เพื่อนตายสหายศึก ‘เศรษฐา’ ซึ้งใจ ‘ณัฐวุฒิ’ อาสาทรานฟอร์มเพื่อไทย
สงครามเลือกตั้งจบ 'เศรษฐา' ซึ้งใจ 'ณัฐวุฒิ' พี่เลี้ยงระหว่างเดินสายหาเสียงทั่วไทย จับตาอดีตซีอีโอแสนสิริ รับภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรเพื่อไทย สู้ศึกสมัยหน้า
บทเรียนนักธุรกิจใหญ่ เศรษฐา มั่นใจว่าไม่แพ้แต่ก็พ่าย อดีตซีอีโอแสนสิริ เปิดเผย ณัฐวุฒิ เป็นพี่เลี้ยง เป็นคนสำคัญที่ให้กำลังใจระหว่างลุยศึกเลือกตั้ง
นับจากนี้ไป จับตา เศรษฐา รับบทแม่ทัพที่จะทรานส์ฟอร์มองค์กรเพื่อไทย เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งสมัยหน้า หากไม่ดิสรัปต์ ก็ไปไม่รอด
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2566 พรรคเพื่อไทย จัดสัมมนาประสาน กำลังใจ ก้าวเดินต่อไปเพื่อพี่น้องประชาชน ปลุกเร้าใจผู้สมัคร สส.ทั้งที่สอบได้ และสอบตก โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย รับภารกิจรีแบรนด์เพื่อไทย หรือทรานฟอร์มองค์กร เพื่อเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า
ค่ำวันเดียวกัน เศรษฐา ทวีสิน ได้ไปร่วมงานเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์ก JOURNEY TO TRANSFORM ของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ โดยเศรษฐา ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์การทรานส์ฟอร์มตัวเอง จากการเป็นผู้บริหารธุรกิจสู่การเป็นนักการเมือง
“พรรคเพื่อไทยมีครบสมบูรณ์แบบทุกอย่าง มีวิธีการจัดการเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ทั่วไป แต่เกิดเหตุใหญ่เมื่อ 14 พ.ค. หากไม่ทรานส์ฟอร์ม ครั้งถัดไปอาจจะได้แค่ 100 หรือต่ำกว่านั้นอีก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้น” เศรษฐา กล่าว
สหายร่วมรบ
3 เดือนบนเวทีการเมือง เศรษฐา ประทับใจในตัวนักการเมืองที่ชื่อ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นคนมีความรู้รอบตัวสูง เข้าใจการเมืองไทย ซึ่งเศรษฐาให้การเคารพและนับถือแกนนำ นปช.คนนี้มาก
ถ้ายังจำกันได้ วันที่ 10 มี.ค.2566 ทัวร์ภูธรทริปแรกของเศรษฐา คือการได้สัมผัสชีวิตชาวนาที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีณัฐวุฒิ เป็นพี่เลี้ยงประกบอยู่ข้างๆ ช่วงนั่งรับประทานอาหารกลางทุ่ง
“เขาช่วยและให้ความสำคัญตั้งแต่วันแรก ผมบอกเขาว่า ผมไม่เคยปราศรัยเลย เขาบอกผมว่าพี่ไม่ต้องหรอก พี่ขึ้นไปพูดคำสองคำ พอแล้ว โบกมือเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ประทับใจ มากที่สุด คือเรื่องที่ได้พบปะประชาชน พี่น้อง ซึ่งทำให้เชื่อว่าขึ้นเวทีแล้วก็ไปพูดอย่างเดียวให้คน 20,000 คนฟัง อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมือง”
เศรษฐาเล่าถึงบรรยากาศการขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่กลางแจ้งครั้งแรกที่สนามวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร ในวันที่ 11 มี.ค.2566
แม้อดีตซีอีโอแสนสิริ จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับการปราศรัยต่อหน้าผู้คนเรือนหมื่น แต่ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ก็ทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า เพื่อไทยยังติดการหาเสียงในรูปแบบเก่า เดินสายเปิดเวทีปราศรัย พูดซ้ำๆเรื่องเดิม
“แทนที่จะปราศรัยซัก 200 หน หรืออาจเป็น 76-77 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องอนาคตข้างหน้าและมีอะไรอีกหลายอย่าง ต้องทำ..” เศรษฐา สรุปบทเรียน หลังจากเห็นพรรคก้าวไกล ใช้โซเชียลหาเสียง อย่างเช่นแพลตฟอร์ม tik tok สร้างหัวคะแนนธรรมชาติ จนชนะเลือกตั้ง
จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล
ก่อนวันเลือกตั้ง มีนักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยชูนโยบายเศรษฐกิจ มุ่งเน้นแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน แต่พรรคก้าวไกล กลับเสนอนโยบายเชิงโครงสร้าง มีความชัดเจนมากกว่า
“อยากบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมือง แต่มีเรื่องของจิตใจ เรื่องของโครงสร้าง เป็นเรื่องสิทธิการประกอบอาชีพ สิทธิการ เลือกเพศสภาพ และเรื่องทั่วๆไป..” เศรษฐา คงได้ตระหนักแล้วว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ขายไม่ออก
สองสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง แกนนำเพื่อไทย ประเมินว่า ไม่น่าจะแพ้ก้าวไกล แม้โพลบางสำนักจะชี้ว่า พรรคสีส้มมีคะแนนนิยมนำพรรคสีแดง
“ตอนนั้นก็ยังมั่นใจว่า ไม่แพ้ ยังไงก็ไม่แพ้ แต่ยอมรับว่า 2 นาทีสุดท้าย เหมือนมวยยก 9 เตะจน คิ้วแตกแล้ว ตาปิดแล้ว รู้ว่าเป๋ตั้งแต่ 280 เหลือประมาณ 250 และ 230 ยังไงก็ไม่ต่ำกว่า 200 และไม่เคยคิดว่าจะแพ้ แต่พอ 4 ทุ่มจากคะแนนเราดีขึ้น เหลือเพียง 140-150”
ภารกิจใหญ่ของเศรษฐา ทวีสิน คือการรีแบรนด์พรรคเพื่อไทย คือการทรานฟอร์มองค์การเมืองอายุ 14 ปี ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล