นักเพลงหมื่นล้าน "แอ๊ด คาราบาว" ในเงาสหายรุ่นพี่ ปั้น CBG
ศิลปินเพลงหมื่นล้าน “แอ๊ด คาราบาว” ผนึกกำลังสหายรุ่นพี่ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ สร้างคาราบาวกรุ๊ป (CBG) ขายสารพัด เครื่องดื่มบาวแดง ยันปั้นถูก-ดี โชห่วยรากหญ้า
ศิลปินเพลงหมื่นล้าน “แอ๊ด คาราบาว” ผนึกสหายรุ่นพี่ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ สร้างอาณาจักรคาราบาวกรุ๊ป (CBG) ขายสารพัด เครื่องดื่มชูกำลังยันปั้นโชห่วยรากหญ้า
ในวัยหนุ่ม “แอ๊ด คาราบาว” เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติ ชื่อจัดตั้ง สหายเชี่ยว ทำงานในเมือง ฝ่ายเสถียร หรือ สหายคง รับบทหมอฝังเข็ม ในป่าอีสานใต้
ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ประสบความสำเร็จในการก่อตั้งบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG โดยแอ๊ดถือหุ้น 70.48 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 7,845 ล้านบาท หากรวมทั้งครอบครัวโอภากุล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,500 ล้านบาท (ข้อมูล พ.ค.2564)
ปี 2544 บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของแอ๊ด คาราบาว , เสถียร เศรษฐสิทธิ์ และณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และเปิดตัวเครื่องดื่มคาราบาวแดง โดยเสถียร ดูแลด้านการคิดค้นสูตรเครื่องดื่ม และณัฐชไม เป็นฝ่ายบริหารจัดการ
คาราบาวแดง ออกสู่ท้องตลาด เมื่อ 28 ต.ค.2545 และปี 2557 มีการจัดตั้ง บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) และนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
“ผมไม่ทราบมูลค่าทางธุรกิจ ผมคิดแค่ว่า ขอให้ตื่นเช้ามาทำงานและสนุก จริงๆชีวิตผมมาถึงตรงนี้ มีรายได้ขนาดนี้ นับว่ามากและใช้ไม่หมดอยู่แล้ว จะบอกว่าพอแค่นี้ก็ได้ แต่พี่เถียร(เสถียร เศรษฐสิทธิ์) ยังลากไปอยู่ เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องไปด้วยกัน...” แอ๊ดให้สัมภาษณ์นิตยสาร Forbes Thailand เมื่อปี 2560
- “เกือบขายบะหมี่บาวแดง”
“แอ๊ด คาราบาว” มารู้จักกับเสถียร เศรษฐสิทธิ์ สหายรุ่นพี่จากป่าอีสานใต้ สมัยที่เปิดผับตะวันแดงสาดแสงเดือน ย่านคลองตัน และเปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ในปี 2542
ราวปี 2544 แอ๊ดได้รับคำเชิญจากเจ้ายอดศึก ผู้นำกองพันรัฐฉานใต้ ให้ไปเยี่ยมชมที่มั่นดอยไตแลง ชายแดนไทย-พม่า เขาจึงชวนเสถียร และมิตรสหายอีสานใต้อีก 2-3 คน เดินทางไปด้วยกัน
ระหว่างการตะลุยขึ้นดอยไตแลง แอ๊ดได้ปรึกษากับสหายอีสานใต้อย่างจริงจังว่า เมื่อการเล่นดนตรีมาถึงทางตันแล้ว จะทำอะไร อยากทำธุรกิจรองรับบั้นปลายชีวิต
แอ๊ดบอกว่า สนใจทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เสถียรมองว่า สินค้าไม่เหมาะกับคาแร็กเตอร์ของแบรนด์คาราบาว จึงเสนอธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะสูตรเครื่องดื่มอยู่ในมือแล้ว
โชคดีที่เสถียรแนะนำให้ทำเครื่องดื่มชูกำลัง มิเช่นนั้น แฟนเพลงคาราบาว อาจได้ลิ้มรสบะหมี่บาวแดง
- ‘สองสหายอีสานใต้’
เมื่อถึง “แอ๊ด คาราบาว” และเครื่องดื่มคาราบาวแดง ก็ต้องนึกเห็นคู่หูรุ่นพี่ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ เพราะหากขาดใครคนใดคนหนึ่ง เครื่องดื่มแบรนด์นี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
เสถียรกับแอ๊ดนั้น มีพื้นเพชีวิตคล้ายกัน ต่างเติบโตในครอบครัวหัวการค้าเหมือนกัน แอ๊ดได้วิชาค้าขายจากคุณแม่ ส่วนเสถียร แม่ขายก๋วยเตี๋ยวเรืออยู่ในตลาดแปดริ้ว
ช่วงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 เสถียรเรียนปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ตัดสินใจหลบหนีภัยเผด็จการเข้าไปอยู่ในป่า พร้อมกับเพื่อนนักศึกษาหลายพันคน
เสถียรใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มธงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เขตงานอีสานใต้ ชื่อจัดตั้งว่า “สหายคง” สังกัดหน่วยทหารเสนารักษ์
ส่วนแอ๊ด คาราบาว ไม่ได้เข้าป่า แต่ทำงานเดินเมล์(หน่วยขนส่ง)ของอีสานใต้ ระหว่างเมืองกับป่าเขา มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายเชี่ยว” แต่ตอนนั้น ทั้งคู่ไม่ได้เจอกัน
ปี 2523 สถานการณ์ป่าแตก นักศึกษาคืนเมืองตามนโยบาย 66/2523 เสถียรหันไปทำธุรกิจเป็นโรงงานผลิตตะปูที่ จ.สมุทรปราการ ก่อนหันไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยุครัฐบาลชาติชาย
จากนั้น เสถียรหันมาทำผับตะวันแดงสาดแสงเดือน และโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ทำให้ 2 สหายอีสานใต้ได้พบกัน และเปิดจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจร่วมกันมาจนถึงบัดนี้
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/