บทเรียน 'ไฟป่า' แตกเกิดกองเพลิงมากมาย ฝนไม่ช่วย ชาวเมืองรับผลกระทบจากควัน
จุดเริ่มต้นวัน 'ไฟป่า' แตก พื้นที่ อุทยานแห่งชาติ เกิดกองเพลิงจำนวนมาก พายุฤดูร้อนไม่ช่วยบรรเทา ผู้เชี่ยวชาญถอดบทเรียน ปี 66 เกิดพร้อมกันเจ้าหน้าคุมยาก ชาวเมืองจำต้องเผชิญหมอกควัน
หลายคนคงจำได้ว่าปี 2565 นั้นเป็นปีที่เรามี "ไฟป่า" น้อยมาก ราชการประกาศความสำเร็จในการลดจุดความร้อนลงจากปีก่อนหน้าถึง 50% ถือเป็นความสำเร็จด้านนโยบายอย่างงดงาม และในปี 2566 นั้นเราก็เริ่มฤดู "ไฟป่า" ด้วยความหวังว่าคนไทยจะมีความเข้าใจในความจำเป็นของการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสิ่งแวดล้อมไว้เพื่อสุขภาพของคนไทยด้วยกันเอง พร้อมกับใช้ป่าเป็นกันชนต่อสภาพเอลนิโญที่เริ่มจะคืบคลานเข้ามา
ปกติแล้วความแห้งแล้งของป่านั้นจะเริ่มจากภาคเหนือตอนล่างแล้วค่อยๆลามไปตอนบน ทันทีที่ลมเริ่มเปลี่ยนทิศจากลมตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นลมใต้ที่ร้อนแห้งนั้นฤดูไฟป่าก็จะเริ่มขึ้น
ในช่วงแรกของปี 2566 นั้น "ไฟป่า" ในภาคเหนือเริ่มจาก อุทยานแห่งชาติออบหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ในช่วงต้นเดือนก.พ. และจบลงด้วยฝนจาก พายุฤดูร้อน ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ในวันที่ 13 ก.พ. มาช่วยดับไฟไป แต่กระนั้นฝนไม่ได้ตกทั่วฟ้า เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นในพื้นที่ อุทยานแห่งชาตแม่ปิง อ.ลี้ จ.ลำพูน ก็เกิดไฟป่าตามมา เป็นที่ทราบกันว่าไฟป่าในอุทยานฯ แห่งนี้ถือเป็นไฟแปลงใหญ่ในพื้นที่ซ้ำซากแทบจะที่สุดของประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตถึงพฤติกรรมไฟว่าเมื่อเกิด "ไฟป่า" ในพื้นที่แล้วนั้นเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่เชื้อเชิญให้ชาวบ้านที่นิยมการเผาแต่เคยแอบอยู่ออกมาเผาตามน้ำไปด้วยกัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการหามือใครดมได้ยาก ราชการจะไม่สามารถจับผู้เผาป่าได้โดยง่าย เมื่อเกิดไฟใหญ่ก็จะพบว่ามีการเพิ่มของจุดความร้อนใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมายในวันถัดมา ไฟป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงนั้นลุกไหม้จนถึง
อาทิตย์แรกของเดือนมี.ค. เป็นเวลาราว 3 อาทิตย์ รวมพื้นที่เผาไหม้ราว 100,000+ ไร่ สร้างฝุ่นหมอกควันไปถึง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อย่างชัดเจนในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. เรามี พายุฤดูร้อน เข้ามารอบที่สอง ช่วยดับไฟทั้งหมดในภาคเหนือไปพร้อมกับจับฝุ่นบางส่วนลงมาจากฟ้าทำให้สภาพอากาศในภาคเหนือกลับมาสดใสกันอีกครั้ง ในช่วงนั้นเราต่างมีความหวังว่าไฟป่าในปีนี้จะไม่รุนแรง และจะเป็นอีกปีหนึ่งที่เราประสบความสำเร็จคล้ายกับปี 2565
เมื่อฝนรอบที่สองผ่านไป "ไฟป่า" ก็เกิดตามมาในอุทยานแห่งชาติสาละวิน หลังวันที่ 17 มี.ค. คล้ายคลึงกับ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง "ไฟป่า" ในอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นไฟป่าแปลงใหญ่ที่ซ้ำซากที่สุดของประเทศ แต่เนื่องจากเป็นอุทยานที่ห่างไกลเราได้แต่เฝ้าจับตาดูข่าวจากกรมอุทยานฯและติดตามจุดความร้อนที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานี้เริ่มมีกระแสลมตะวันตกพัดเข้าสู่ภาคเหนือทำให้เกิดมลพิษทางอากาศไปทั่วภาคเหนือ แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่สร้างผลกระทบรุนแรงมากมาย
วันไฟป่าแตกจริงของภาคเหนือตอนบนนั้นเกิดวันที่ 23 มี.ค. ชาวบ้านนิยมเผาเข้าเผาป่าพร้อมๆ กันใน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.พะเยา และ จ.น่าน นับรวมกันได้ประมาณ 70 กอง โดย จ.เชียงรายมีการจุดเผามากสุดถึงประมาณ 20 กอง และในวันรุ่งขึ้นก็มีการจุดเผาใหม่ตามมาอีกราว 150 กอง ด้วยจำนวนไฟมากมายกว่า 200+ กองภายใน 2 วันเช่นนี้ไม่มีทางที่กรมอุทยานฯ จะสามารถควบคุมไฟทั้งหมดได้ เพราะการควบคุมไฟป่านั้นเป็นงานที่เหนื่อยยากลำบากและต้องการกำลังพล เครื่องมือ เครื่องจักร งบประมาณ มากมายพร้อมๆกัน
แน่นอนว่าการจุดไฟป่าในพื้นที่สูงชันด้านตะวันตกในบริเวณรอยต่อกับ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย นั้นส่งผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศต่อชาวเมืองนับล้านๆ คนอย่างรุนแรงทันที
ทันทีที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าจะมี พายุฤดูร้อน รอบที่ 3 ในวันที่ 8-9 เม.ย. นั้น ยิ่งเร่งให้ชาวบ้านนิยมเผาออกไปจุดไฟใหม่กันเพิ่มขึ้นอีก โดยชาวบ้านอาจจะไม่ทันฟังให้เข้าใจว่าฝนนั้นจะอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ถึงวันนี้แม้ว่าจะผ่านมากว่า 2 อาทิตย์แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววของพายุฝนฤดูร้อนรอบ 3 ในภาคเหนือตอนบน และมองพยากรณ์ฝนไปข้างหน้าตลอด 10 วันก็ยังไม่มีหวังที่จะมีฝนมาช่วยดับไฟ ภาคเหนือตอนบนในปีนี้คงต้องฉลองสงกรานต์ท่ามกลางฝุ่นควันกับฟ้าหลัว 2วันนี้เริ่มเห็นจำนวนจุดความร้อนใหม่ในแต่ละวันลดลงแล้ว คงเหลือแต่ไฟที่ยังลุกลามอยู่นับร้อยๆ กอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนบนของ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ บริเวณตะวันออกของ จ.น่าน
- บทเรียนจากวัน "ไฟป่า" แตก 2566 นี้คือ
- ไฟป่าจะเกิดขึ้นเป็นยกๆ หลังจากมี พายุฤดูร้อน ผ่านไป
- เมื่อเกิดไฟป่าแล้ว จะมีการเผาตามในวันรุ่งขึ้นอีกมาก ลุกลามใหญ่โต
- การบุกเผาพร้อมๆกันแบบนี้ ไม่มีทางที่กรมอุทยานฯจะควบคุมไฟป่าได้
- การเผาป่าติดเมืองใหญ่ ย่อมทำให้ชาวเมืองนับล้านต้องรับมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ฝนแทบจะเป็นตัวช่วยหลักเดียวที่เราพึ่งพิงในการกำจัดไฟป่า ถ้าฝนมาช้าเราก็ต้องจำใจอยู่กับฝุ่น แม้ว่ากรมอุทยานฯ จะทุ่มกำลังทั้งหมดในการควบคุมไฟแต่ก็ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
บทความโดย: ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล