คอลัมนิสต์

'แคนดิเดตนายกฯ'  ‘หมอมิ้ง’ ชื่อนี้มาแรง เขย่าขวัญขวาจัด

'แคนดิเดตนายกฯ' ‘หมอมิ้ง’ ชื่อนี้มาแรง เขย่าขวัญขวาจัด

30 มี.ค. 2566

เลือกตั้ง 66 เปิดปูม 'หมอมิ้ง' ว่าที่ 'แคนดิเดตนายกฯ' คนที่ 3 พรรคเพื่อไทย จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ 250+ แต่ชื่อนี้ก็เสี่ยงปลุกพลังขวาจัด

 

ชื่อนี้ไม่ธรรมดา หมอมิ้ง ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 พรรคเพื่อไทย ตอบโจทย์บ้านจันทร์ส่องหล้า และบ้านดูไบ แต่เขย่าขวัญ ขวาจัด  

 

หมอมิ้ง จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ 250+ แต่ก็มีความเสี่ยง ปลุกผีระบอบทักษิณ โพลหลายสำนัก สะท้อนพลังอนุรักษ์ยังไม่อ่อนแรง 

 

หลังจากพรรคเพื่อไทย มีตัวยืนในตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คนคือ แพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน 

สัปดาห์นี้ ชื่อที่ 3 โผล่มาอีกครั้ง หมอมิ้ง - นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ

 

หมอมิ้ง ลุคใหม่ ไม่เก็บตัว ไม่ตกยุค เข้าได้กับคนรุ่นใหม่

 

หมอมิ้ง วัย 69 ปี เริ่มเปิดหน้ามากขึ้น ออกไปพบปะสื่อมวลชน เข้าร่วมเวทีเสวนาทางการเมือง และขึ้นเวทีปราศรัยกลางแจ้ง

ที่สำคัญ ยี่ห้อหมอมิ้ง ไม่ต่างจากยาสามัญประจำบ้านจันทร์ส่องหล้า และเป็นคนที่นายใหญ่ต่างแดนไว้ใจมากที่สุด  

 

หมอมิ้งวันนี้ ต่างจากวันวาน ไม่ใช่คนที่เก็บเนื้อเก็บตัว เขาเข้าไปคลุกคลีกับคนเจนใหม่ และแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น เขาจึงเหมาะที่จะขึ้นเวทีดีเบตทางการเมือง ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ 

 

ช่วงเวลาที่อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ต้องพักฟื้นใกล้คลอด และเศรษฐา ถนัดเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนหมอมิ้งน่าจะเป็นผู้อธิบายยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้อย่างครบถ้วน 

 

นักคิดนักกลยุทธ์

 

หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นคนเดือนตุลา ที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ช่วงปี 2516-2519 ก่อนจะเข้าไปร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับมาเรียนต่อ

 

หลังหมอมิ้งจบแพทย์รามาฯ ก็ไปรับราชการเป็นหมอชนบทแถวภาคอีสานอยู่หลายปี ก่อนจะลาออกมาทำงานที่บริษัทชินแซทเทิลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ของทักษิณ ชินวัตร

 

ก่อนเลือกตั้งปี 2544 หมอมิ้งดึงเพื่อนเก่าสมัยซ้ายขาสั้น ในนามบริษัทแมทช์บ็อกช์ มาวางกลยุทธ์หาเสียงให้ทักษิณ อัดแคมเปญประชานิยมของพรรคไทยรักไทย โดนใจรากหญ้า ส่งให้ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อทักษิณ ชินวัตร เข้าประจำการตึกไทยคู่ฟ้า หมอมิ้งก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือนายกฯน้อย ผู้มีอำนาจเต็มมือในตึกทำเนียบรัฐบาล

 

นพ.พรหมินทร์ ยังเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่นายใหญ่-นายหญิงไว้วางใจมากที่สุด

 

ครั้งหนึ่ง หมอมิ้งเคยเล่าประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับอดีตนายกฯทักษิณ โดยสวมบทเป็นพ่อครัวหัวป่า คอยจ่ายตลาดความคิด ,โครงการ, แผนงานและคำสั่ง ของนายใหญ่ 


 
ชื่อนี้เขย่าขวัญฝ่ายขวา

 

หลังรัฐประหาร 2549 หมอมิ้ง ยุติบทบาททางการเมือง กลับไปทำงานบริหารธุรกิจของตระกูลชินวัตร ทั้งที่โรงพยาบาลพระราม 9 และมหาวิทยาลัยชินวัตร 

 

ปลายปี 2564 นพ.พรหมินทร์ กลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง เปิดตัวกลุ่มแคร์ พร้อมกับขุนพลทักษิณอีก 3 ราย คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ภูมิธรรม เวชยชัย และพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล

 

ในวาระ 16 ปี รัฐประหาร ’49 หมอมิ้ง ได้บอกเล่าประสบการณ์การต่อสู้ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จนต้องเข้าป่าจับปืน และหวนคืนสู่เวทีการเมือง

 

“..อำนาจของฝ่ายอนุรักษ์ จะต้องเสื่อมถอยลง การต่อสู้จะเกิดขึ้นเป็นระยะ ประชาชนจะตื่นรู้ตามวิถีของประชาธิปไตยซึ่งจะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น” หมอมิ้งวาดหวังว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ เราฝ่ายประชาธิปไตย ต้องเอาชนะให้ได้อย่างถล่มทลาย”

 

ปอกเปลือกความคิดของหมอมิ้งข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดแรงกระเพื่อมในปีกขวาจัด หากทราบว่า นพ.พรหมินทร์ เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ 


อย่าลืมก่อนวันยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549 หมอมิ้งเป็นคนเก็บเอกสารต้านปฏิวัติ ที่ทักษิณมอบไว้ให้ และเขาพยายามจะต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม แต่ขุนทหารฝ่ายนายใหญ่ถอดใจไม่สู้ จึงยอมแพ้

 

สุดสัปดาห์นี้ ต้องลุ้นระทึกว่า ชื่อที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย จะเป็นชื่อหมอมิ้งหรือไม่ หากเป็นจริงตามคาด ก็อาจได้เห็นสายลมขวาจัดพัดกลับ