"เมตาเวิร์ส" เทคโนโลยีสะเทือนโลกแต่ดูท่าอาจจะไปไม่รอด (ตอน1)
"เมตาเวิร์ส" เทคโนโลยีเสมือนจริงที่ทำเอาโลกสะเทือน ดูท่าจะไปไม่รอด ชั่วเวลาไม่กี่เดือนทุกอย่างดูผิดฝาผิดตัว บริษัทยักษ์ใหญ่ปลดพนักงาน
ปลายเดือนมี.ค. 2566 ที่ผ่านมา The Wall Street Journal รายงานข่าวเรื่องแผนการปลดพนักงานราว 7,000 ตำแหน่งของบริษัท Disney ซึ่งวางแผนกันว่าจะทยอยปลดพนักงานเป็น 3 รอบ โดยในรอบที่หนึ่งจะมีการปลดพนักงานระดับหัวกะทิซึ่งอยู่ในทีมพัฒนา "เมตาเวิร์ส" (Metaverse) จำนวน 50 คนออกด้วย ทั้งๆ ที่ Disney เองเพิ่งแสดงความทะเยอทะยานเกี่ยวกับธุรกิจที่จะอาศัยเทคโนโลยีเมตาเวิร์สไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา (4 เดือน ภายหลังจากที่ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ในเดือนตุลาคม 2564)
ในขณะที่ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา Facebook หรือ Meta เองก็ประกาศปลดพนักงานของตัวเองลงถึง 13% หรือราวๆ 11,000 ตำแหน่ง ว่ากันว่านอกเหนือไปจากเรื่องพิษเศรษฐกิจแล้วปัญหาส่วนหนึ่งของ Facebook ก็อาจจะมาจากวิสัยทัศน์เรื่อง "เมตาเวิร์ส" ของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Facebook ด้วย อย่างไรก็ดีแม้จะต้องลดพนักงานลง แต่ Facebook ก็ประกาศว่าจะยังคงมุ่งเน้นการวิจัยที่สนับสนุนธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ และโครงการระยะยาวของบริษัทซึ่งก็คือ "เมตาเวิร์ส" ต่อไป
"เมตาเวิร์ส" คืออะไร? เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ทำไมเทคโนโลยีที่น่าตื่นตะลึงจนสั่นสะเทือนไปทั้งโลกถึงดูเหมือนจะไปไม่รอด เกิดอะไรขึ้นกับ "เมตาเวิร์ส" จนทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Facebook Apple Google หรือแม้แต่ Disney ต้องทยอยลดการจ้างงานจนถึงขั้นปลดออก ยุบแผนก
"เมตาเวิร์ส" คืออะไร ?
"เมตาเวิร์ส" (Metaverse) มีรากศัพท์มาจากคำภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ คำว่า "Meta" ซึ่งหมายถึง "เกิน" "ท่ามกลาง" "หนือ" เป็นคำคุณศัพท์ที่ขยายความคำนามหลักในลักษณะที่หมายถึง "ก้าวหน้า" หรือ "ซับซ้อนไปกว่า" เมื่อมาผสมกับคำว่า "Universe" อันหมายถึง "จักรวาล" หรือ "อาณาจักร" ก็จะหมายถึง "สิ่งที่อยู่เหนือ หรือเกินไปจากจักรวาลปกติ" ในภาษาไทยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ได้มีมติให้บัญญัติว่า "จักรวาลนฤมิต" ซึ่งก็คงแปลว่า "จักรวาลที่ถูกสร้างขึ้น หรือจักรวาลที่ถูกแปลงขึ้น" ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกว่าน่าจะเหมาะสมดี แต่การเรียก "เมตาเวิร์ส" ว่า "จักรวาลนฤมิต" ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังไม่แน่ใจในความหมายต้นทาง ในทีนี้ก็จะขอใช้คำทับศัพท์ว่า "เมตาเวิร์ส" ต่อไป "เมตาเวิร์ส" เป็นแผนการใหญ่ของ Facebook ที่ต้องการผนวกเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ากับธุรกิจโซเชียลมีเดีย ซึ่งทุกวันนี้แทบจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ไปเสียแล้ว
Facebook ใช้ "เมตาเวิร์ส" ในความหมายว่าเป็นจักรวาลสมมติที่ถูกสร้างขึ้นมาในโลกดิจิทัล เป็นดินแดนเสมือนจริงที่สร้างขึ้นโดยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจสามารถสร้างวัตถุเสมือนจริงให้มีพฤติกรรมตามกฎธรรมชาติเฉกเช่นวัตถุ สิ่งของ หรือสิ่งมีชีวิตในโลกจริง เช่น เราอาจสร้างแมวเสมือนจริงขึ้นในแบบจำลอง มีพฤติกรรมแบบแมวๆ เดินไป เดินมา ใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริงที่เราสร้างขึ้น หากสามารถพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ใส่เข้าไปอีกก็อาจสามารถสร้างแมวที่เรียนรู้ความเป็นแมว มีชีวิตแบบอิสระ (autonomous)
หากเราสามารถมองเห็นหรือสัมผัสเจ้าแมวที่ว่าในโลกเสมือนจริงก็อาจจะเชื่อว่ามันเป็นแมวที่มีอยู่จริงๆ กลไกสำคัญในการจะทำให้มนุษย์ในโลกจริงสามารถสัมผัส สื่อสารกับสิ่งต่างๆ ในโลกเสมือนจริงได้จึงจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เชื่อมโยงการรับรู้ของมนุษย์ (ตาดู หูฟัง กายสัมผัส ลิ้นรับรู้รส จมูกได้กลิ่น) เข้ากับโลกเสมือนจริงและช่วยให้มนุษย์สามารถใช้การสื่อสารแบบเป็นธรรมชาติกับระบบเสมือนจริง แม้แต่ตัวตนของผู้ใช้งานเองในที่สุดก็จะสื่อสารกับโลกเสมือนจริงผ่าน "ร่างอวตาร" (Avatar) คล้ายๆ กับที่เราเห็นในภาพยนตร์แอนิเมชั่นสุดล้ำของฮอลลีวูดอย่าง "Avatar" เลยทีเดียว สุดขอบวิทยาการของเรื่องนี้ก็จะต้องทำให้มนุษย์แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นของจริง อะไรเป็นสิ่งเสมือนจริง ซึ่งแม้วิทยาการในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากแต่ก็ยังคงมีข้อจำกัด ทั้งในด้านเทคนิคและราคาที่ต้องจ่าย
เทคโนโลยีเสมือนจริงเหล่านี้ยิ่งหากมาประกอบร่างเข้ากับ "ระบบดิจิทัลคู่ขนาน" (Digital Twin) ที่สร้างโลกเสมือนจริงของวัตถุจริง เช่น อาคารที่พักอาศัย โรงงาน โรงไฟฟ้า โรงพยายาล ฯลฯ ก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบควบคุมซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการควบคุมสิ่งต่างๆ เหล่านั้นในโลกจริงโดยใช้ "การติดต่อสื่อสาร" ผ่านระบบเสมือนจริงได้
(ลองจินตนาการว่าคุณสวมอุปกรณ์ครอบศีรษะมองเห็นโลกเสมือนจริง สามารถใช้มือทั้งสองข้างควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ในโลกเสมือนจริง แล้วเครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านั้นในโลกจริงก็ทำงานตามที่คุณต้องการควบคู่ไปด้วย หรือแม้แต่ใช้กับการแพทย์ สร้างระบบผ่าตัดระยะไกล คุณหมอที่อยู่กรุงเทพฯ สามารถผ่าตัดคนไข้อาการสาหัสที่นอนอยู่ที่เชียงใหม่ผ่านระบบดิจิทัลคู่ขนาน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เจ๋งไปเลยใช่ไหม)
ในมุมของ Facebook "เมตาเวิร์ส" เป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของการใช้โซเชียลมีเดียอันเป็นผลพวงจากพัฒนาการของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ทำให้การเชื่อมต่อ "โลกดิจิทัล" (ซึ่งอาจมองได้ว่ามีหลายมิติการใช้งาน) เกิดขึ้นได้อย่างไร้รอยต่อ โดย Facebook บอกว่าจะเป็นการเชื่อมโยงการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำงาน การเล่น การเรียนรู้ และการค้าเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะในรูปแบบโลกเสมือนจริงสามมิติ (3D virtual world) พูดง่ายๆ คือ จากที่เดิมพวกเราใช้ Facebook ผ่านหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ ในอนาคตเราอาจจะสวมหน้ากากครอบศีรษะ (เพื่อให้มองเห็นโลกเสมือนจริง) ใช้มือทั้งสองข้างทำนู่นทำนี่ในโลกเสมือนจริงได้
ในปัจจุบัน "เทคโนโลยีสภาพแวดล้อมเสมือนจริง" (virtual environments, VE) ถูกพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เทคโนโลยี VR (virtual reality) และเทคโนโลยี AR (augmented reality) บางคนก็เรียกมันสั้นๆ ว่า "VR/AR" เทคโนโลยีทั้งสองแบบนี้ มีแนวคิดแตกต่างกันเล็กน้อย จะเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับ VR ก่อน
