43 ปี ใต้ชายคา ปชป. “มารุต บุนนาค” สุภาพบุรุษนักการเมือง
รำลึก 43 ปี บนถนนเลือกตั้ง “มารุต บุนนาค” ต้นแบบสุภาพบุรุษนักการเมือง สู่ชายคา ปชป. ในวันที่พรรคเจอวิกฤตการเมือง พานพบทั้งยุครุ่งโรจน์ และตกต่ำ
รำลึก “มารุต บุนนาค” นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษ ใจซื่อมือสะอาด ตั้งแต่วันแรกที่ลุยสนามเลือกตั้ง จนกระทั่งวางมือ เลิกเล่นการเมือง
“มารุต บุนนาค” เข้าสู่ชายคา ปชป. ในวันที่พรรคเจอวิกฤตการเมือง ลงสนามครั้งแรกก็สอบตก พานพบ ปชป.ทั้งยุครุ่งโรจน์ และตกต่ำ
วันที่ 23 ก.ย.2565 มารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 98 ปี
ในหนังสือเรื่องบันทึกอดีตแห่งความทรงจำ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค นักการเมืองอาวุโส ที่นักข่าวมักเรียกว่า “ปู่มารุต” ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
“นักการเมืองที่ดีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตน เสมอต้นเสมอปลาย กับคนทุกระดับชั้นและทุกเวลา ต้องดำเนินตนอยู่ในทำนองคลองธรรม เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วต้องลงอย่างสง่างาม ลงอย่างชนิดที่ว่าคนเขาไหว้เราได้อย่างสนิทใจ ไม่ใช่เลิกเล่นการเมืองแล้วประชาชนยังสาปแช่งเห็นหน้าก็ไม่อยากยกมือไหว้”
ปู่มารุต เลิกเล่นการเมืองโดยไม่มีใครสาปแช่ง คนไหว้ได้อย่างสนิทใจ เหมือนที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เขียนถึงอาจารย์มารุตว่า เป็นต้นแบบสุภาพบุรุษนักการเมือง เนื่องในวันเกิดปู่มารุต ปี 2563
ก่อนจะเข้าสู่วงการเมือง มารุต บุนนาค บุตรชายพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) และหลานตา ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ได้ตั้งสำนักกฎหมายมารุต บุนนาค ใกล้ ๆ กับศาลแพ่งและศาลอาญาเขตพระนคร เมื่อปี 2493
หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 มารุตในฐานะเลขาธิการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา(ปี 2518-2519)
‘ใต้ร่มธง ปชป.’
“มารุต บุนนาค” ได้รับคำเชิญจาก ดำรง ลัทธพิพัฒน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ,ชวน หลีกภัย รองหัวหน้าพรรค และเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ปรึกษาพรรค ให้เข้ามาร่วมงานกับพรรค หลังเกิดวิกฤตการเมือง 6 ต.ค.2519
นักกฎหมายชื่อดังอย่างมารุต ไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งเวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในยุคขวาจัดครองเมือง เขาตัดสินใจเข้าสู่การเมืองเต็มตัวในปี 2521
ในการเลือกตั้ง 22 เม.ย.2522 มารุตลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 2 (เขตพญาไทและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย) แต่โชคร้าย ปชป.พ่ายยับในสนาม กทม. มี พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ได้รับเลือกตั้งคนเดียว
หลังความปราชัยในสนามเลือกตั้ง ปชป.มีการปรับโครงสร้างพรรค เลือก พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และมารุต บุนนาค เป็นเลขาธิการพรรค
ปี 2524 มารุตได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ในรัฐบาลเปรม 1 และในการเลือกตั้งปี 2526 มารุตได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม.สมัยแรก
‘สถาบันการเมือง’
บนเส้นทางการเมืองกว่า 40 ปี “มารุต บุนนาค” ได้รับตำแหน่งสำคัญๆทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ยืนหยัดมั่นคงอยู่กับพรรค ปชป. ไม่เคยทอดทิ้งพรรค แม้ในยามที่ตกต่ำ
อาจารย์มารุต ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย ได้แก่ รัฐมนตรียุติธรรม ,รัฐมนตรีสาธารณสุข ,รัฐมนตรีศึกษาธิการ,ประธานรัฐสภา, ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานสภาผู้แทนราษฎร
ปู่มารุตประกาศวางมือจากการเมือง(ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง) เมื่อกลางปี 2549 แต่ยังเป็นที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์
ต้นเดือน เม.ย.2556 ปู่มารุต ให้สัมภาษณ์เวบไทยพับลิก้า ซึ่งในช่วงนั้น มีเสียงเรียกร้องจากคนในพรรค ปชป. ให้การปฏิรูปพรรค
เวลานั้น มีสมาชิกพรรค ปชป.บางคนลาออกจากพรรค และหลายคนก็แสดงความไม่พอใจต่อบทบาทของพรรคในวิกฤตการเมืองบนท้องถนน
“คนที่อยู่ ปชป. ก็มี 2 ประเภท คือประเภทที่เข้ามาเป็นทางผ่าน แล้วประสบความสำเร็จบ้าง ผิดหวังบ้าง ก็แยกย้ายไปบ้าง กับประเภทที่เหลืออยู่ ซึ่งน่าจะมั่นคง มีสัจจะกับพรรค จะเห็นว่า ปชป.เป็นสถาบันทางการเมือง สร้างนักการเมืองดีๆ มาเยอะแยะ..”
คำให้สัมภาษณ์ของปู่มารุต เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สะท้อนภาพ ปชป.ในวันนี้ได้ในระดับหนึ่ง และสมาชิกพรรคเสื้อฟ้าก็ยังเชื่อในความเป็นสถาบันการเมือง เหมือนที่สุภาพบุรุษนักการเมืองเคยเชื่อมั่นตลอดในชีวิตการเมือง
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
( https://awards.komchadluek.net/# )