คอลัมนิสต์

ก.ศึกษาธิการ “ปฏิรูปการศึกษา” กี่ครั้งก็ยังไปไม่ถึง “เด็ก-ครู”

ก.ศึกษาธิการ “ปฏิรูปการศึกษา” กี่ครั้งก็ยังไปไม่ถึง “เด็ก-ครู”

19 ม.ค. 2566

ปี2542มีกฏหมายการศึกษาเป็นกฏหมายแม่บท เกิด5 อรหันต์ มีปรับแก้ไขหลายครั้ง ได้ศธจ.-ศธภ. มี ขรก.ซี9 เต็มบ้านเมือง แต่เงินเดือนครู-อาหารกลางวันเด็ก ได้เพิ่มกี่บาท เมื่อ ก.ศึกษาธิการ “ปฏิรูปการศึกษา” กี่ครั้งก็ยังไม่ถึง “เด็ก-ครู”

ร่างพ.ร.บ.การศึกษาการศึกษาแห่งชาติ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ มาร่วม 5 ปี เป็นร่างกฏหมายที่ถูกคัดค้านมากที่สุด ถึงการละเมิดสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่หัวใจของกฏหมายฉบับนี้ รัฐบาลในฐานะผู้เสนอบอกเพื่อ“ปฏิการศึกษา” รองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

ในช่วง 1 สัปดาห์ เวลาที่ผ่านมา สิ่งที่ “น.ส.ตรีนุช เทียนทอง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงหลายครั้ง คือ กรณีของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

โดยตั้งข้อสังเกตใน 4 ประเด็น ดังนี้


1. การจัดการศึกษาโดยผู้ปกครอง (Home School) ในมาตรา 13 ควรให้ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ

 

2.ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ในมาตรา 20 ควรให้สถานศึกษาเฉพาะสังกัด ศธ.เป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของรัฐในแต่ละสังกัด

 

3.การสรรหาและคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ในมาตรา 40 นั้น ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากเคยเป็นครูและรองผู้บริหารสถานศึกษาแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องบริหารการศึกษา และให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้กำหนดแนวทางการสรรหาและพัฒนาผู้บริหาร เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพและไม่ทำให้เกิดภาระแก่คณะกรรมการสถานศึกษาเกินสมควร และ

 

4.ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะ ควรกำหนดให้ชัดเจน ในมาตรา 41 เพื่อมีความชัดเจนว่าบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เคยได้รับเงินวิทยฐานะอยู่แล้วในปัจจุบันยังคงได้เงินวิทยฐานะเช่นเดิม

 

“ส่วนประเด็นที่มีครูแต่งดำ ในวันครู เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ดิฉันคิดว่าครูอาจมีความกังวลกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดจำนวนมากจึงอาจทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความกังวลเกิดขึ้นได้”ตรีนุช ระบุ

 

ส่วนประเด็นการคัดค้านกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาจากปมการเมืองนั้น ตรีนุช ระบุว่า ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น รู้แต่ว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายประเด็น อีกทั้งที่ผ่านมา ก.ศึกษาธิการ ได้มีความเห็นและแจ้งให้มีการทบทวนประเด็นต่างๆ ที่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

 

“ดิฉันอยากเห็นกฎหมายฉบับนี้ มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา”

 

ความเป็นจริง “ปฏิรูปการศึกษา” กี่ครั้งก็ยังไม่ถึงนักเรียนและครู ถกเถียงกันแค่ เรื่อง ตำแหน่ง โครงสร้าง ผลประโยชน์ เมื่อกระทบเขตพื้นที่ หรือศธจ.-ศธภ. ก็ยกพวกมากดดัน  หลังจากนั้นทุกอย่างก็เงียบไป

 

"การปฏิรูปการศึกษา" แต่ละครั้ง เหมือนคนแต่งตัวไม่เสร็จ เขียนคิ้ว แต่งหน้า ทาปาก ยังไม่ทันแต่งตัวใส่เสื้อผ้า ก็ปฏิรูปกันใหม่อีกรอบ ไปไม่สุด หยุดไม่ถูกที่ ในทุกครั้งที่ปฏิรูปการศึกษา มีแต่พูดว่า กระทรวงศึกษาธิการจะได้อะไร ครูและเด็กนักเรียนจะได้อะไรไม่เคยพูดถึง

 

ประถมศึกษาไปทาง มัธยมศึกษา ไปทาง อุดมศึกษาไปทาง พอจบมาก็เป็นอีกทาง  แถมยังมี สถานศึกษาเอกชน กับ โรงเรียนนานาชาติ มาอีก ต่างคนต่างเก่ง ต่างคนต่างดี

 

มันเป็นการศึกษาของคนมีโอกาส มือใครยาวสาวได้สาวเอา ความเท่าเทียมไม่มี คนจนก็ยิ่งโง่ คนรวย คนที่พร้อมเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนา ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่ม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงอยู่

 

ปฏิรูปการศึกษา ได้จริงหรือ เมื่อครูและเด็กไม่ได้ประโยชน์ มีแต่เพิ่มสำนักงาน แต่สร้างโรงเรียนดีๆ ไม่ได้สักโรง ที่สอบแข่งขันกันเข้าเรียนก็เป็นโรงเรียนชื่อดังในอดีต

 

ควร “ปฏิรูปการศึกษา” จากฐานราก เริ่มที่ เด็ก นักเรียน ครู ผู้บริหาร สถานศึกษา ไล่เรียงมาถึงกระกระทรวงศึกษาฯ เน้น“ครู-นักเรียน” ได้ประโยชน์ จึงจะคุ้มค่ากระทรวงที่ได้ชื่อว่ารัฐทุ่มงบประมาณสูงสุด ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอนาคตของชาติ นะขอบอก!