คอลัมนิสต์

รัฐบาลสอบตก 'การบริหารจัดการน้ำ' เสี่ยง 'ภัยแล้ง' ขายฝันแก้วิกฤตน้ำ

รัฐบาลสอบตก 'การบริหารจัดการน้ำ' เสี่ยง 'ภัยแล้ง' ขายฝันแก้วิกฤตน้ำ

28 มิ.ย. 2566

นโยบาย 'การบริหารจัดการน้ำ' ของรัฐบาลปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา 'ภัยแล้ง' และค่อนข้างล้มเหลวหลายอย่าง เนื่องจากหลายปัญหายังไม่ถูกสะสางให้สมกับคำใหญ่ที่ขายฝัน เมื่อปี 2557 ที่บอกว่าจะ ‘ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ’ ประเทศไทยจึงมีความเสียง 'วิกฤตน้ำ'

 

(ตอนที่ 1)

'การบริหารจัดการน้ำ' ของประเทศไม่ได้รับยกเครื่องเพื่อนำไปสู่การ 'ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ' ทำให้ไทยมีความเสี่ยงเผชิญ 'วิกฤตภัยแล้ง' จากปริมาณฝนที่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นผลพวงจากปรากฎการณ์ 'เอลนีโญ่' ที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีนี้ ยาวไปถึงปีหน้า และมีโอกาสที่จะเกิด 'ภัยแล้ง' ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 

 

 

การเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นำมาซึ่งความหวังของผู้คนจำนวนมากในยุคนั้นว่าเราจะได้เห็น ‘การปฏิรูป’ เพื่อสะสาง แก้ไข ยกเครื่อง ปมปัญหาที่หมักหมม สะสม ซับซ้อน และแก้ยากด้วยวิถีระบบราชการแบบเดิมๆ โดย 'การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ' เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่รัฐบาลภายใต้ คสช. หยิบยกขึ้นมาดำเนินการอย่างแข็งขันในช่วงแรกๆ เพื่อรับมือปัญหา 'ภัยแล้ง'

 

 

 

เริ่มตั้งแต่การตั้งคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จนได้มาซึ่งแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติ 17 ปี และปรับปรุงเพิ่มเป็นแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติ 20 ปี ในภายหลังการใช้คำสั่ง คสช. จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อปี 2560 การประกาศ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายแม่บทด้านน้ำฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ และการรับมือภัยแล้ง

 

 

ตามมาด้ายนโยบายภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 เมื่อปี 2562 ว่าด้วยมาตรการตั้งรับและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยแล้งและอุทกภัย 

 

 

 

ผลงานด้านการบริหารจัดการน้ำดูจะเป็นผลงานชิ้นเอกที่ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลนี้ต่างกล่าวอ้าง โดยยกตัวเลขพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ ตัวเลขความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัยที่น้อยลงเมื่อเทียบกับตัวเลขในรัฐบาลก่อนๆ 

 

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารจัดการน้ำหลายอย่าง แต่หากลองพิจารณาในรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง ปัญหาที่เคยมีในยุครัฐบาลก่อนหน้า จวบจนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน หลายปัญหายังไม่ได้ถูกชำระสะสาง แก้ไข ยกเครื่องให้สมกับคำใหญ่ที่ขายฝันเมื่อปี 2557 ที่บอกว่าจะ 'ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ'

 

 

 

ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 515,008 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) หรือ 321.2 ล้านไร่ มีปริมาณฝนรวมตลอดปีเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 1,455 มิลลิมเตร เกิดเป็นปริมาณน้ำท่ารวมประมาณ 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี โดยมีตัวเลขความต้องการใช้น้ำรวมทุกวัตถุประสงค์ที่ประเมินไว้เมื่อปี 2558 ประมาณ 147,749 ล้าน ลบ.ม./ปี จากตัวเลขอุปสงค์อุปทานดังกล่าวจะเห็นว่า ในภาพรวมประเทศไทยมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับตอบสนองทุกวัตถุประสงค์ หากได้รับการบริหารจัดการน้ำที่ดี

 

 

 

แต่จากปัญหาน้ำขาดแคลนที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และบางแห่งเกิดปัญหาซ้ำๆ เป็นประจำเกือบทุกปีราวกับจะแก้ไขไม่ได้ ในขณะที่บางพื้นที่กลับมีปัญหาอุทกภัยในเวลาไล่เลี่ยกัน หรือบางปีเรามีปัญหาน้ำแล้งหรือเจอภัยแล้งในหน้าฝน รอจนฝนมาปัญหาน้ำแล้งคลี่คลายไป แต่ได้ปัญหาน้ำท่วมมาแทน 

 

 

 

นั่นแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของทรัพยากรทั้งในเชิงสถานที่และเวลา นอกจากนี้ ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ยังแก้ไม่ได้ บางเรื่องยิ่งแก้ยิ่งติดขัด ยิ่งแก้ยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนปมใหม่ๆ ทั้งในเงื่อนไขของกฎหมาย กฎระเบียบ ขั้นตอน ภายใต้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นองค์กรกำกับดูแลนโยบาย และองค์กรระดับปฏิบัติอีกกว่า 40 หน่วยงาน

 

 

 

ในห้วงเวลาที่พวกเรากำลังลุ้นและเอาใจช่วย เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ หลากหลายเรื่องราวของ 'การบริหารจัดการน้ำ' รอการสะสาง แก้ไข บางนโยบายรอการผลักดัน บางนโยบายรอการสานต่อ เรื่องน้ำก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ พลังงาน ปากท้อง เพราะน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เกี่ยวข้องกับทุกชีวิต เป็นปัจจัยการผลิตที่นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีของประชาชนคนในชาติ 

 

 

 

นอกจากนั้น การจัดสรรน้ำให้พอเพียงหรือมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีสำหรับการอุตสาหกรรมจะนำมาซึ่งความมั่นใจของผู้ประกอบการข้ามชาติ และการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติอย่างเป็นระบบและแม่นยำนำมาซึ่งความมั่นใจของของนักลงทุน 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้เป็นปี 'เอลนีโญ' ปริมาณฝนโดยรวมของประเทศไทยจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีนี้ ยาวไปถึงปีหน้า และมีโอกาสที่จะภัยแล้งต่อเนื่องไปถึงปี 2567 ทำให้ ‘8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล’  ที่มีโอกาสจะเข้ามาบริหารประเทศมีความเป็นกังวล ถึงกับจัดตั้ง ‘คณะทำงานภัยแล้งและเอลนีโญ่’ ขึ้น เพื่อวางกรอบการทำงานและหารือแนวทางแก้ปัญหาเตรียมไว้ก่อน

 

 

 

แน่นอนว่า การบริหารจัดการน้ำภายใต้สถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาน้ำขาดแคลนในช่วงหน้าแล้งปีนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. จนถึงฝนรอบถัดไปนั้น พวกเราต้องเตรียมรับมือกันตั้งแต่ฝนปีนี้ การใช้น้ำหรือการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอย่างไรให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้เก็บน้ำฝนไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด 

 

 

 

กรมชลประทานซึ่งมีพันธกิจหลักในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรต้องจัดสรรน้ำอย่างปราณีตที่สุด ไม่เพียงแต่ต้องพอเพียงสำหรับการทำเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มด้วย