"virtual" แปลว่า "เสมือน" เมื่อมาผนวกกับ "reality" ซึ่งแปลว่า "จริง" ก็แปลตรงๆ ตัวว่า "เสมือนจริง" ซึ่งใช้ในความหมาย "รู้สึกเสมือนจริง" เนื่องจากเป็นการใช้เทคนิคทางวิศวกรรมทำการจำลอง "การรับรู้ของมนุษย์" ซึ่งก็คือ "ประสาทสัมผัสทั้ง 5" คือ ตาดู หูฟัง กายสัมผัส ลิ้นรับรู้รส และจมูกได้กลิ่น ให้ผู้ใช้งาน "รู้สึกเชื่อ" ว่าสิ่งที่ถูกระบบคอมพิวเตอร์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น การสร้างการมองเห็นภาพเป็นสามมิติด้วยการแยกภาพสำหรับการมองเห็นด้วยดวงตาข้างซ้าย และดวงตาข้างขวาออกจากกัน กล่าวคือ จากความรู้ว่ามนุษย์มองเห็นภาพเป็นสามมิติ (มีความลึก) ได้เพราะเรามีดวงตาสองดวง (ซึ่งเห็นภาพคนละภาพ ต่างองศากันเล็กน้อย) เรียกว่าเป็นการมองเห็นภาพแบบ "สเตอริโอสโคปิก (Stereoscopic)" สมองของเรานำภาพจากดวงตาสองดวงนี้ไปประมวลผลจนทำให้เกิดความรู้สึกเป็นภาพสามมิติ ด้วยความเข้าใจนี้
นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จึงใช้เทคนิคต่างๆ กันในการจำลองภาพเพื่อหลอกให้ดวงตาข้างซ้ายและดวงตาข้างขวาเห็นภาพที่แตกต่างกัน เช่น การใช้แว่นตาที่มีกระจกสองข้างต่างสีกัน เป็นสีเขียวและแดง มองภาพที่ถูกพิมพ์บนกระดาษหรือฉายบนจอเป็นสองสีพร้อมกัน ดวงตาข้างที่มองผ่านกระจกสีแดงจะมองไม่เห็นภาพสีแดง ในขณะที่ดวงตาที่มองผ่านกระจกสีเขียวก็จะมองไม่เห็นภาพที่ถูกพิมพ์เป็นสีเขียว เป็นต้น หรือถ้าเป็นในโรงภาพยนตร์สามมิติอย่าง IMAX ก็อาจจะใช้เทคนิค “โพลาไรซ์ของแสง” ผ่านชิ้นกระจกที่เป็นฟิลเตอร์กรองแสง (polarised glasses) ให้ดวงตาทั้งสองข้างเห็นแสงที่สร้างขึ้นจากคนละแกน (มีคำอธิบายในวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนมัธยมปลาย) สำหรับการประยุกต์ใช้ในโทรศัพท์มือถือ ก็จะมีการสร้างภาพเป็น 2 ภาพสำหรับตาข้างซ้ายและข้างขวาบนโทรศัพท์และมีการทำชุดหน้ากากสวมศีรษะ (head-mounted display) โดยมีการออกแบบให้ชุดหน้ากากที่ว่าทำให้ดวงตาข้างซ้ายและขวามองเห็นภาพที่ต่างกัน สำหรับประสาทสัมผัสส่วนอื่นก็อาจมีการสร้างเป็นระบบเสียงสามมิติ ระบบจำลองการสัมผัสผ่านถุงมือไซเบอร์ (cyber glove) หรืออุปกรณ์ที่สามารถสร้างแรงตอบสนอง (force feedback) ให้รู้สึกเหมือนได้จับหรือสัมผัสวัตถุที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงได้ เป็นต้น
ในขณะที่เทคโนโลยี AR ก็อาจจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือ เป็นการสร้างภาพวัตถุเสมือนจริง (virtual objects) ซึ่งไม่มีตัวตน ซ้อนทับลงไปบนโลกจริง (real world หรือ physical world) แต่มนุษย์เรามองไม่เห็นวัตถุเสมือนจริงพวกนี้โดยตรง ก็ต้องอาศัยการมองดูบนจอที่มีการซ้อนภาพวัตถุเสมือนจริงลงไปบนภาพสถานที่จริง ซึ่งแน่นอนว่าเราก็อาจจะต้องมองดูภาพ AR ผ่านหน้ากากสวมศีรษะเช่นเดียวกัน (แบบเดียวกับที่เราอาจจะคุ้นเคย อย่างเกม Pokemon Go เป็นต้น) อธิบายแบบสั้นๆ VR คือ เทคนิคการทำให้ผู้ใช้งานในโลกจริงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง ในขณะที่ AR เป็นเทคนิคในการทำให้วัตถุเสมือนจริงเข้ามาซ้อนทับอยู่ในโลกจริง (ลองอ่านดูช้าๆ ครับ)
ก็ดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีที่สุดล้ำ น่าสนใจดี แล้วทำไมเพียงชั่วเวลาแค่ไม่กี่เดือนทุกอย่างก็ดูผิดฝาผิดตัวไปจนบริษัทยักษ์ใหญ่แต่ละรายต้องเริ่มทยอยปลดคนงาน ยุบแผนกกัน? เราจะมาคุยเรื่องนี้กันในตอนต่อไปครับ
บทความโดย: รศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย