คอลัมนิสต์

กว่า 50 ปี 'ไฟป่า' ในไทยไม่ใช่เพิ่งเกิด ปี 2514 ไฟไหม้กว่า 46 ล้านเอเคอร์

กว่า 50 ปี 'ไฟป่า' ในไทยไม่ใช่เพิ่งเกิด ปี 2514 ไฟไหม้กว่า 46 ล้านเอเคอร์

04 เม.ย. 2566

กว่า 50 ปี 'ไฟป่า' ในประเทศไทยไม่ได้เพิ่งเกิด แต่ถูกเรียกให้เป็นวิถีดั่งเดิม รู้จักชาวแคนาดาคนแรกค้นพบไฟไหม้ป่ากว่า 46 ล้านเอเคอร์ จนมีการก่อตั้ง "โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์"

การเกิด "ไฟป่า" ในประเทศไทย มีมานานตั้งแต่ในอดีตมากกว่า 50 ปี มิได้เพิ่งมีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับความสนใจและมีการแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธุระของการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือชอบเรียกกันว่า “เป็นวิถีชีวิตดั่งเดิม” 

 

 

มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหลายท่านได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยหลายสมัยถึงอันตรายของไฟป่า จนกระทั่งในปี 2514  รัฐบาลประเทศแคนาดา ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไฟป่า ผู้ก่อกำเนิด Fire Danger Rating System ระบบดัชนีไฟ ของประเทศแคนาดา Mr. John Campbell (Cam) Macleod (ภาพที่ 1) เข้ามาศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทย โดยการสำรวจแล้วทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลไทย

หลังจากใช้เวลาศึกษาข้อมูลและตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่มีปัญหาไฟป่าต่าง ๆ แล้วประมวลผลการสำรวจศึกษาจนเป็นรายงานนำเสนอกรมป่าไม้รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 7 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง กันยายน Mr. Cam Macleod ได้ประเมินว่ามีไฟไหม้ในประเทศไทย ในปี 2514 ตามที่ได้ดำเนินการสำรวจอยู่ที่ประมาณ 118.733 ล้านไร่ (46.93 ล้านเอเคอร์) โดยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ให้ข้อเสนอแนะในรายงานการสำรวจสรุปได้ว่า “ไฟป่าในประเทศไทยได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่พื้นที่ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี จึงได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อควบคุมและจัดการไฟป่าโดยเฉพาะ โดยเสนอแนะให้มีการพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับแรก” อย่างไรก็ตามในขณะนั้นกรมป่าไม้ยังไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด 


 

ซ้าย Dr. J. C. and Mrs Helen Macleod กลางและขวา ถ่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไทย,ภาพซ้าย หน.วันชัย ปานาคะพิทักษ์ ภาพขวา MAYJUIN

ต่อมา ช่วงปี  2515-2517 กรมป่าไม้ได้รับการสนับสนุนทุนจากรัฐบาลแคนาดา จึงดำเนินการคัดเลือกและส่ง นายอภินันท์ ปลอดเปลี่ยว (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นข้าราชการของกรมป่าไม้ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการจัดการไฟป่าที่ประเทศแคนาดาในหัวข้อ “A Plan for Improving Forest Fire Management in Thailand” เมื่อจบการศึกษากลับมาประเทศไทย ได้ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการเตรียมการ โดยในปี 2519 กรมป่าไม้ได้จัดตั้ง “งานควบคุมไฟป่าขึ้นในสังกัดกองจัดการป่าไม้” เพื่อปฏิบัติงานต่อเนื่องจากโครงการป้องกันไฟป่า 

 

 

ผอ.อภินันท์ ปลอดเปลี่ยว

 

 

ต่อมาในปี  2523 คณะข้าราชบริพาร โดยมีกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยที่ 93 กรมตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักในการรับสนองพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้มีการป้องกันและควบคุม "ไฟป่า" มิให้เกิดไฟป่าทำลายป่าไม้บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยจัดให้มีการประชุมส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาไฟป่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2523 และวันที่ 20 มี.ค. 2523 ที่ประชุมรับหลักการที่กรมป่าไม้เสนอและให้นำเสนอ “โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์” ต่อสมุหราชองครักษ์และกรมตำรวจ

 

 

กรมป่าไม้ ได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2523 เพื่อหารือการดำเนิน โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์ และได้มีมติร่วมกันให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ และโครงการนี้จะเป็น Pilot Project สำหรับจุดอื่นๆ ที่มีปัญหาไฟป่า 

 

 

การก่อเกิดของหน่วยปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าภายใต้ชื่อ “โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์” ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1932/2523 ลงวันที่ 13 พ.ย. 2523 จึงถือเป็นหน่วยงานแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่และในประเทศไทย และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย..2523 เห็นชอบมาตรการป้องกันไฟป่า 2 ระยะ ระยะเร่งด่วนและระยะยาว ให้มีการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง

 

 

มาปี 2524  พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือกราบเรียน พณท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2524 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กรมป่าไม้และกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นเจ้าของเรื่องเสนอมาตรการที่จะตั้งหน่วยงานป้องกันไฟป่าขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2524  

 

 

จากมติ ครม. ส่งผลให้มีการยกระดับงานควบคุม "ไฟป่า" เป็น ฝ่ายควบคุมไฟป่า สังกัดกองจัดการป่าไม้ โดยแบ่งการบริหารงานของฝ่าย ออกเป็น 4 งาน คือ งานวิชาการและแผน งานป้องกันไฟป่าตามเงื่อนไขสัมปทาน งานศูนย์ควบคุมไฟป่า และงานบริการ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่มีปัญหา และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานภาคสนามขึ้นมาหลายหน่วยงาน

 

ต่อมาในปี 2545 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2545 จัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งงานส่วนหนึ่งออกมาจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้งานควบคุมไฟป่าถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งต่อมาได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดให้งานด้านไฟป่าเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักป้องกันและควบคุมไฟป่า และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดตั้งส่วนวิชาการด้านไฟป่าขึ้นมารับผิดชอบปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ประวัติการจัดตั้งสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์

สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับพักแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อทรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และทรงทอดพระเนตรเห็นไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นประจำทุกปี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการป้องกันมิให้เกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่ เพื่อรักษาสภาพป่าให้คงเดิมหรืออุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 
    

 

-ในปี 2523 คณะข้าราชบริพารอันประกอบด้วยกองอำนวยการรักษาความปลอดภัย 93 กรมตำรวจในขณะนั้น ได้เป็นเจ้าของเรื่องริเริ่มให้มีการจัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ และมอบให้กรมป่าไม้ในขณะนั้น จัดทำโครงการป้องกันไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมรับหลักการตามที่กรมป่าไม้เสนอ และเห็นพ้อง กันว่าควรจัดให้มีโครงการป้องกัน "ไฟป่า" อย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ 


คำสั่งกรมป่าไม้ 1923/2523 วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523  จึงได้จัดตั้ง “โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์” โดยรับผิดชอบการป้องกันไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา โดยมีที่ตั้ง ณ บ้านร่ำเปิง ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานีควบคุมไฟป่าแห่งแรกในประเทศไทย


-ในปี 2525 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ” เพื่อยกระดับงานควบคุมไฟป่า เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง บริเวณด้านบนวัดผาลาด บ้านเชิงดอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทางขึ้นพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ 

 

-ในปี 2534 ได้ทำการการย้ายสถานที่ตั้งโครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์ มาตั้งอยู่บริเวณด้านบนวัดผาลาด บ้านเชิงดอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทางขึ้นพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และย้ายศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ไปตั้งอยู่ที่บ้านร่ำเปิง ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของโครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์ นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

 

 

-ในปี 2545 ตามประกาศพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้ปรับโอนกิจการและภารกิจของหน่วยงานมาสังกัดสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในชื่อ “สถานีควบคุมไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่”

 

 

-ในปี 2548 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอีกครั้ง ในชื่อ “สถานีควบคุมไฟป่าเชียงใหม่” สังกัดส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

-ในปี 2559 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอีกครั้ง ในชื่อ “สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์” จนถึงปัจจุบัน สังกัดส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

 

 

 

บทความโดย: ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ หน่วยวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไฟป่าภูมิภาคอาเซียนตอนบน ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์