เปิดคลัง 'คัมภีร์ใบลาน' อายุ 380 ปี สมัยกรุงศรีอยุธยา ณ วัดเบญจมบพิตร
ตะลึง! กรมศิลปากร พบ 'คัมภีร์ใบลาน' เก่าแก่ อายุ 380 ปี สร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เก็บรักษาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม กทม.
“คัมภีร์ใบลาน” จำนวนมากถึง 6,275 ผูก อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโบราณ ถูกเก็บไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร หลังจากที่กรมศิลป์ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ เครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่น เพื่อรักษามรดกวัฒนธรรม และวัดเบญจมบพิตร ได้เข้าไปอนุรักษ์ ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารโบราณ ที่พบกลางกรุงที่ใหญ่มาก
โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณ ชำนาญการพิเศษ ได้มีการแถลงที่วัดเบญจมบพิตร ไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ใช้เวลาทำงานเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ 8 ก.ย. 2565-7 ก.พ. 2566 จนพบคัมภีร์ใบลานมากถึง 425 มัด หรือนับเป็นผูก (เล่ม หรือฉบับ) มีจำนวนมากถึง 6,275 ผูก และเอกสารประเภทสมุดไทยอีก 6 เล่ม
คัมภีร์ดังกล่าว สืบสายธารประวัติศาสตร์ ได้ถึง 3 สมัย ได้แก่สมัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถึงรัชกาลที่ 6 ที่นักอนุรักษ์ตื่นเต้น คือได้พบ คัมภีร์ใบลาน สมัยอยุธยาชื่อ "คัมภีร์วิมติวิโนทนีวินัยฎีกา สร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ.2186 อายุ 380 ปี" นักอนุรักษ์ ได้บันทึกไว้ในบัญชีเลขที่ วบจ. 22-25 (เพื่อสะดวกในการค้นคว้า)
ในสมัยกรุงธนบุรี พบคัมภีร์เรื่อง สารสังคหะ สร้างสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2320 หรือ อายุ 246 ปี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พบคัมภีร์โบราณ ชื่อ ธรรมบทอัฏฐกถา สร้างในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พ.ศ.2338 นับอายุคัมภีร์ได้ 238 ปี
การสร้างคัมภีร์ จารึกลงในใบลาน ได้ทำต่อเนื่อง ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ทำให้เห็นว่า วัดเบญจมบพิตร เป็นแหล่งเอกสารโบราณ ที่สามารถเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษร แต่ละรัชกาลได้ดี ในแหล่งเอกสารเดียวกัน
นอกจากนี้ ได้ศึกษายุคเปลี่ยนผ่านการจารึกในใบลาน มาพิมพ์ในกระดาษฝรั่ง เริ่มสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปริวรรตพระไตรปิฎก จากอักษรขอม มาเป็นอักษรไทย แล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทยลงในกระดาษฝรั่ง นับเป็นครั้งแรกในโลก แต่การจารึกคัมภีร์ในใบลาน ยังคงมีต่อเนื่อง เช่นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สร้างคัมภีร์ใบลาน จำนวนมาก ถวายวัดเบญจมบพิตร เช่นคัมภีร์เลขที่ 524 เรื่อง เวสสันตรกถา ที่สร้าง พ.ศ. 2461 นับอายุได้ 105 ปี
นอกจากนั้น ยังพบคัมภีร์ใบลาน ที่ "เจ้าทับ" สร้าง ได้แก่เรื่อง มังคลัตถทีปนี ที่สร้างใน พ. ศ.2386 หรือสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น ชื่อ เจ้าทับ สันนิษฐานว่า เป็นพระนามของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะพระนามเดิมคือ ทับ
กรมศิลปากร อนุรักษ์แล้วส่งมอบให้ พระธรรมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร พร้อมคาดหวังว่า สาธารณชนจะให้ความสนใจ มาศึกษาค้นคว้าต่อไป
โดยส.สต
เครดิตภาพ : กรมศิลปากร