คอลัมนิสต์

ขุดเจาะน้ำบาดาลกระจุกตัว สูบใช้มากเสี่ยงดินทรุด ควรมีการเติมน้ำใต้ดิน

ขุดเจาะน้ำบาดาลกระจุกตัว สูบใช้มากเสี่ยงดินทรุด ควรมีการเติมน้ำใต้ดิน

02 ก.ค. 2566

'การขุดเจาะน้ำบาดาล' ในลักษณะกระจุกตัว และมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาดินทรุด จึงต้องขุดบ่อในระดับที่มีความลึกแตกต่างกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในชั้นหินคนละระดับ รวมถึงควรพิจารณา 'การเติมน้ำใต้ดิน' ด้วย

 

[ตอนจบ]
นอกการใช้ข้อมูลคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติที่เพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ทิศทางการไหลของน้ำท่า และแนวโน้มการเกิดน้ำท่วมในการแก้ปัญหา 'การบริหารจัดการน้ำ' โดยเฉพาะ 'ภัยแล้ง' แล้ว ยังมีประเด็น 'การขุดเจาะน้ำบาดาล' และต้องมี 'การเติมน้ำใต้ดิน' รวมถึงการรุกล้ำของน้ำเค็ม และการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล

 

ประเด็นสถานการณ์ทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศและการเติมน้ำใต้ดิน

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พฤติกรรมการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทั้งในเชิงปริมาณและสถานที่ ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำผิวดิน รวมทั้งระบบการะจายน้ำผิวดินที่ไม่ทั่วถึง ทำให้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำบาดาลมากขึ้น ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวัง ดังนี้

 

 

1. ในการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือการขุดเจาะน้ำบาดาลควรพิจารณาศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลในเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือศักยภาพของแอ่งน้ำ เพื่อไม่ให้การขุดเจาะเกิดการกระจุกตัว เนื่องจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาดินทรุดของพื้นที่นั้นๆ หากกรณีมีความต้องการใชน้ำบาดาลมาก ต้องพิจารณาขุดบ่อในระดับที่มีความลึกแตกต่างกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในชั้นหินคนละระดับ ซึ่งจะทำให้ใช้ประโยชน์ได้ยาวนานกว่า 

 

 

2. ควรควบคุมการขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีชั้นดินเค็ม หรือเสี่ยงต่อการรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งจะทำให้น้ำบาดาลปนเปื้อน ยากต่อการแก้ไข

 

 

3. ควรควบคุมการลักลอบขุดใช้น้ำบาดาลปริมาณมาก ทั้งเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต 

 

 

4. ในการเติมน้ำใต้ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลควรเร่งให้คำแนะนำแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในการขุดเจาะน้ำบาดาล หรือขุดบ่อที่มีขนาดเหมาะสม ใช้วัสดุที่ดีไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินและน้ำบาดาล โดยน้ำที่จะเติมต้องสะอาดไม่ไหลผ่านพื้นที่การเกษตรที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมีเข้มข้น เนื่องจากจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนได้

 

 

ประเด็นการผลักดันการรุกล้ำของน้ำเค็มและการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล

 

1. แนวทางในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล หรือการรุกล้ำของน้ำเค็มอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีหลายแนวทาง สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายด้านน้ำของประเทศ ควรมีความชัดเจนในการนำทางเลือกต่างๆ ที่มีการศึกษาและเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเข้าสู่กระบวนการพูดคุย ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในบริเวณนั้น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการรับฟังและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่สูญเสียที่ดินทำกินเท่านั้น

 

 

2. การแก้ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเป็นเรื่องการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ ทั้งกลุ่มเกษตรกร ประมงชายฝั่ง ผู้ผลิตน้ำประปา และผู้ประกอบการที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเป็นหลัก โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

 

 

3. สทนช. ควรมีความชัดเจนในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการรุกล้ำของน้ำเค็ม อาทิ การชดเชยแก่เกษตรกรผู้เสียโอกาสเมื่อมีการใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็ม สั่งการให้หน่วยงานผลิตน้ำประปาพิจารณาใช้เทคโนโลยีในการผลิตน้ำจากน้ำกร่อย เพื่อลดปริมาณน้ำจืดผลักดันน้ำเค็ม เป็นต้น

 

 

ประเด็นน้ำอุปโภคบริโภค

 

1. ในการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับเกาะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ควรพิจารณาการบริหารจัดการน้ำ หรือการจัดการรูปแบบพิเศษอย่างครบวงจร เช่น การใช้รายได้ที่เก็บจากนักท่องเที่ยวในการดำเนินการระบบผลิตน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสียที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ โดยมีการศึกษารูปแบบและขั้นตอนในการจัดการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่

 

 

2. ในการจัดการน้ำระดับท้องถิ่น ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของแหล่งน้ำดิบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน หรือหรือการเติมน้ำใต้ดิน รัฐควรกำหนดให้หน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำดิบในพื้นที่ สนับสนุนในเชิงวิชาการแก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ

 

 

3. ควรสนับสนุนให้การประปาส่วนภูมิภาคพัฒนาแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคของตนเอง โดยไม่ฝากความหวังไว้กับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน 

 

 

4. การประปานครหลวงควรลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำดิบของตนเอง เพื่อเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต และบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการผลิตน้ำจากหลายแหล่ง (Decentralization) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีผลิตน้ำประปาจากน้ำกร่อย เมื่อมีความจำเป็น 

 

 

ประเด็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

1. เพื่อให้การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) มีคุณภาพและมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้มีองค์กรอิสระในการควบคุมการจัดทำรายงานแทนการจ้างจากเจ้าของโครงการโดยตรง

 

 

และควรพิจารณาแก้ไขประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 โดยควรพิจาณาจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 

 

 

2. สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีขนาดไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และไม่ได้เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้การจัดทำรายงาน IEE มีคุณภาพ และควรจัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และเพื่อให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปตามหลักการสากล รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยยึดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539

 

 

3. ในการแจกแจงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรพิจารณาให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบในทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะผู้สูญเสียที่ดินทำกินเท่านั้น ตัวอย่างเช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ผู้ได้รับผลกระทบนั้นมีมากกว่าแค่ผู้สูญเสียที่ดินตามแนวท่อส่งน้ำ แต่ยังครอบคลุมถึงเกษตรกร ชาวประมงน้ำจืด และผู้ใช้น้ำด้านท้าย ซึ่งหน่วยงานราชการต้องจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน

 

 

ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการน้ำที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีข้อเสนอแนะอีกมากที่ประชาชน นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขารอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาได้รับฟัง รับทราบ ประมวลผล เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ร่วมคิดร่วมทำ ไม่ใช่การดำเนินนโยบายแบบ 'คุณพ่อรู้ดี คุณพี่จัดให้' ดังเช่นหลายโครงการที่ผ่านมาในอดีต

 

 

อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่เพิ่มความยากโหดหินให้กับรัฐบาลใหม่ นอกจากจะต้องรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำ ๆไม่ว่า ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะทำให้ทุกภัยเกิดได้ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และส่งผลเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินได้มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

อ่านประกอบ

ตอนที่ 1 https://www.komchadluek.net/scoop/new-world/552261

ตอนที่ 2 https://www.komchadluek.net/scoop/new-world/552287