คอลัมนิสต์

แบกลุงป้อม “อันวาร์” ชนสายแข็ง ปชป.-ภท. ชิง “ปัตตานี”

แบกลุงป้อม “อันวาร์” ชนสายแข็ง ปชป.-ภท. ชิง “ปัตตานี”

13 ธ.ค. 2565

เกมเสี่ยง “อันวาร์” แบกลุงป้อม ลุยสมรภูมิ “ปัตตานี” ชนสายแข็ง กำนันสนิท ค่าย ปชป. และเพชรดาว ทายาทเด่น โต๊ะมีนา มิหนำซ้ำ แฟนคลับคนรุ่นใหม่ไม่สนับสนุน

 

ศึกนี้เหนื่อยแน่ “อันวาร์” แบกลุงป้อม ลุยสมรภูมิ “ปัตตานี” ชนสายแข็ง กำนันสนิท ค่าย ปชป. ตามมาด้วยเพชรดาว ทายาทเด่น โต๊ะมีนา


เดิมพัน “อันวาร์” ที่ต้องสูญเสียฐานแฟนคลับ ปชป. และคนรุ่นใหม่ แถมค่าย พปชร.ในวันที่ 2 ป.แตก ไม่ขลังเหมือนปี 2562 


หลังจัดกิจกรรมเคลียร์ใจฐานเสียงเรื่องย้ายพรรคเรียบร้อย อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ก็มาชูเสื้อพรรคพลังประชารัฐ พร้อมเพื่อนอดีต ส.ส.ปลายด้ามขวาน 2-3 คน 
 

 

พรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 อนาคตของ อันวาร์ สาและ ในสมรภูมิปัตตานี จึงน่าติดตามยิ่ง


ปัตตานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วย อ.เมืองปัตตานี และ อ.ยะหริ่ง (เฉพาะ ต.บางปู ต.แหลมโพธิ์ ต.ตะโล๊ะกาโปร์ ต.ยามู ต.ราตาปันยัง ต.ตาแกะ ต.ปิยามุมัง และ ต.ปุลากง)

 

อันวาร์ ในวันที่นัดชุมนุมกลุ่มผู้สนับสนุน เคลียร์ใจเรื่องย้ายพรรค

 

นับแต่มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียว เบอร์เดียว ในปี 2544 จนถึงปี 2562 ปัตตานี เขต 1 เป็นฐานที่มั่นของพรรค ปชป. จากยุค วัยโรจน์ พิพิธภักดี จนมาถึงอันวาร์ สาและ เป็น ส.ส.อีก 4 สมัย


เมื่ออันวาร์ ส่งสัญญาณชัดว่าไปอยู่พรรคอื่นแน่ พรรค ปชป. ก็เปิดตัวกำนันสนิท นาแว อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี พรรคชาติไทยพัฒนา ลงสนามแทนทันที


ส่วนพรรคภูมิใจไทย  ก็ตัดสินใจส่ง  พญ.เพชรดาว  โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงสนาม ส.ส.เขต 1 ปัตตานี แม้จะกระแสต้านกัญชาเสรี  ซึ่งขัดกับหลักอิสลาม  แต่ด้วยความเป็นลูกสาว เด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. และ ส.ว.ปัตตานี ย่อมไม่ใช่ดาวเคราะห์อย่างแน่นอน 


ไม่นับผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล  ที่ได้ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ในเมืองปัตตานี  และกลุ่มที่ต้านระบอบ 3 ป. ล้วนแต่เป็นพรรคที่ตัดแต้มอันวาร์ สาและ ทั้งนั้น

 

 

‘ทางเลือกบ้านใหญ่’
สภาน้ำชาปัตตานีมองว่า ส่วนตัว “อันวาร์” อาจถูกจริตกับพรรคประชาชาติ  จึงไปเดินตาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อยู่พักหนึ่ง เหตุที่ต้องเข้าบ้านป่ารอยต่อฯ เพราะกลุ่มเครือญาติอันวาร์ ประสงค์จะให้สังกัดพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลมากกว่า


ย้อนไปเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2548 วัยโรจน์ พิพิธภักดี อดีต ส.ส.ปัตตานี 4สมัย พรรค ปชป. ตัดสินใจย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย เพราะอยากเป็นฝ่ายรัฐบาล 


ส่วนพรรค ปชป. ก็ได้คัดเลือกหนุ่มหน้าตาดี อันวาร์ สาและ ลงสนามแทนวัยโรจน์ ซึ่งอันวาร์ เป็นคนหน้าใหม่ ไร้ประสบการณ์ทางการเมือง แต่ได้แรงหนุนจากบิดา เอกชัย สาและ อดีตกำนัน ต.สะบารัง และเครือญาติที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น


ดังที่ทราบกัน  ครอบครัวอันวาร์  เป็นผู้นำท้องถิ่น และทำธุรกิจรับเหมาถมที่ดิน-ก่อสร้าง  กำนันเอกชัยก็เคยเป็นหัวคะแนนของพรรคความหวังใหม่


ในที่สุด  อันวาร์ก็โค่นนักการเมืองอาวุโส  สายเจ้าเมืองปัตตานี  ได้เป็น ส.ส.ปัตตานี สมัยแรก ซึ่งเบื้องลึกชัยชนะของอันวาร์  ก็มาจากกระแสคนปัตตานีไม่เอาทักษิณ และแผลกรือเซะ-ตากใบ ยังสด ๆ อยู่ 


‘พื้นที่ ปชป.’
ถ้าพลิกแฟ้มเลือกตั้งปลายด้ามขวาน “อันวาร์” ก็น่าจะรู้ว่า พื้นที่เขต 1 (อ.เมือง) ใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส เป็นชุมชนเมือง ที่มีประชากรไทยพุทธและคนจีน อาศัยอยู่ร่วมกับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรค ปชป.


เอาเฉพาะการเลือกแบบแบ่งเขต ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ปชป.ชนะในเขตเลือกตั้งที่ 1 มาโดยตลอด ยกเว้นการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว 


อย่างที่รู้กัน กระแสลุงตู่มาแรง ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ได้ 2 ที่นั่งในเขตเมืองคือ วัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส และอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา


ส่วนเขต 1 ปัตตานี สมัยที่แล้ว อันวาร์ ในสีเสื้อ ปชป.ยังเอาตัวรอดได้ แต่ก็เจอคู่แข่งจากหลายพรรคแชร์แต้มไปเยอะ จากปี 2554 อันวาร์เคยได้ 28,733 คะแนน ก็เหลือ 19,883 คะแนน 


ส่วน สนิท นาแว อดีตนายก อบต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เป็นนักการเมืองสไตล์ลูกทุ่งติดดิน ใจถึงพึ่งได้ ก่อนจะมาสวมเสื้อพรรค ปชป. เคยลงสมัคร ส.ส.ปัตตานี เขต 1 ในนามพรรคมาตุภูมิ และพรรคชาติไทยพัฒนา 


พูดง่าย ๆ กำนันสนิทมีต้นทุนอยู่ประมาณ 13,000-16,000 แต้ม ที่เหลือก็ต้องลุ้นจากคะแนนพรรค ปชป. ฉะนั้น โอกาสที่สนิทจะดับฝันอันวาร์ก็มีสูง


คอลัมน์...  ท่องยุทธภพ   โดย...  ขุนน้ำหมึก