ปม 'หุ้น itv' พิธา จะได้ไปต่อ หรือพอแค่นี้
'พิธา' มีท้อ ไทม์ไลน์ 'หุ้นไอทีวี' มาจากการเมือง ไปต่ออย่างไร รอศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด เดินตามตัวอักษร หรือเจตนารมย์กฎหมาย
บันทึกรายงานการประชุมสามัญผุ้ถือหุ้นประจำปี2566 บริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 37 คน โดยในวาระเลือกตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่หมดวาระ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ซักถามว่ามีกรรมการท่านใดเป็นนักการเมืองหรือไม่
ในวาระรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เขายังเป็นหนึ่งในสองของผู้ถือหุ้นที่ซักถามว่าผู้ถือหุ้นจะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือคดีความกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้อย่างไรบ้าง และในวาระสุดท้ายของการประชุม เป็นผู้ถามคำถามว่า ไอทีวีมีการดำเนินเกี่ยวกับสื่อหรือไม่
การร้องให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของพิธา เกิดจาก นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย เขต 17 คลองสามวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเป็นผู้สมัคร สส.ของพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และถือหุ้นไอทีวีเช่นเดียวกับพิธา เป็นผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566
ตามข้อมูลของ นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006ซึ่งเคยถูกจำคุกร่วมกับแกนนำ นปช. คดีบุกบ้านพักสี่เสาเทเวศน์ ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อ กกต.ขอให้เชิญมา เป็นพยานกรณีที่ยื่นให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ค้นข้อมูลของ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน พบว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกันนี้
ได้เข้าให้ปากคำในฐานะพยานบริษัทคลีนิคนวลจันทร์ ของนิกม์ ซึ่งได้แจ้งความเมื่อปลายปี2565ว่าโดนปลอมใบสั่งซื้อยาอันตรายมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ยาดังกล่าว สามารถนำไปผลิตยาเสพติดได้ และเขายังถูกตั้งคำถามจากพรรคก้าวไกล ว่าได้หุ้นมาอย่างไร ทำไมจึงตั้งคำถามดังกล่าว
อ่านรายงานผู้ถือหุ้นไอทีวีได้ที่นี่
รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) มีสาระสำคัญ ระบุว่าบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร
หลังการปิดรับสมัคร สส.3-7 เม.ย.ก่อนการเลือกตั้งเพียง 4 วัน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชา ก็ร้องเรียน กกต. ให้ตรวจสอบ กรณีถือหุ้นสื่อ ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อ้างว่า ได้รับข้อมูลมาจาก คนที่ถือหุ้น ITV เหมือนกัน
เป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะได้นำข้อมูลไปให้กรมธุรกิจการค้าตรวจสอบ ก็พบว่า มีชื่อถือหุ้นอยู่จริงๆ เรืองไกรเอง ก็เคยได้รับไมตรี จากพรรคภูมิใจไทย หลังพลาดโควต้ากรรมาธิการงบประมาณ ปี 65 จากต้นสังกัดเก่า
แม้พรรคก้าวไกล แลเครือข่ายนักวิชาการจำนวนมาก จะพยายามยกเรื่องเจตนารมย์ของกฎหมาย หลายฉบับมาเป็น ข้อต่อสู้คดีถือหุ้นสื่อ แต่หากยังจำกันได้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ก็เป็นเรืองไกร คนเดียวกันนี้ ที่ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน สมัคร สุนทรเวช จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267
ไฮไลท์คำตัดสินในวันนั้น อยู่ที่การแปลความหมายคำว่าลูกจ้าง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2542 ว่าเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว