รับ "ปี2566" รัฐบาล ต้องเลือก 'เขตพื้นที่' หรือ 'ศธจ. ศธภ.'
ถึงเวลาต้องเลือก 'เขตพื้นที่' หรือ 'ศธจ. ศธภ.' หลังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปล่อยให้ปัญหานี้ยืดเยื้อยาวนาน "ปี 2566" ควรมีความชัดเจน เพื่อกระชับพื้นที่ในการบริหารการศึกษา ลดความซ้ำซ้อน ลดความเหลื่อมล้ำ
ฉากทัศน์ปี 2565 การศึกษาไทยเกิดการไล่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ยุบ ศธจ. ศธภ. ตามไปด้วย จากเหตุการณ์ คณะปกป้องศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)100 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นางสาว ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค และ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อไป จากนั้นได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และเดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายตวง อันธะไชย ประธานกรรมาธิการฯ ที่รัฐสภา
ว่ากันว่า นายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี ในฐานะตัวแทนคณะปกป้อง ศธภ.และ ศธจ.อ้างว่า ศธภ. ถือเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากหน่วยกลางลงสู่ภาคและจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำกับติดตามงานอย่างใกล้ชิด ทำให้หน่วยงานในระดับพื้นที่สนองนโยบายต่าง ๆ ได้เร็ว
“ขณะที่ ศธจ.เป็นหน่วยงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการแบบเดิมในส่วนภูมิภาค จากการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งในเชิงการดำเนินงานและการบริหารจัดการ เนื่องจากในจังหวัดหนึ่งมีสถานศึกษาทั้งในและนอกสังกัดศธ.จำนวนมาก รวมถึงประเด็นสำคัญการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาในการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง และโยกย้าย โดยใช้กลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด”นายณัทชัย ระบุ
ย้อนที่มา ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) แต่งตั้งขึ้นโดยคสช. อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตของเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ในขณะนั้น ในอดีตกระทรวงศึกษาธิการ ยุค 14 กรม มี ศธจ.-ศธภ. เหมือนกัน แต่ต่อมานักวิจัยทำการวิจัยตำแหน่ง ศธจ.ศธภ.แล้วเห็นควรให้ยกเลิกเพราะมีประโยชน์ไม่คุ้มค่า จึงได้ยกเลิกไป
ขณะนี้เขตพื้นที่การศึกษาถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นข้ออ้างถึงความจำเป็นต้องมี ศธจ.- ศธภ. อยู่ต่อไปทั้งๆที่ ศธจ.-ศธภ.ขณะนี้ไม่ได้เป็นข้าราชการครูเหมือนก่อนแต่กลายเป็นข้าราชการพลเรือน อยู่ในจำพวกเหนือหัวครูเป็นนายของครู ศธ.ให้ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ บูรณาการศึกษาในจังหวัด
งานบูรณาการศึกษาในระดับจังหวัด ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายชี้นิ้วสั่งการให้ เขตพื้นที่การศึกษากับ โรงเรียนเป็นเจ้าภาพหรือแม่งาน ในทางกลับกันหากไม่มี ศธจ.- ศธภ. เขตพื้นที่การศึกษาก็ทำได้ หรือทำได้ดีกว่า ศธจ.และศธภ.อีกด้วย เพราะเขตพื้นที่การศึกษาเข้าถึงครูกว่า 6.6 แสนคนได้มากกว่า รู้จักเข้าถึงโรงเรียนมากกว่า รู้จักบรรยากาศการจัดการศึกษาดีกว่า และเป็นการประหยัดเงินงบประมาณ ของ ศธจ.และ ศธภ.รวมทั้งบริวารทั้งหลายปีละหลายล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศธจ.- ศธภ. กับ เขตพื้นที่การศึกษา เป็นตำแหน่งซ้ำซ้อนกัน เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินจะต้องเลือกเอาอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เปิดปัญหา งบช้างป่วย
ศธจ. ศธภ. มาจากเผด็จการรัฐประหาร อ้างเพื่อแกัปัญหาการทุจริตของเขตพื้นที่การศึกษาในขณะนั้น แต่เวลานี้ ปี 2566 ไม่มีแล้ว เขตพื้นที่ฯมาจาก พระราชบัญญัติผ่านรัฐสภาตามวิถีทางขั้นตอนของประชาธิปไตย
ถึงเวลาที่ นายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ต้องเลือกเขตพื้นที่ หรือ ศธจ. ศธภ. จะเลือกเอาฝ่ายไหน หรือเอาไว้ทั้งสองอย่างให้มันผลาญงบประมาณแผ่นดินต่อไป