'พระเถระ' ถูกถอด และได้คืน 'สมณศักดิ์' อดีตและปัจจุบัน (ตอนที่ 2)
วิบากกรรม 'พระศาสนโศภณ' พระเถระ ที่มีความอ่อนน้อม-สติปัญญาเป็นเลิศ ถูกถอด และได้คืน 'สมณศักดิ์' อดีตและปัจจุบัน (ตอนที่ 2)
ตอนที่ 2 นี้ เล่าเรื่อง พระศาสนโศภณ (ปลอด อตฺถการี) รองสมเด็จพระราชาคณะ สังกัดธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าอาวาส พระอารามหลวง วัดราชาธิวาส วัดต้นกำเนิด คณะธรรมยุต เรื่องของท่าน มีเรื่องน่าทึ่งเกี่ยวกับชื่อสมณศักดิ์ ความอ่อนน้อม และสติปัญญาเป็นเลิศ ถ้าไม่ถูกเคราะห์กรรมมาบั่นรอน ประเทศไทยจะเป็นที่ตั้ง มหาวิทยาลัยศีลธรรม แห่งเดียวของประเทศ ก็อาจเป็นไปได้ (เพราะท่านคิดและเสนอโครงการให้รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนที่จอมพล ป.จะถูกปฏิวัติ พ.ศ 2500 ส่วนท่านเองก็ถูกคณะสงฆ์โค่นเมื่อปี 2503)
เคราะห์กรรม และความผันผวนในชีวิต ของเจ้าคุณปลอด เกิดขึ้นพร้อมกับ พระพิมลธรรม (อาจ) และได้คืนสมณศักดิ์พร้อมกับพระพิมลธรรมในปี 2518 แต่มีเรื่องแปลก ท่านได้สมณศักดิ์เดิมคืน แต่ต้องเปลี่ยนอักษรจาก ส. เป็น ศ. คือศาสนโศภณ ทั้งๆ ที่ก่อนจะถูกถอดสมณศักดิ์ นั้น ท่านใช้ชื่อ สาสนโสภณ
ที่ต้องเปลี่ยนตัวอักษรจาก ส.มาเป็น ศ.เพราะนาม สาสนโสภณ นั้น เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส (สาสนโสภณ เอื้อน ชินทตฺโต)ได้รับพระราชทาน ปี 2515 ก่อนที่เจ้าคุณปลอด จะได้คืนสมณศักดิ์ ปี 2518 คณะสงฆ์ จึงหาทางออกให้เจ้าคุณปลอด ให้ใช้ ศ.สะกดชื่อ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับ ส. ดังนั้น พระเถระรองสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุต ระหว่างปี 2518-2521 จึงมีชื่อและออกเสียงเหมือนกัน 2 รูป ต่างแต่ตัวสะกด องค์หนึ่งใช้ ส. อีก องค์ ใช้ ศ.
เจ้าคุณปลอด วัดราชาธิวาส สะกดชื่อ ศาสนโศภณ (ปลอด) เจ้าคุณเอื้อนวัดเทพศิรินทราวาส สะกดชื่อ สาสนโสภณ (เอื้อน) ขอบคุณที่ อักษรไทย มีเสียง ส.ให้เลือก มิเช่นนั้นคงหาทางออกลำบาก
ปัญหาชื่อซ้ำกัน สิ้นสุดลง ในปี 2521 เมื่อทั้ง 2 รูป มรณภาพปีเดียวกัน กล่าวคือ
- พระสาสนโสภณ (เอื้อน) วัดเทพศิรินทราวาส มรณภาพ 29 ก.ค. 2521 สิริอายุ 78 ปี
- พระศาสนโศภณ (ปลอด) วัดราชาธิวาส มรณภาพ 17 ต.ค. 2521 สิริอายุ 76 ปี
ความผันผวนในชีวิต ของพระศาสนโศภณ เกิดขึ้น ขณะที่ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ที่ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 2486 และเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง (ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ 2484) โดยท่านถูกกล่าวหาว่า ต้องอาบัติปฐมปาราชิก (เสพเมถุน) ถึงกับถูกถอดสมณศักดิ์ และตำแหน่ง เจ้าอาวาส เมื่อปี 2503
คณะธรรมยุตสั่งห้ามทำสังฆกรรม เช่น ลงอุโบสถ เป็นต้น ห้ามเดินทางไปนอกวัด ท่านจึงอยู่ที่ตึกแดง คณะเหนือ โดยมิได้ออกจากวัดไปไหนเป็นเวลา 15 ปี ท่านไม่ถูกจับ หรือกักขัง เพราะไม่มีข้อหาด้านความมั่นคง หรือ บ่อนทำลายชาติ แค่ถูกกล่าวหาทางวินัย แต่ต้องให้คณะธรรมธร จากฝ่ายธรรมยุตพิจารณา
ข้อมูลจากกรมการศาสนาแลฎีกา ว่าท่านถูกแกล้ง เพราะพยานบางคนไม่เคยรู้จัก ฟังแต่เขาบอกว่า บางคน สารภาพว่าทำไปเพราะความโง่ สรุปว่าท่านบริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน เมื่อมีการเรียกร้องให้คืน สมณศักดิ์พระเถระทั้ง 2 คือพระพิมลธรรม ( อาจ อาสภเถระ ) และพระศาสนโศภณ (ปลอด) รัฐบาลจึงได้ถวายคืนในปี 2518 ส่วนตำแหน่งเจ้าอาวาส ไม่ได้คืน จนกระทั่งมรณภาพ
ตามประวัตินั้น ท่านเกิดที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2445 อุปสมบทปี 2465 เป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ปี 2486 สอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อปี 2475 จากนั้น มีสมณศักดิ์เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งตำแหน่งทางปกครอง
"เคารพผู้อาวุโส"
เมื่อมีสมณศักดิ์สูง ชั้นพระธรรมโกศาจารย์ นั้น สมเด็จพระสังฆราช จะเลื่อนให้เป็นชั้นพรหม (รองสมเด็จ) ชื่อพระพรหมมุนี ในปี 2491 (ตอนนั้นอายุ 46 ปี) ท่านปฏิเสธ ขอให้ตั้งผู้อาวุโสกว่า อีกครั้งหนึ่งสมเด็จพระสังฆราช จะให้ท่านครองตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ท่านปฏิเสธ ขอให้พระเถระมหานิกาย ดำรงตำแหน่งนั้น ท่านขอเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการ เท่านั้น
"วิสัยทัศน์"
ผมกล่าวไว้ตอนต้น หากไม่มีการเมืองมายุ่ง ประเทศไทยจะมีมหาวิทยาลัยศีลธรรม
เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เรียกท่านที่เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญ ในนาม พระอมรมุนีไปพบ แล้วปรารภว่า บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมาก พระสงฆ์จะเสื่อมจากพระวินัย ชาวบ้านจะห่างจากศีลธรรม จึงให้หาทางป้องกันตัว สมเด็จนี้จะรักษาวัดบวรนิเวศ ให้พระอมรมุนี (ปลอด) รักษาวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นวัดประวัติศาสตร์ของคณะธรรมยุต ดูแลให้พระสงฆ์ตั้งมั่นในพระวินัย ให้อุบาสก-สีกา ตั้งในศีลธรรม ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงวางแนวปฏิบัติไว้
พระอมรมุนี (ปลอด) ในฐานะเจ้าคณะมณฑล และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง ดำเนินการทันที สั่งให้สอนบาลีและศีลธรรมในโรงเรียนทุกจังหวัด ตลอดถึงอำเภอและหมู่บ้าน โรงเรียนศีลธรรม นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ขอเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประชาบาล "มหาวิทยาลัยศีลธรรม" ท่านขอให้รัฐบาล จอมพล ป พิบูลสงคราม ตั้งมหาวิทยาลัยศีลธรรม โดยมี พล.อ.หลวงสวัสดิสรยุทธ เป็นผู้ประสานงานใกล้ชิด พร้อมทั้งเสนอให้มี ธรรมนูญองค์การศีลธรรม เป็นองค์การอิสระเหนือการเมือง ควบคู่กับรัฐธรรมนูญ องค์กรทางการเมือง ท่านให้รายละเอียดการจัดตั้งองค์การไว้ดี และครอบคลุมผู้คนทุกระดับ
จอมพล ป.รับ และให้ยกร่าง ธรรมนูญองค์การศีลธรรม แต่ท่านจอมพล ป.ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ ทุกอย่างจึงหายไป การที่โค่นพระสงฆ์เก่งๆ มีวิสัยทัศน์ ในการพัฒนา และรักษาพุทธธรรม ทั้งอดีตและปัจจุบัน เหมือนบอนไซ พระพุทธศาสนา ขออย่าให้เกิดอีก