'หุ้น itv' ทำปลายทาง 'พิธา' ยิ่งกว่าหนังชีวิต
เส้นทางนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 'พิธา' ถือ 'หุ้น itv' ยังมีกฎหมายรับไม้อีกหลายด่าน ไม่สามารถข้ามผ่านไปได้อย่างง่ายดาย
อินโฟกราฟฟิค เผยแพร่ บทลงโทษตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม ( แก้ไขเพิ่มเติม ) พ.ศ. 2566 เมื่อวานนี้ ก่อนจะถูกลบทิ้งจากกลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
แม้จะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า นี่เป็นบทลงโทษตามข้อกล่าวหา อย่างแท้จริง
เอกสารเผยแพร่จาก กกต. ใกล้เคียงกับห้วงเวลาที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นำเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมมายื่นให้ กกต. ประกอบการไต่สวน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามข้อกล่าวหาหา โดยยืนยันว่า เรื่องที่เกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้น itv ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยน
เมื่อกฎหมายบอกว่าผู้สมัครต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นสื่อแต่วัตถุประสงค์หลักของบริษัทไอทีวี หลังจากถูกบอกเลิกสัญญาจากสปน.คือ การดำเนินธุรกิจสื่อยังคงดำรงอยู่ อีกทั้งงบการเงินในไตรมาสที่ 1 ปี2566 มีการระบุไว้ ว่ามีการทำธุรกิจสื่อตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 และจะรับรู้รายได้จากการทำสื่อดังกล่าวในไตรมาสที่2 นี่ก็ชัดเจนในสถานะของ ไอทีวี
ในรัฐบาลที่ผ่านมา มีกรณีร้องถอดถอน สส. รวม 64 ราย เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ หรือไม่ ที่น่าสนใจ เป็นกรณี ภาดาท์ วรกานนท์ สส.พลังประชารัฐ ถือหุ้น บริษัท ทาโร่ทาเลนท์ ซึ่งเป็นบริษัทรับทำโฆษณา ศาลเห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีรายได้จากการดำเนินการ จึงมีมติเสียงข้างมาก ว่า บริษัทของ ภาดาท์ ไม่เข้าข่ายบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ
กรณีคำร้องคุณสมบัติ พิธา คาดเดาปลายทางไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร การรับรอง สส. ของ กกต. ที่ว่ากันว่าจะครบ 95% ปลายเดือนนี้ จะมีชื่อพิธารวมอยู่ด้วยหรือไม่ ในขณะที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า พร้อมสู้ทุกฉากทัศน์ทางการเมือง เหมือนธนาธรที่โดนข้อหาคล้ายกัน แต่คราวนี้ ยังมีข้อมูลการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
มีคำถามว่า พิธา จะรอดจากกับดักทางการเมืองนี้หรือไม่ หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อย เพราะไม่ได้มีแค่กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 151 แต่ยังมีมาตรา 82 ที่ใช้สว.เพียง 25 คน ก็สามารถยื่นคำร้องส่งผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว แถมยังมี 98(3) อีกหนึ่งมาตรา ที่อาจทำให้ พิธา ตกม้าตาย