คอลัมนิสต์

'รัฐบาลเพื่อไทย' ดับฝัน 'ก้าวไกล' ฉากทัศน์เส้นทางการเมือง 'พิธา' หลังจากนี้

'รัฐบาลเพื่อไทย' ดับฝัน 'ก้าวไกล' ฉากทัศน์เส้นทางการเมือง 'พิธา' หลังจากนี้

02 ส.ค. 2566

คำแถลงผลการประชุม 8 พรรคร่วมโดย 'เพื่อไทย' เมื่อ 2 ส.ค. เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญอีกครั้งในช่วง 80 วัน หลังการหย่อนบัตรเลือกตั้ง และเกิดคำถามว่าเมื่อ 'ก้าวไกล' ถูก 'รัฐบาลเพื่อไทย' ดับฝันลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว เส้นทางการเมืองของ 'พิธา' นับจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

 

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ป๊อปปูล่ามากที่สุด ทุกวันนี้แม้เขาจะไม่มีโอกาสทำตามฝันของมวลชนด้อมส้ม แต่ยังได้รับการต้อนรับในทุกที่อย่างล้นหลาม แน่นอนว่าเมื่อ "เพื่อไทย" ตัดไมตรีและร่วมดับฝัน "รัฐบาลก้าวไกล" พรรคสีแดงของ "ทักษิณ" ที่ชักชวนลุงซึ่งเป็นดอกผลของคณะรัฐประหารมาร่วมหอ โดยยอมเปลี่ยนจุดยืนตอบรับเงื่อนไข "มีลุงไม่มีก้าวไกล" เท่ากับผลัก "ก้าวไกล" เป็นคู่แข่งทางการเมืองก่อนเวลาอันควร และไม่อาจหลีกเลี่ยงจะถูก "ก้าวไกล" ในฐานะฝ่ายค้านตรวจสอบอย่างเข้มข้น 

 

ย้อนไปก่อนวันเลือกตั้ง แม้ "เพื่อไทย" และ "ก้าวไกล" จะอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตยด้วยกัน แต่ไม่ได้สนิทแนบแน่นเป็นพันธมิตรทางการเมือง เนื่องจากเป็นพรรคเบอร์หนึ่งเบอร์สองที่ขับเคี่ยวต่อสู้แย่งชิงความนิยมกันมาอย่างเผ็ดร้อน ผู้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดจะทราบดีว่าระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น "พิธา" เดินหน้าดับฝันแลนด์สไลด์ และช่วงชิงคะแนนในโค้งสุดท้ายได้โดดเด่น เรียกได้ว่า "พิธา" สามารถสร้างแต้มต่อทางการเมืองเหนือ "อุ๊งอิ๊ง" และ "เพื่อไทย" อย่างเด่นชัด 

 

 

จุดเปลี่ยนการเข้าเส้นชัยอันดับหนึ่งในเวลานั้นเพราะ "ก้าวไกล" สามารถปลุกกระแสแคมเปญ "มีเราไม่มีลุง" จนติดลมบน โดย "พิธา" ประกาศกลางเวทีปราศรัยใหญ่ที่สนามไทย-ญี่ปุ่นดินแดงว่า "ผมพร้อมเป็นนายกฯ ของทุกคน" จากเดิมที "ก้าวไกล" เองคาดการณ์ว่าพรรคคงไม่ได้มาที่หนึ่ง แม้ตัวเลขโพล สส.จะใกล้เคียงความจริงที่ 150 คน ในขณะที่ฝั่ง "เพื่อไทย" มั่นใจตัวเลข 310 เสียง 

 

 

หากจำกันได้เวลานั้นนักรบห้องแอร์ในฐานะแกนนำ "เพื่อไทย" ต้องคอยสั่งแก้เกมผ่านแอปพลิเคชันไลน์อย่างพัลวัน เพื่อกำชับผู้สมัครไม่ให้ประมาทกระแส "ก้าวไกล" และให้ขยันเดินเข้าหาประชาชนหนักกว่าเดิม นั่นเท่ากับ "ก้าวไกล" และ "เพื่อไทย" ต่างรับรับรู้บาดแผลจากการแลกหมัดในสนามมาอย่างดี แต่การเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ทั้งสองพรรคที่เรียกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็สามารถผูกข้อมือหมั้นหมายจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ 

 

 

ก่อนจะแยกทางกันในวันนี้ ย้อนไปก่อนถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. เอาเข้าจริง "พิธา" ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายทอดไมตรีแบะท่าขอร่วมรัฐบาลกับ "เพื่อไทย" ล่วงหน้า (เพราะคิดว่าเพื่อไทยมาที่หนึ่ง) เขาบอกเหตุผลว่า หลายนโยบายทั้งสองพรรคไปด้วยกันได้ เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การเลือกตั้งผู้ว่าฯ การปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ พร้อมกับย้ำว่าเพื่อเป็นการสานฝันรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และหยุดการสืบทอดอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหาร 

 

 

ผลปรากฎว่าคะแนนนิยมพรรคก้าวไกลพุ่งแรงแซงโค้ง "เพื่อไทย" ทะลุ 14 ล้านเสียง และได้ สส.เข้าสภามาเป็นอันดับ 1 ถึง 151 คน ซึ่งผลการลงคะแนนของประชาชนทำเอากูรูทางการเมืองต่างไม่คาดคิดว่า "ก้าวไกล" จะสามารถสร้างปรากฎการณ์ "ส้มทั้งแผ่นดิน" ได้อย่างเกินความคาดหมาย 

 

 

อย่างไรก็ตาม มติ 7: 2 ของตุลาการ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ใช้คดีถือครองหุ้น iTV ฟาดใส่ "พิธา" เมื่อ 19 ก.ค. 2566 เสมือนเป็นใบสั่งยุติบทบาททางการเมืองของเขาในฐานะ สส. (ชั่วคราว) แคนดิเดตนายกฯ ที่ประชาชน 14 ล้านเสียง มอบฉันทานุมัติให้เขาเป็นนายกฯ คนที่ 30 จึงจบลง และรับทราบกันล่วงหน้าว่าคงไม่มี "รัฐบาลก้าวไกล" ตั้งแต่วันนั้น ซึ่งต่อมา "ก้าวไกล" ก็ยอมยกบทบาทแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้กับ "เพื่อไทย" ทำหน้าที่แทน 

 

 

ฝันของ "พิธา" ไม่ได้ดับลงเฉพาะตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่เขาอาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จากคดีถือหุ้น iTV และหากไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภา เท่ากับเขาอาจต้องเดินตามเส้นทางของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นผู้ชักชวนเขามาสู่สนามการเมือง ขณะเดียวกันต้องติดตามด้วยว่า "ก้าวไกล" จะถูกยุบพรรคในคดีล้มล้างการปกครองด้วยหรือไม่ 

 

 

ฉากทัศน์ของ "พิธา" หลังมีรัฐบาล "แดงรักลุง" หรือแดงผสมพันธุ์เหลืองจะเกิดกระแสอะไรขึ้นตามมาหรือไม่ มวลชนด้อมส้มและแดงแท้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ "ทักษิณ" จะผนึกกำลังเคลื่อนไหวอย่างไร จะนัดกันลงถนนเพื่อเดินหน้าบดขยี้ "เพื่อไทย" หรือไม่ แล้วเวลานั้น "พิธา" ไปยืนอยู่จุดไหน ไปเดินตามต้อยๆ ร่วมกับคณะก้าวหน้า หรือจะเข้าร่วมกับมวลชนด้อมส้มลงถนนทวงถามความชอบธรรม และปลุกกระแส "ให้เลือกตั้งทำไม" 

 

 

ทุกเกมล้วนเป็นไปได้ แต่ ณ นาทีนี้...มีทุกพรรคเป็นรัฐบาลได้ แต่ต้องไม่มี "ก้าวไกล" และไม่มี "พิธา"