ชิงฝ่ายขวา "สกลธี" ประดาบ "พีระพันธุ์" สงครามเงา 2 ป.
สงครามตัวแทน 2 ป. "สกลธี" แม่ทัพเมืองหลวง พปชร. ประดาบ "พีระพันธุ์" แห่งรทสช. ชิงแต้มกลุ่มอนุรักษ์นิยม จับตา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กองหนุนลุงตู่
หลานรักลุงป้อม "สกลธี" รีเทิร์นรับบทแม่ทัพเมืองหลวง พปชร. ประชัน "พีระพันธุ์" แห่ง รทสช. ชิงแต้มจากฐานกลุ่มอนุรักษ์นิยม
การเปิดตัว "สกลธี" เหมือนสงครามตัวแทนประวิตร-ประยุทธ์ เพราะฝ่าย รทสช. ก็มีภาพอดีตผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เดินตามหลังลุงตู่
วันที่ 24 ม.ค.2566 สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะหัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคฯ จะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ประมาณ 30 คน
จั้ม-สกลธี ภัททิยกุล บุตรชายคนโตของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกลาโหม ตัดสินใจร่วมงานกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เพราะบิดา-พล.อ.วินัย กับ พล.อ.ประวิตร เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.6
เหนืออื่นใด เมื่อครั้งที่ สกลธี ภัททิยกุล ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้รับการสนับสนุนจากลุงป้อม จึงมีภาพผู้สมัคร ส.ก.พรรค พปชร. จำนวนหนึ่งมาเป็นทีมหาเสียงช่วยสกลธีในโค้งสุดท้าย
ส่วน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลสนามเลือกตั้ง กทม. ฉะนั้น ในวันตรุษจีน พีระพันธุ์ พร้อมทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรค รทสช. ได้นำพา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นเยาวราช
ในวันนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ก็เดินเคียงข้างลุงตู่ ลงพบปะชาวไทยเชื้อสายจีนที่เยาวราชด้วย
'ทีมเมืองหลวงแตก'
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม.สมัยหน้า "สกลธี" ค่ายลุงป้อม ต้องปะทะกับ "พีระพันธุ์" ค่ายลุงตู่ โดยตรง เนื่องจากสองพรรคนี้ มีฐานเสียงเดียวกัน
ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ มีอยู่ 12 คน ต้องพ้นจาก ส.ส.ไป 2 คน ก็เหลืออยู่ 10 คน ปรากฏว่า ยังสังกัดพรรค พปชร.เพียงคนเดียวคือ ศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. เขตหนองจอก
สกลธี ภัททิยกุล จึงต้องจัดทีมผู้สมัคร ส.ส.ชุดใหม่เกือบทั้งหมด เท่าที่มีรายงานข่าวเบื้องต้น จะมีอดีต ส.ส.กทม. 2-3 คน จากพรรค ปชป.และเพื่อไทยมาร่วมงานด้วย
ดังที่ทราบกัน ส.ส.กทม.พรรค พปชร.ส่วนใหญ่ ย้ายไปอยู่กับ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่พรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ (เขตปทุมวัน-บางรัก-สาธร) ,กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา (เขตคลองเตย-วัฒนา), ภาดาท์ วรกานนท์ (เขตพญาไทและจตุจักร) , กษิดิ์เดช ชุติมันต์ (เขตลาดพร้าว) และ จักรพันธ์ พรนิมิตร (เขตบางพลัด-บางกอกน้อย)
สำหรับ ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ (เขตบางกะปิ-วังทองหลาง) และประสิทธิ์ มะหะหมัด (เขตสะพานสูง-ประเวศ) ไปพรรค รทสช.
กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ (เขตพระนคร-ป้อมปราบฯ) ไปพรรคเพื่อไทย และชาญวิทย์ วิภูศิริ (เขตมีนบุรี-คันนายาว) ขอหยุดพักชั่วคราว
'กระแสลุงตู่แผ่ว'
"สกลธี" เห็นผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็พอประเมินได้ว่า กระแสลุงตู่คงไม่แรงเหมือนปี 2562 จึงอาสาลุงป้อมนำทัพสู้ศึกเมืองหลวง
การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จาก 30 เขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กวาดคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ได้ ส.ส. 12 ที่นั่ง รวม 845,365 คะแนน อันดับ 2 พรรคอนาคตใหม่ คว้า 9 ที่นั่ง 807,942 เสียง และพรรคเพื่อไทย 9 ที่นั่ง 604,699 เสียง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว แต่ได้รวม 474,820 คะแนน ต่างจากปี 2554 พรรค ปชป.กวาดแต้มได้ 1,277,669 คะแนน
ว่ากันว่า กว่า 4 แสนคะแนนของพรรค ปชป. ถูกถ่ายเทไปที่พรรค พปชร. อันเนื่องมาจากกระแสความสงบจบที่ลุงตู่
สัญญาณที่บ่งบอกว่า กระแสลุงตู่แผ่วลงแล้ว วัดได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปีที่แล้ว โดยประเมินผลจากคะแนนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากปีกอนุรักษ์นิยม 3 คน
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรค ปชป.ได้ 254,723 คะแนน โดยภาพรวมดูกระเตื้องขึ้น เพราะได้ ส.ก.มาจำนวนหนึ่ง
สกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ ได้ 230,534 คะแนน ตรงนี้แหละที่ทำให้ลุงป้อม เรียกใช้บริการเสี่ยจั้ม ลุยศึกเลือกตั้ง ส.ส.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ ได้ 214,805 คะแนน ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เสียงแตก จึงทำให้บิ๊กวิน รู้สึกผิดหวังมากทีเดียว
อย่าลืมว่า ตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งเสี่ยจั้มและบิ๊กวิน ก็อยู่ในปีก 3 ป.ที่ยังไม่ได้แยกทางกันเดิน ดังนั้น ผู้สนับสนุนของสกลธี จำนวนไม่น้อย ย่อมต้องไหลออกไปหาลุงตู่
คอลัมน์ ... ท่องยุทธภพ โดย ... ขุนน้ำหมึก