คอลัมนิสต์

ศึกสองขั้ว ‘อุ๊งอิ๊ง’ ชิงนำกระแส ‘ประยุทธ์’ ขอไปให้สุด

ศึกสองขั้ว ‘อุ๊งอิ๊ง’ ชิงนำกระแส ‘ประยุทธ์’ ขอไปให้สุด

03 เม.ย. 2566

เลือกตั้ง66 อะไรก็เกิดขึ้นได้ อุ๊งอิ๊ง มีคะแนนนิยมนำโด่ง ประยุทธ์ พระเอกฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยังไล่ตามห่างๆ จับตาสนามภาคกลาง กระสุนตัดกระแส

 

สงครามเลือกตั้งเริ่มแล้ว โพลทุกสำนักชี้ อุ๊งอิ๊ง มีคะแนนนิยมนำโด่ง ประยุทธ์ ยังเป็นพระเอกฝ่ายอนุรักษ์นิยม ระวังตัวแปรที่คาดไม่ถึงคือ ก้าวไกล

 

เลือกตั้งบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ 400 เขต อะไรก็เกิดขึ้นได้ อุ๊งอิ๊ง ชิงนำกระแส แต่ระวังบ้านใหญ่ใส่กระสุน เจาะ สส.เขต สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์

กกต.กำหนดวันที่ 3-7 เม.ย.2566 เป็นวันเปิดรับสมัครเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ สส.บัญชีรายชื่อ ถือว่าเป็นยกแรกของสงครามเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

 

การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ยังเป็นเกมชิงอำนาจของสองขั้วคือ ฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศไปต่อในการเมืองครั้งหน้า ด้วยการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย นำโดย พรรคเพื่อไทย ประกาศยุทธศาสตร์ชนะให้ขาด และให้ได้ สส.มากกว่า 250 เสียง เพื่อชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล สร้างแรงกดดันต่อ 250 สว. ไม่ให้กล้าโหวตสวนฉันทามติของประชาชน

 

สำหรับกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็น สส.เขต 400 คน และ สส.บัญชีรายชื่อ 100 คน หารด้วย 100 คน จะเป็นสัดส่วนของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งที่แต่ละพรรคจะได้รับ

 

นักวิชาการอิสระอย่าง ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สรุปการเลือกตั้งครั้งใหม่ว่า “เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 พลังเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมชนะกันไม่เด็ดขาด ตัวเลขอยู่ที่ฝ่ายละ 15 ล้านเสียง วันนี้การต่อสู้ระหว่างพลังสองขั้วนี้ยังดำรงอยู่”

 

จุดอ่อนเพื่อไทย

 

โพลทุกสำนักชี้ไปที่ อุ๊งอิ๊ง ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ที่คนจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในสนามเลือกตั้ง 400 เขต ยังมีตัวแปรเรื่องกระสุน ไม่ใช่เรื่องกระแสอย่างเดียว

 

จากข้อมูลการเลือกตั้ง สส.ปี 2562 ที่ Rocket Media Lab ทำข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ ทำให้ทราบว่า พรรคเพื่อไทย เป็นแชมป์ภาคอีสาน และภาคเหนือ 

 

ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่พรรคเพื่อไทยเคยเป็นแชมป์เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 กลับประสบความล้มเหลว และนี่เป็นจุดอ่อนของเพื่อไทย ไม่นับภาคใต้ ที่เป็นจุดอ่อนตลอดกาลของพรรคเครือข่ายทักษิณ

 

ปี 2562 ภาคกลาง (รวม กทม.) มี สส.เขต 106 คน พรรคที่ได้ สส.มากที่สุดคือ พลังประชารัฐ 47 คน และอันดับ 2 เพื่อไทย 26 คน 

 

ภาคตะวันออก มี สส.เขต 26 คน พรรคที่ได้ สส.มากที่สุดคือ พลังประชารัฐ 11 คน แต่เพื่อไทยไม่ได้ สส. แม้แต่คนเดียว ปี 2566 ภาคตะวันออก มี สส.เขต 29 คน

 

ภาคตะวันตก(รวมตาก และประจวบฯ) มี สส.เขต 19 คน พรรคที่ได้ สส.มากที่สุดคือพลังประชารัฐ 12 คน และ เพื่อไทยได้ 1 คน

 

ปัจจุบัน อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐจำนวนหนึ่งได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงบางกลุ่มก็ย้ายไปเพื่อไทย 

 

หากแกนนำเพื่อไทยประมาทกลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่ หวังแต่กระแสสถานเดียวก็อาจไม่บรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์

 

จุดแข็งอนุรักษ์นิยม

 

สำหรับฝั่งอนุรักษ์นิยม โพลทุกสำนักก็ชี้ว่า ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมนำโด่งในภาคใต้ และหากไม่มีฐานเสียงคนใต้ พรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่มีราคาในตลาดเลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งปี 2562 ภาคใต้มี สส.เขต 50 คน พรรคที่ได้ สส.มากที่สุดคือประชาธิปัตย์ 22 คน ,พลังประขารัฐ 13 คน, ภูมิใจไทย 8 คน ,ประชาชาติ 6 คน และ รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน ส่วนเลือกตั้งในปี 2566 ภาคใต้ มีจำนวน สส.เขต 60 คน

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงหวังแชร์เก้าอี้ สส.จากพรรค ปชป. ด้วยการโหนกระแสลุงตู่ เหมือนที่พลังประชารัฐทำสำเร็จเกินคาดในสมัยที่แล้ว

 

ส่วนพรรคขั้วรัฐบาลเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ก็มีจุดแข็งที่นักการเมืองบ้านใหญ่ ที่ความชำนาญในการเลือกตั้ง สส.เขต โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และอีสานใต้ 

 

คีย์แมนฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ประเมินว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะได้ประมาณ 170 เสียง พรรคก้าวไกล ก็คงได้ 50 เสียง ขณะที่ฝั่งขั้วอำนาจเก่า รวมเสียงแล้ว น่าจะเหนือกว่าขั้วฝ่ายค้านเดิม บวกด้วยเสียง สว. ก็เสนอชื่อนายกฯ ได้สำเร็จ

 

ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่ขั้วอนุรักษ์นิยมมองไม่เห็นคือ โหวตเตอร์คนรุ่นใหม่ และนิวโหวตเตอร์ ที่อาจพลิกกระดานการเมือง ด้วยการโหวตเลือกก้าวไกล ได้รับชัยชนะท่วมท้น