คอลัมนิสต์

‘วุฒิสภา-ภูมิใจไทย’ ตัวแปรสกัด ‘ก้าวไกล’ เปิดทาง ‘เพื่อไทย’ ชิงตั้งรัฐบาล

‘วุฒิสภา-ภูมิใจไทย’ ตัวแปรสกัด ‘ก้าวไกล’ เปิดทาง ‘เพื่อไทย’ ชิงตั้งรัฐบาล

17 พ.ค. 2566

ภูมิหลังของ สว.ส่วนใหญ่อนุรักษ์นิยม ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของพรรคก้าวไกล ในประเด็นแหลมคมอย่าง ม.112 เป็นทุนเดิม ทำให้ทั้ง ‘วุฒิสภา-ภูมิใจไทย’ เป็นตัวแปรสกัด ‘ก้าวไกล’ เปิดทาง ‘เพื่อไทย’ ชิงจัดตั้งรัฐบาล

ถ้าเป็นภายใต้กติกาตามปกติ ทันทีที่คะแนนเลือกตั้งถูกนับไปแล้วประมาณ 80%ของคืนวันที่ 14 พฤษภาคม คงได้เห็นภาพแกนนำพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ประกาศจับมือสองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมกับประกาศสนับสนุน 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญออกแบบให้วุฒิสภาชุดนี้เข้ามามีสิทธิ์ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

 

เมื่อความจริงพบว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้แลนด์สไลด์และพรรคก้าวไกลไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเด็ดขาด ทำให้เป้าหมายที่จะปิดสวิตช์ สว. ด้วยเสียง สส.จำนวน 376 เสียง ยังส่งผลให้ความคลุมเครือในทางการเมืองมีอยู่ต่อไป แม้ว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลจะชิงประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่รวมเอาเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม จำนวน 310 เสียงแล้วก็ตาม

 

การเมือง 3 ฝ่ายความสัมพันธ์สุดร้าว

มาถึง ณ นาทีนี้ 'วุฒิสภา' คือ โจทย์สำคัญที่พรรคก้าวไกลจะต้องแก้ให้ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ราบรื่นเท่าใดนัก โดยเฉพาะในประเด็นแหลมคมอย่างเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากภูมิหลังของ สว.ส่วนใหญ่ต่างเป็นพวกอนุรักษ์นิยม และไม่เห็นด้วยกับท่าทีของพรรคก้าวไกลในเรื่องดังกล่าวเป็นทุมเดิม แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี สว.ที่ร่วมโหวตให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วน แต่กับเรื่องการเสนอให้ทำประชามติเพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อนยุบสภาฯนั้น มี สว.ถึง 157 คน ลงมติไม่เห็นด้วย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมแกนนำพรรคก้าวไกล ขึ้นรถแห่ขอบคุณทุกคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกล

 

หากพรรคก้าวไกล จะพึ่งแต่เสียงของสส.อีกประมาณ 70-80 เสียง เพื่อให้ สส.จำนวน 376 คน ปิดสวิตช์ สว.ก็ยากพอสมควร เพราะพรรคภูมิใจไทยที่มีเสียงในมือ 70 เสียง ยังคงสงวนจุดยืนต่อท่าทีของหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ประกาศชิงตั้งรัฐบาล 310 เสียง ไม่เพียงเท่านี้ การทำงานการเมืองของพรรคภูมิใจไทยกับพรรคก้าวไกลตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก เรียกได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก็ว่าได้ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผลให้ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รมว.คมนาคม ซึ่งไม่รู้พรรคภูมิใจไทยลืมความหลังเรื่องนี้แล้วหรือยัง

แกนนำพรรคก้าวไกล ในวันที่พรรคชนะเลือกตั้ง

 

ดังนั้น ตราบใดที่พรรคภูมิใจไทยยังไม่ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ทำให้ ‘พิธา’ มีทางเดินให้เลือกสองทาง คือ ทางเลือกที่ 1 เดินหน้าเก็บเสียงพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 9 ที่นั่ง เป็นต้น เพื่อหวังเป็นกระแสกดดันให้พรรคภูมิใจไทยไม่กล้าปฏิเสธรถไฟขบวนนี้ เพื่อปิดสวิตช์ สว.อย่างเป็นทางการ หรือ ทางเลือกที่ 2 ไม่ต้องรอพรรคภูมิใจไทย แต่เอา 310 เสียงไปวัดใจกับ สว.ข้างหน้า โดยหวังว่ากระแสที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ สว.ที่เคยโหวตเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสว.ในกลุ่มที่มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มวิชาชีพที่ไม่ได้เป็นสว.จากการเลือกของคสช.โดยตรง ที่มีอยู่รวมกันประมาณ 50-60 คน จะยกมือสนับสนุนพรรคก้าวไกล

 

ที่สำคัญอย่าลืมว่าวุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567 ด้วยเงื่อนเวลาดังกล่าว อาจมีความเป็นไปได้เหมือนที่จะมีสว.จำนวนหนึ่งไม่อาจต้านทานกระแสที่เกิดขึ้นได้

อุ๊งอิ๊ง แพรทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพือ่ไทย

 

‘เพื่อไทย’ รอส้มหล่นแอบหวังฟอร์มรัฐบาล

ท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันรับไมตรีจากพรรคก้าวไกล แต่การฟอร์มรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมืองหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถปิดสวิตช์ สว.ได้ แน่นอนว่าโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลจะกลับมาเป็นของพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มี สส.มากที่สุดลำดับที่สองทันที

 

มองในแง่ความสัมพันธ์และคอนเนคชั่นทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อสว.และพรรคภูมิใจไทย น่าจะเป็นคนคุ้นเคยกันมากกว่าเมื่อเทียบพรรคก้าวไกล โดยพรรคภูมิใจไทยเคยทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพรรคไทยรักไทยมาก่อน ประกอบกับที่ผ่านมา ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่เคยมีท่าทีในทางลบต่อพรรคเพื่อไทยมาก่อน

อนุทิน ชาญวีรกูล  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง2566

 

เช่นเดียวกับ สว.ชุดนี้ แม้จะมาจากการคัดเลือกของคสช. แต่โดยเนื้อแท้เดิมแล้วหลายคนก็เคยเป็น สว.ก่อนการรัฐประหารที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาก่อน หลายครั้งก็เคยยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายที่เสนอจากรัฐบาล อีกทั้ง สว.จำนวนไม่น้อยไม่สบายใจต่อทัศคติของพรรคก้าวไกลต่อเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่แปลกแต่อย่างใดหากที่สุดแล้วในอนาคตการเมืองไทยมีตัวเลือกแค่สองพรรคการเมือง สว.อาจยอมยกมือให้พรรคเพื่อไทยมากกว่าจะสนับสนุนพรรคก้าวไกล

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ3 ในการเลือกตั้ง2566

 

นั่นเองจะเป็นโอกาสของพรรคอันดับสองในการตั้งรัฐบาล ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

ย้อนประวัติศาสตร์พรรครองตั้งรัฐบาล

ไม่ได้มีกติกาลายลักษณ์อักษรใดๆที่บัญญัติถึงขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลเอาไว้ มีแต่เพียงหลักการที่ถือปฏิบัติกันมาว่าพรรคอันดับ 1 ต้องมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งหลักการนี้ถูกพูดถึงกันตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2539 ที่พรรคความหวังใหม่ได้สส.จำนวน 129 คน ชนะพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 2 ไปจำนวน 2 คน เวลานั้น 'ชวน หลีกภัย' หัวหน้าพรรค ประกาศให้พรรคความหวังใหม่จัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งพรรคความหวังใหม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จึงได้เห็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ‘ขงเบ้ง’ ของกองทัพบกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯแทน แต่รัฐบาลของ ‘บิ๊กจิ๋ว’ ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

นับจากนั้นมาพรรคอันดับ 1 ก็ได้มีโอกาสตั้งรัฐบาลก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยของ 'ทักษิณ ชินวัตร‘ พรรคพลังประชาชนของ ’สมัคร สุนทรเวช‘ และ พรรคเพื่อไทยของ ’ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อย่างไรก็ตาม หลักการที่ว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองอันดับที่ 1 เริ่มมีคำอธิบายอีกชุดหนึ่งในทำนองว่าถ้าพรรคอันดับสองสามารถรวบรวมสส.ได้เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีตามทฤษฎีนี้ คือ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' เมื่อปี 2551

 

การเลือกตั้ง สส.เมื่อปี 2550 พรรคพลังประชาชนได้ สส.มากที่สุด 233 คน พรรคประชาธิปัตย์เป็นอันดับสองมี สส. 164 คน ปัจจัยทางการเมืองที่ทำให้การเมืองเกิดการเปลี่ยนขั้วครั้งใหญ่ คือ การยุบพรรคพลังประชาชน ในปี 2551 ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมปิดทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศสุวรรณภูมิ

 

ผลของการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ สส.มากกว่า 200 ชีวิต กลายเป็น สส.ที่ไร้สังกัด สส.ในนาม 'กลุ่มเพื่อนเนวิน' มากกว่า 20 ชีวิต กลายเป็นกลุ่มทางการเมืองที่ถูกจับตามองท่าทีมากที่สุดว่าจะยังร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชาชนที่กลายร่างเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไม่

 

คีย์แมนของพรรคประชาธิปัตย์ในห้วงเวลานั้นอย่าง 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการประสานงานกับ 'เนวิน ชิดชอบ' แกนนำคนสำคัญมาร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช จะเข้ามาร่วมรัฐบาลและยกมือสนับสนุนให้ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' เป็นนายกรัฐมนตรี

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการพลิกขั้วการเมือง คงหนีไม่พ้นภาพแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เข้าพบผู้นำเหล่าทัพเวลานั้นที่กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ แม้ว่าผู้นำเหล่าทัพจะปฏิเสธถึงการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง แต่ก่อนจะเกิดพลิกขั้วทางการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อเหลือง ปรากฏภาพพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเวลานั้นนำผู้นำเหล่าทัพออกรายการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กดดันให้ 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ' นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภา ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้ง 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' เป็นรมว.กลาโหม

 

รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ดึงขั้วการเมืองเดิมเข้ามาร่วมรัฐบาล จนได้เป็นฝ่ายข้างมากในสภา แต่นอกสภากลับต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อ้างเงื่อนไขความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่ชอบธรรมของการตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่มี สส.เป็นอันดับสอง จึงต้องคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภา

 

บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์หรือแม้แต่ตัวของนายกฯเอง ได้พยายามอธิบายถึงหลักการรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาลว่าเมื่อพรรคอันดับ1 อย่างพรรคเพื่อไทยที่มี สส. 178 คน มิอาจตั้งรัฐบาลเพื่อยกมือให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายกฯได้ จึงเป็นโอกาสของพรรคในลำดับถัดมาที่จะตั้งรัฐบาล แต่กระนั้นเงื่อนไขการชุมนุมก็ถูกขยายผลต่อไปเรื่อยๆ และเกิดการสลายการชุมนุม รัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่ได้ประมาณ 2 ปีก็ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ และแพ้เลือกตั้งให้กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในปี 2554