รอหลังการเลือกตั้งจบลงก่อน โดยที่ “จุรินทร์” ย้ำหลักการว่า ต้องให้พรรคที่ได้ สส.มากที่สุดมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าทำไม่ได้ถึงจะเป็นโอกาสของพรรคที่มีจำนวน สส.ลำดับรองลงมา
ณ นาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมากในช่วงปลายของการหาเสียง เพื่อให้ตัวเลขทั้งคะแนนเขตและคะแนนพรรคใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
‘ภูมิใจไทย’ ประคองตัวรอร่วมรัฐบาล
ก่อนจะมีการยุบสภาฯ พรรคภูมิใจไทยถูกกล่าวถึงในฐานะพรรคที่มีฐานะมั่นคง ทำให้มี สส.บ้านเล็กบ้านใหญ่วิ่งไปซบจำนวนมาก ถึงกับถูกจับตาว่าอาจจะกลายเป็นพรรคการเมืองม้ามืดที่กลายเป็นขั้วที่สามหรือไม่
แม้หลายครั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคจะแสดงถึงความมุ่งมั่นว่าด้วยนโยบายและผลงานของพรรคที่ผ่านมาโดดเด่น โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และคมนาคม ที่จะสร้างความเซอร์ไพรส์ในทางการเมืองได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความพยายามในการวางตำแหน่งทางการเมืองของของพรรคภูมิใจไทย ทำได้แค่พรรคภูมิภาคนิยมเท่านั้น
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ที่มีบุรีรัมย์เป็นศูนย์กลาง และหวังกวาดคะแนนจังหวัดรอบๆ เพื่อให้มี สส.มากพอที่จะเข้าร่วมได้กับทุกขั้วการเมืองภายใต้สายสัมพันธ์ที่อยู่เดิม ซึ่งจะว่าก็คล้ายกับโมเดลของพรรคชาติไทยในอดีตที่พยายามรักษาฐานจังหวัดภาคกลางโดยมีสุพรรณบุรีเป็นเมืองหลวงของพรรค และรักษาจำนวน สส.ของพรรคให้อยู่ระดับกลางๆ ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการต่อรองเข้าร่วมรัฐบาล
จุดแข็งของพรรคภูมิใจไทย คือ การรักษาพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรค เพราะสามารถนับหัวได้เลยจะมี สส.ระบบแบ่งเขตเดินเข้าสภากี่คน แต่ยังมีจุดอ่อนตรงคะแนนนิยมของพรรคที่จะดันคะแนน สส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ แม้การเลือกตั้งปี 2562 จะได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์มากถึง 12 คน แต่นั่นก็มาจากการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวที่บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะเลือก สส.บัญชีรายชื่อไปในตัว ต่างกับปัจจุบันที่เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบแยกกันระหว่าง สส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์
พายุต่อต้านนโยบายกัญชาเสรีที่โถมเข้าใส่ และความไม่เด็ดขาดในการควบคุมการเข้าถึงกัญชาในสมัยเป็นรัฐบาล ผนวกกับพิษที่ดินเข้ากระโดง และกลิ่นการทุจริตที่ถูกแฉในกระทรวงคมนาคม อาจกลายเป็นปัจจัยลบฉุดกระแสนิยมของภูมิใจไทยให้ดิ่งลง ช่วงโค้งสุดท้ายของสนามเลือกตั้งใหญ่เที่ยวนี้ จึงอาจแค่ประคองตัวเพื่อหาทางสวิงตัวเองไปซ้ายหรือขวาของสมการการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจบลง