คอลัมนิสต์

พรรคเพื่อไทย ร่วม รัฐบาลก้าวไกล กระแส 'ทักษิณ' กลับบ้านใกล้ความจริงมากขึ้น?

พรรคเพื่อไทย ร่วม รัฐบาลก้าวไกล กระแส 'ทักษิณ' กลับบ้านใกล้ความจริงมากขึ้น?

18 พ.ค. 2566

ช่วงหลายปีมานี้ประเด็นกลับบ้านของ “ทักษิณ” อาจเป็นแค่เรื่องโจ๊ก แต่หลังจาก "พรรคเพื่อไทย" ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง และเป็นหนึ่งในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับ รัฐบาลก้าวไกล หรือได้รับส้มหล่นเก้าอี้นายกฯ ไม่แน่คราวนี้ทักษิณอาจได้กลับมากราบแผ่นดินเกิด

ช่วงหลายปีมานี้ประเด็นกลับบ้านของ “ทักษิณ” อาจเป็นแค่เรื่องโจ๊กที่พูดถึงกันมาต่อเนื่อง แต่หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง และเป็นหนึ่งในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรืออาจส้มหล่นเก้าอี้นายกฯ ตกมาอยู่กับเพื่อไทย ไม่แน่ว่าคราวนี้ทักษิณอาจได้โอกาสกลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง

 

คำประกาศกลับบ้านของ “ทักษิณ” มีมาต่อเนื่อง และทุกครั้งที่พูดก็มักเป็นการส่งสัญญาณหวังผลทางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทยที่ตัวเองเป็นเจ้าของตัวจริง ทว่าเขาก็ดีแต่เฉี่ยวไปมาอยู่ในประเทศใกล้เคียงเท่านั้น พร้อมๆ กับกล่าวค่อนขอดใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวของเขานั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 

 

ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2549

 

อดีตนายกฯ แดนไกลได้ทวิตข้อความ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า “ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” 

 

กระแสหนุน ‘อุ๊งอิ๊ง’ นั่งนายกฯ

 

ภายหลังสิ้นสุด 4 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏว่า “ทักษิณ” ก็ได้ส่งสัญญาณแรงๆ เรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยผ่านสำนักข่าวต่างประเทศชัดเจนขึ้น “ตอนนี้ผมติดคุกขนาดใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าจะต้องทนทุกข์ทรมานอีกครั้งในคุกที่เล็กกว่านั้นก็ไม่เป็นไร” คำสัมภาษณ์ของทักษิณผ่านสำนักข่าว Kyodo News ของญี่ปุ่น

 

"อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยปราศรัยหาเสียงระหว่างการเลือกตั้ง

 

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีนัยว่าเขาพร้อมรับโทษด้วยการเดินเข้าเรือนจำ ท่วงทำนองเดียวกับการทวิตล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ออกปาก “ขออนุญาต” (ใคร?) กลับบ้านในสถานการณ์ที่ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นแกนนำในช่วงที่กำลังเดินหมากทางการเมืองสู่ชัยชนะเป็นอันดับหนึ่งและตั้งเป้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

 

อุปสรรคทางกฎหมายที่ต้องเผชิญ

 

“การเมือง” คือเกมการต่อรองที่จะต้องแลกด้วยผลประโยชน์เสมอ นั่นหมายถึงเดิมพันแลกอิสรภาพกลับบ้านในครั้งนี้ ตัวเขาก็ต้องแลกบางอย่าง นั่นคือคดีความที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างน้อย 3 คดี

 

 

  1. คดีการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว พิพากษาเมื่อวันทา 6 มิ.ย. 2562 จำคุก 2 ปี
  2. คดีการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา พิพากษาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 จำคุก 3 ปี
  3. การแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ พิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 จำคุก 5 ปี

 

 

ทั้ง 3 คดีดังกล่าวถือว่าการต่อสู้ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว  แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 195 จะเปิดโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งพิจารณาและเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งขึ้น จะมีมาตรา 29 ที่เปิดโอกาสให้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่มาตรา 29 มีเงื่อนไขด้านเวลาจะต้องยื่นภายใน 1 ปี แต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

 

มิหนำซ้ำคดีของทักษิณทั้ง 3 กรณีได้กลายเป็นคดีที่ไม่มีความอายุความ เนื่องด้วยผลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25 ที่ระบุว่า “ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ (อายุความ)” ดังนั้น ถ้าถึงที่สุดแล้วอดีตนายกฯทักษิณ เดินทางมาถึงท่าอากาศยานในไทยและก้มลงกราบพื้นอีกครั้งเหมือนที่เคยทำเมื่อปี 2551 สถานที่ต่อไปที่ต้องเดินทางไปทันที คือ “เรือนจำ”

 

 

‘ทักษิณ’ เดินเข้าคุกยุคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในทางการเมืองแล้ว วัน เวลา ที่ “ทักษิณ” เดินทางกลับประเทศไทยนั้นเป็นจังหวะเดียวกับการเลือกตั้งสิ้นสุดลง แต่ ณ เวลานี้ขึ้นอยู่กับว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ในสถานะใดระหว่างเป็นพรรคอันดับ 2 ที่เข้าร่วมรัฐบาลก้าวไกล หรือการเมืองพลิกขั้วทำให้ “พิธา” ไปไม่ถึงฝัน? และเพื่อไทยได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลแทน

 

"อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร

 

ดังนั้น ณ เวลานี้ แม้พรรคก้าวไกลได้รับชนะเลือกตั้งคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ประตูกลับบ้านของ “ทักษิณ” ยังไม่ถูกปิดลง เพราะยังต้องลุ้นว่า “ทักษิณ” จะดันชื่อใครระหว่าง “เศรษฐา” และ “อุ๊งอิ๊ง'” เข้ารับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ทักษิณ ชินวัตร ก้มลงกราบแผ่นดินไทยขณะเดินทางกลับจากต่างประเทศหลังรัฐประหาร

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะดีเอ็นเอของ “ทักษิณ” ว่ากันว่า “อุ๊งอิ๊ง” ยังรอได้ หากจะรอเป็นนายกฯ เที่ยวหน้า แต่ทุกปัจจัยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่า ระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นบัลลังก์นายกฯ กับการกลับบ้านของ “ทักษิณ” สูตรใดจะวินสำหรับทุกฝ่าย  

 

 

จึงต้องรอติดตามว่าการกลับบ้านของ “ทักษิณ” เป็นเพียงกลเกมการเรียกคะแนนให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แม้ว่าตัวเขาอยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลานจริงๆ แต่ประตูบ้านนั้นถูกปิดตายไปเกือบสองทศวรรษแล้ว