เส้นทาง 'นายกฯ' 'พิธา' พรรค 'ก้าวไกล' กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง
เงื่อนไขวุฒิสภา เลือก 'นายกฯ' 'พิธา' ทำ 'ก้าวไกล' เจอทางตัน แถมยังถูกผูกมัดด้วยเงื่อนไขสารพัดที่ตัวเองวางไว้ ก่อนก้าวเข้าสู่สภา
เจตจำนงค์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ก่อนทีเด็ดโค้งสุดท้ายมีลุงไม่มีเรา คือการทลายทุนผูกขาดทางการเมือง วันนี้ ก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง รวมเสียงข้างมากได้เบ็ดเสร็จในสภาล่าง แต่หนทางสู่ตำแหน่งนายกฯ พิธา กลับตีบตัน เพราะตั้งกำแพงไว้สองชั้นคือ การเลือกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล กับการลดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา
ด่านที่ต้องเผชิญในการเดินสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร เริ่มจากการเปิดประตูสภา ด้วยการหาคนมานั่งตำแหน่งประธาน เริ่มเป็นงานยาก ก้าวไกลอยากได้เก้าอี้นี้ไว้ เพื่อบัญชาการในเกมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภา เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากต้องวัดพลังด้วยการฟรีโหวตในสภากับพรรคอันดับสองอย่างเพื่อไทย คำนวณท่าทีทางการเมืองอย่างไร ก้าวไกลก็เสียเปรียบ
ยิ่งหากทะลุไปถึงเกมชิงเก้าอี้นายกฯ พิธา ต้องการ 376 เสียงเป็นอย่างต่ำ นี่ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำมากยิ่งขึ้น 64 เสียงที่ขาดไป หากไม่เอา สว. อย่างน้อยก็ต้องหวังพรรคพลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์ร่วมโหวตให้ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ในเมื่อ ลุงก็ไม่เอา กัญชาเสรีและทุนผูกขาดพลังงานเป็นเรื่องน่ารังเกียจ พรรคเก่าก็เป็นนั่งร้านเผด็จการ
โครงสร้างการเมืองหลังเลือกตั้ง แม้พรรคก้าวไกลจะมีคะแนนมากที่สุด แต่ก็ขาดพรรคเพื่อไทยไม่ได้ นี่ทำให้ปฏิกิริยาจากรุ่นใหญ่ ในตำแหน่งประธานสภา ปรากฏสู่สายตาสาธารณะ ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีระยะเวลากำหนดไว้ ก้าวไกลจึงหวังใช้ตำแหน่งประธานสภาเพื่อต่อลมหายใจ ขณะที่เพื่อไทยหวังใช้กำหนดเกมในสภา
เส้นทางตีบตันของรัฐบาลที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ ทำให้มีการคิดสูตรรัฐบาล ขึ้นมาใหม่ถ้าตำแหน่งนายกฯถูกกำหนดโดยเพื่อไทย บนเงื่อนไขที่ว่า ต้องพาประเทศไปข้างหน้า สูตรรัฐบาลที่มีพลังประชารัฐและภูมิใจไทย ก็ตั้งได้โดยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา เว้นแต่พรรคก้าวไกลจะสละรัฐนาวา ไม่ร่วมสูตรรัฐบาลใหม่ ก็จะเข้าเงื่อนไข ที่สว.วันชัยโพสไว้ว่า มีคนกำลังจะทำให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลับมาชนะทางการเมืองโดยผ่านกลไกวุฒิสภาอีกครั้ง ชนะเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะชนะเกมการเมือง