คอลัมนิสต์

ปีนี้ 'ภัยแล้ง' ไม่น่าห่วง ปริมาณน้ำ ใช้มากเพียงพอ ปีหน้าลุ้นกันใหม่

ปีนี้ 'ภัยแล้ง' ไม่น่าห่วง ปริมาณน้ำ ใช้มากเพียงพอ ปีหน้าลุ้นกันใหม่

21 เม.ย. 2566

สถานการณ์ 'ภัยแล้ง' ในปีนี้ไม่น่าเป็นกังวลนัก ข้อมูลน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีประมาณ 35,862 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปริมาณน้ำต้นทุนปี 2564 ประมาณ 5,545 ล้าน ลบ.ม. ใช้การทั้งประเทศ ไม่น่ากังวลเรื่องปัญหา ภัยแล้ง เพราะมีปริมาณน้ำใช้ เพียงพอ

หน้าร้อน ปีนี้ดัชนีความร้อนทะลุ 50°C ในขณะที่อุณหภูมิจริงแตะ 40°C แต่เชื่อว่าปลายเดือน เม.ย.จะหนาวเยือกเลยทีเดียวเมื่อเห็นบิลค่าไฟ! 

 

 

อากาศที่ร้อนเกินทนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้คึกคักอย่างมาก ไม่นับว่าเราอั้นการเล่นน้ำในสถานการณ์โควิดที่ต้องอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ มา 2-3 ปี ประเพณีสงกรานต์นอกจากจะเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยแล้ว ยังเป็นกิจกรรมคลายร้อนที่ไม่ว่า สถานการณ์น้ำ จะเป็นอย่างไร น้ำในอ่างจะมากหรือน้อย คนไทยก็ต้องได้เล่นน้ำ! 

 

 

ปีนี้เมื่อพิจารณาดูตัวเลขน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำ บอกได้ว่า "ฤดูแล้ง" ปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเรามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างมาก และมากกว่าน้ำในหน้าแล้งปีที่แล้ว ซึ่งเราก็ผ่านมาได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวางใจได้ เมื่อมีนักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหลายท่านเตือนถึงสถานการณ์น้ำขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นได้ในปีหน้า หากฝนฟ้าปีนี้ไม่เป็นใจ 

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐว่า เขาคิดกันยังไง และที่ผ่านมาเขาทำอะไรกันบ้าง หน่วยงานด้านน้ำที่เรามักจะนึกถึงเป็นหน่วยงานแรกๆ คือ กรมชลประทาน ด้วยเพราะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลางส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ตามพันธกิจการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร 

 

 

ยกเว้นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งการบริหารจัดการน้ำอยู่ภายใต้คณะกรรมการอันมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เรามีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายด้านน้ำของประเทศและกำกับหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั้งหมดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

 

ปริมาณฝน

 

 

 

โดยในแต่ละปีจะมีการวางแผนการจัดสรรน้ำในหน้าแล้ง เพื่อรับมือ "ภัยแล้ง" ให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุนที่มี โดยพิจารณาปริมาณน้ำที่มีในแหล่งน้ำต่างๆ ณ วันที่ 1 พ.ย. เป็น น้ำต้นทุน ที่หน่วยงานจะต้องบริหารจัดการให้เพียงพอสำหรับทุกวัตถุประสงค์การใช้น้ำไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. ในปีถัดไป อันได้แก่ น้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อผลิตน้ำประปา น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และยังต้องสำรองน้ำเผื่อเหลือเผื่อขาดไปถึงสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่อาจเกิดขึ้นได้ช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค.ด้วย 

 

 

จากตัวเลขน้ำต้นทุนที่มี กรมชลประทาน รับผิดชอบจะประเมินพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 (นาปรัง) ในแต่ละลุ่มน้ำ ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน แจ้งไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าวรอบ 2 ซึ่งมีการประเมินว่าใช้น้ำราวๆ 1,200 – 1,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อไร่เลยทีเดียว 

 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรณรงค์ของรัฐให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เห็นได้จากตัวเลขการปลูกข้าวนาปรังเกินแผนมาตลอดทุกปี อาจด้วยปัจจัยที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีความคุ้นชินต่อการปลูกข้าวมากกว่าจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ซึ่งมีความไม่แน่นอนในแง่ของราคาและตลาด รวมทั้งข้อจำกัดเรื่องความเหมาะสมของดิน น้ำ และสภาพภูมิประเทศด้วย 

 

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

 

ทั้งนี้ ในปี 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้ประกาศ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

 

 

  • ด้านที่ 1 น้ำต้นทุน (Supply) ได้แก่ มาตรการ 1. เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท 2. เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องมือเครื่องจักร 3. ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตร และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

 

  • ด้านที่ 2 ความต้องการใช้น้ำ (Demand) ได้แก่ มาตรการ 4. กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 5. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร 6. เตรียมน้ำสำรอง สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง 7. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง และเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหา และแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง

 

  • ด้านที่ 3 การบริหารจัดการ (Management) ได้แก่มาตรการ 8. เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ให้มีน้ำเพียงพอ สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตลอดฤดูแล้ง 9. สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ สถานการณ์และแผนการบริหารจัดการน้ำ และ 10. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน และรายงานผลการให้ความช่วยเหลือ

 

ทั้ง 10 มาตรการดังกล่าวนี้มี 2 มาตรการที่เพิ่มเติมมาจากปี 2564/2565 คือ มาตรการที่ 5 และมาตรการที่ 8 ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เป็นมาตรการที่ผู้ปฏิบัติสำคัญคือ เกษตรกร ผู้ใช้น้ำ ประชาชน มีความแตกต่างจากอีก 8 มาตรการที่เหลืออันเป็นมาตรการเดิม ซึ่งผู้มีหน้าที่ปฏิบัติหลักคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องทรัพยากรน้ำมากกว่าที่ผ่านมา 

 

มาตรการจัดการน้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการนำมาตรการที่อยู่ในข้อสั่งการไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผล สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำกับด้านน้ำของประเทศจึงต้องมีแผนงาน ขั้นตอนการขับเคลื่อน ตัวเลขเป้าหมายที่ประเมินผลได้ที่ชัดเจน รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนสำหรับชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ องค์กรปกครองท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาด้านน้ำในชุมชนและพื้นที่ของตัวเองได้อย่างจริงจัง 

 

 

ดังที่เกริ่นมาข้างต้นว่า สถานการณ์น้ำ ในปีนี้ไม่น่าเป็นกังวลนัก เห็นได้จากข้อมูลน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางจากกรมชลประทาน ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 มีประมาณ 35,862 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีเมื่อปี 2564 ประมาณ 5,545 ล้าน ลบ.ม. เมื่อพิจารณารายลุ่มน้ำ มีรายละเอียดบางส่วน ดังนี้

  • ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาตรน้ำใช้การได้จาก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันประมาณ 14,074 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมาประมาณ 6,380 ล้าน ลบ. ม. 

 

  • ลุ่มน้ำภาคตะวันตก มีปริมาตรน้ำใช้การได้จากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ รวมกันประมาณ 8,964 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ประมาณ 1,349 ล้าน ลบ.ม.

 

  • ลุ่มน้ำภาคเหนือ มีปริมาตรน้ำใช้การได้จากเขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่มอก  เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา รวมกันประมาณ 842 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมาประมาณ 383 ล้าน ลบ. ม. 

 

  • ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาตรน้ำใช้การได้จากเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง รวมกันประมาณ 6,593 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 ประมาณ 788 ล้าน ลบ.ม. 

 

  • ลุ่มน้ำภาคตะวันออก มีปริมาตรน้ำใช้การได้จากเขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนบางพระ เขื่อนประแสร์ เขื่อนคลองสียัด รวมกันประมาณ 1,381 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ประมาณ 97 ล้าน ลบ.ม. 

 

  • ลุ่มน้ำภาคใต้ มีปริมาตรน้ำใช้การได้จากเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง รวมกันประมาณ 3,603 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. 

 

  • แม้ลุ่มน้ำภาคใต้จะมีน้ำใช้การในอ่างน้อยกว่าปี 2564 แต่ไม่มีปัญหาน้ำขาดแคลนในภาพรวม เนื่องจากน้ำท่าในพื้นที่มีมากกว่าปริมาตรอ่างที่จะเก็บกักน้ำได้ จึงมีน้ำส่วนเกินที่เหลือเพียงพอสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ เพียงแต่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ต้องมีวิธีการเก็บกักน้ำไว้ในหน้าแล้ง เช่น การเก็บน้ำในบ่อสระในไร่นา-ในชุมชน การเก็บน้ำในตุ่มในโอ่ง เป็นต้น 

 

ปริมาณน้ำในเขื่อน

นั่นหมายถึงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยไม่หวังพึ่งการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว รวมทั้งหน่วยงานผลิตน้ำประปาท้องถิ่นควรมีแหล่งเก็บกักน้ำสำรองของตนเองอีกแหล่งหนึ่ง ไม่หวังพึ่งแต่น้ำที่กรมชลประทานจัดสรรปล่อยระบายมาให้ หรือน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ ในอนาคตควรมีการก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-ขนาดกลาง-ขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มประสิทธิผลการใช้น้ำให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

นับถึงขณะนี้แม้ว่าเดือน เม.ย. กำลังจะผ่านพ้นไป  "ภัยแล้ง" และปัญหาขาดแคลนแลดูจะไม่เกินรับมือ แต่อย่าลืมว่า เราไม่ได้มีชีวิตอยู่แค่เพื่อวันนี้ เดือนนี้ หรือปีนี้ แต่เรายังมีแล้งหน้าให้ต้องบริหารจัดการน้ำกันอีก นักวิชาการด้านภูมิอากาศหลายท่านออกมาเตือนถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในช่วงปลายปี แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยายังไม่ได้ยืนยันแนวโน้มการลดลงของปริมาณฝนในหน้าฝนปีนี้ 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลฝนสะสมของปีนี้จากกรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงปัจจุบัน ทั้งในภาพรวมทั้งประเทศและในรายภาคพบว่า ฝนสะสมของปีนี้มีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในเกือบทุกภาคของประเทศ (ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก) เมื่อพิจารณาข้อมูลน้ำเก็บกักในอ่างขนาดใหญ่ขนาดกลางจากกรมชลประทาน ณ วันที่ 19 เม.ย. 2566 พบว่า น้ำเก็บกักในหลายเขื่อนน้อยกว่าวันที่ 19 เม.ย. 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนในภาคอีสาน อาทิ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ พื้นที่ภาคตะวันตกและพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างปราณีต

 

ปริมาณฝน

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตต่อน้ำเก็บกักใน เขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้มีน้ำเก็บกักประมาณ 8,611 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% มากกว่าน้ำเก็บกักในปี 2565 ซึ่งมี 45% และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำเก็บกักประมาณ 4,693 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% มากกว่าน้ำเก็บกักในปี 2565 ซึ่งมี 40% แม้จะดูเหมือนว่ายังมีพื้นที่ว่างในอ่างเพื่อเก็บน้ำฝนอีกพอสมควร แต่หากเกิดกรณีมีพายุหมุนพัดผ่านหลายลูก หรือภาวะฝนตกมากผิดปกติในช่วงเวลาสั้นๆ (หมายถึง มีความเข้มฝนมากกว่าปกติ) ในพื้นที่เหนือเขื่อน อาจมีความยากลำบากในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งเสถียรภาพความปลอดภัยเขื่อน การป้องกันบรรเทาน้ำท่วม และการเก็บน้ำในอ่างเพื่อใช้ในหน้าแล้งต่อไปให้เพียงพอ 

 

 

แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สทนช. กรมชลประทาน กฟผ. ได้ปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบันอันได้รับผลกระทบบางส่วนจากความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็ตาม แต่ความรอบคอบ ความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุล ลดการเกิดภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม น้ำขาดแคลน น้ำเค็มรุกล้ำจนมีผลต่อการใช้น้ำให้น้อยที่สุด

 

ในฐานะประชาชน ผู้ใช้น้ำอย่างเราท่าน แม้จะเปิดก๊อกน้ำครั้งใดก็มีน้ำไหลออกมาให้ใช้ไม่ขาดแคลน และดูเหมือนว่าวัฏจักรของน้ำ ตั้งแต่การตกเป็นฝน การซึมลงดิน การไหลลงทะเล แล้วระเหยกลับขึ้นไป และตกลงมาเป็นฝนอีกครั้งนั้นจะไม่มีวันสิ้นสุด แต่พึงระลึกเสมอว่า ณ ที่ใดที่หนึ่งที่มีน้ำมาก ยังมีที่ใดที่หนึ่งที่น้ำไม่เพียงพอ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ น้ำที่สะอาดและมีคุณภาพดีพอสำหรับการดื่ม-กิน การผลิต การอุตสาหกรรม เป็นน้ำที่มีต้นทุน และมีวันหมดไป เราจึงควรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าตั้งแต่วินาทีนี้


 

บทความโดย :  

ผศ.ดร.สิตางค์  พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาาสตร์