คอลัมนิสต์

ศึกสาววาริน ‘เปิ้ล กิตติ์ธัญญา’ สายเกรียง ประชันเด็กปั้น ‘ประภัตร’

ศึกสาววาริน ‘เปิ้ล กิตติ์ธัญญา’ สายเกรียง ประชันเด็กปั้น ‘ประภัตร’

25 เม.ย. 2566

เจาะสนามอุบลฯ เปิ้ล กิตต์ธัญญา ตัวตึงเพื่อไทย สายตรงเสี่ยเกรียง ลุยศึกสาววาริน ปะทะเด็กปั้นประภัตร โพธสุธน และทายาทสุพล ฟองงาม

ส่องสมรภูมิอุบลฯ เปิ้ล กิตต์ธัญญา ตัวตึงเพื่อไทย กลางศึกสาววาริน เจอทั้งทายาทสุพล ฟองงาม และเด็กปั้นประภัตร โพธสุธน

 

 

สีสันการเลือกตั้ง สส.อุบลฯ หนีไม่พ้นเขต 4 เมื่อสามสาวมาแข่งประชัน ทั้ง เปิ้ล กิตต์ธัญญา , แมงปอ โยธากาญจน์ และ สจ.แหม่ม ใจยา   

การเลือกตั้ง สส.อุบลราชธานี ใน 11 เขต มีหลายเขตที่มีคู่แข่งขันสุดสูสี ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย แต่ที่เขต 4 อ.วารินชำราบ มีความแตกต่างจากทุกเขต

 

เนื่องจากมี 3 นักการเมืองหญิงจากพรรคการเมืองใหญ่ ลงแข่งขัน เริ่มจากแชมป์เก่า เปิ้ล กิตติ์ธัญญา วาจาดี พรรคเพื่อไทย พร้อมผู้ท้าชิงคือ แมงปอ โยธากาญจน์ ฟองงาม พรรคภูมิใจไทย และแหม่ม ใจยา วาจาดี พรรคชาติไทยพัฒนา

 

น้องใหม่ ใจยา วาจาดี ลุยหาเสียงเต็มที่

นอกเหนือจากตัวผู้สมัคร สส.หญิงทั้งสามคน ก็ยังน่าจับตามองพี่เลี้ยงอย่าง เกรียง กัลป์ตินันท์ แม่ทัพพรรคเพื่อไทย ,สุพล ฟองงาม บิดาของแมงปอ และประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ผู้เชิญชวน สจ.แหม่ม ลงสนาม 

 

ย้อนไปการเลือกตั้งปี 2562 เขต อ.วารินชำราบ และ อ.นาเยีย เป็นการต่อสู้ของ แมงปอ โยธากาญจน์ ฟองงาม ลูกสาวสุพล พรรคพลังประชารัฐ กับ เปิ้ล กิตติ์ธัญญา วาจาดี พรรคเพื่อไทย สายตรงเสี่ยเกรียง

 

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามความคาดหมาย สจ.เปิ้ล กิตติ์ธัญญา ได้ 44,251 คะแนนชนะโยธากาญจน์ ฟองงาม ที่ได้ 24,378 คะแนน 

 

สำหรับเลือกตั้ง 66 มีการแบ่งเขตใหม่ เรียกว่าเขต 4 ประกอบด้วย อ.วารินชำราบ และ อ.สำโรง (เฉพาะ 3 ตำบล) เหมือนการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2554 เฉพาะ อ.สำโรง เป็นฐานเดิมของ สุพล ฟองงาม อดีต สส.อุบลฯ 

 

ศึกสายเลือด


    
เปิ้ล กิตติ์ธัญญา สจ.สาวสวยแห่ง อ.วารินชำราบ ได้รับการสนับสนุนจาก เกรียง กัลป์ตินันท์ และแค่เป็น สส.สมัยแรก เธอก็กลายเป็นดาวเด่น ทั้งในพรรคเพื่อไทย และสภาฯ

 

กิตติ์ธัญญา วาจาดี ได้รับเลือกเป็น ส.อบจ.อุบลราชธานี เขต อ.วารินชำราบ และทำงานการเมืองท้องถิ่นอยู่หลายปี ก่อนจะได้รับโอกาสลงสมัคร สส.แทน สุพล ฟองงาม แชมป์เก่าของเขตนี้ที่ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ

 

การเลือกตั้งครั้งใหม่ เปิ้ล กิตติ์ธัญญา อาจเหนื่อยกว่าสมัยที่แล้ว เพราะมีนักการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่ กระโดดลงสนาม แถมยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ สส.เปิ้ล

 

นั่นคือ สจ.แหม่ม ใจยา วาจาดี ส.อบจ.อุบลฯ เขต อ.วารินชำราบ ที่เพิ่งได้รับเลือกเข้าสภา อบจ.อุบลฯ สมัยแรก มีหน่วยก้านดี และทำงานเข้าตาประชาชน

 

ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทราบว่า สจ.แหม่ม ได้ทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชหลังฤดูทำนา โดยการปลูกฟักทอง และช่วยหาตลาดให้ชาวบ้าน จึงชักชวนให้ลงสมัคร สส. ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา

 

ระหว่างการมาช่วยหาเสียง ประภัตรมักจะเรียก สจ.แหม่ม ว่า สส.ฟักทอง ซึ่งในฐานะเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ทุ่มเต็มที่ เพื่อจะปักธงให้ได้

 

เฮือกสุดท้าย

 

สุพล ฟองงาม อดีตแม่ทัพอุบลฯ พรรคเพื่อไทย หลังย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็น สส.บัญชีรายชื่อ แต่ไม่สามารถอุ้มลูกสาวเข้าสภาฯได้


ตอนแรก สุพล ฟองงาม ไปร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ภายหลัง สุพลเปลี่ยนใจไปอยู่พรรคภูมิใจไทย โดยส่งลูกสาว แมงปอ-โยธากาญจน์ ฟองงาม ไปสวมเสื้อสีน้ำเงิน พร้อมกับตวงทิพย์ จินตะเวช ลูกสาว ตุ่น จินตะเวช อดีต ส.ส.อุบลฯ

 

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ สุพลทุ่มเวลาหาเสียงเคียงข้างลูกสาว ประหนึ่งลงสมัคร สส.เอง และอีกอย่างหนึ่ง เขาไม่ต้องเดินสายไปช่วยผู้สมัคร สส.คนอื่นเหมือนปี 2562

 

สุพลแอบหวังลึกๆว่า แชมป์เก่าอย่าง สส.เปิ้ล น่าจะเจอเกมตัดแต้มจาก สจ.แหม่ม และพรรคก้าวไกล ฉะนั้น โอกาสที่ลูกสาว-แมงปอ จะเป็นตาอยู่ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน