มาก่อนก้าวไกล ‘ทักษิณ’ จับมือ ‘พันศักดิ์’ แหกด่านทุนน้ำเมาเปิด'สุราเสรี'
การเมืองเรื่องเหล้า 'ทักษิณ' หนุน 'พันศักดิ์' ปั้น 'สุราเสรี'มากับมือ ย้อนอดีตไทยรักไทย งัดเหล้าใต้ดินมาอยู่บนดิน เจอรัฐประหาร 49 สุราพื้นบ้าน ก็มีปัญหาทุนใหญ่ขวาง
การเมืองเรื่องเหล้า ทักษิณ หนุน พันศักดิ์ ปั้นสุราเสรีมากับมือ ย้อนอดีตไทยรักไทย งัดเหล้าใต้ดินมาอยู่บนดิน เจอรัฐประหาร 49 สุราพื้นบ้าน ก็มีปัญหาทุนใหญ่ขวาง
ย้อนอดีตไทยรักไทย งัดเหล้าต้มใต้ดินมาอยู่บนดิน ทักษิณ-พันศักดิ์ ร่วมคิดร่วมทำ เจอรัฐประหาร 49 สุราก็ไม่เสรี ก่อนที่ก้าวไกลจะดันกฎหมายสุราก้าวหน้าแต่ก็คว่ำกลางสภาฯ
จังหวะนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยิบจับขยับอะไรก็เป็นกระแส ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไปโผล่รายการข่าวเช้าช่อง พูดถึงสุราชุมชนแบรนด์สังเวียน ก็ทำให้เหล้าพื้นบ้านเมืองสุพรรณ ขายเกลี้ยง
กระแสสุราเสรี ติดเทรนด์กูเกิ้ล เทรนด์ทวิตเตอร์ ขนาด พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ยังแชร์หน้าเพจสุราสังเวียน แล้วโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Pansak Vinyaratn ว่า “ผลงานรัฐบาลไทยรักไทย ไม่ต้องอาย ไม่ต้องโม้ทับนะหลานๆ อยากจะทำต่อก็ว่าไป”
คนรุ่น Gen Z อาจไม่ทราบว่า ทักษิณ ชินวัตร และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นคนต้นเรื่องว่าด้วยสุราเสรี สุราพื้นบ้าน สุราชุมชน มาแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2565 ในรายการแคร์ทอล์ค ทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความเห็นเรื่องสุราเสรี หลังที่ประชุมสภาฯ โหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในวาระ 2-3 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล
“เรื่องสุราเสรี ผมทำมาก่อนตั้งแต่สมัยไทยรักไทย อาจารย์พันศักดิ์ เขามาเสนอผม พันศักดิ์นี่แหละ ตัวสร้างโอกาสให้ชาวบ้านเลย เพราะสุราพื้นบ้าน เขามีมานานแล้ว ไม่ใช่เหล้าเถื่อน..”
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ฉายา มันสมองแห่งชาติ เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เคยทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการธนาคารกรุงไทย และทำนิตยสารจัตุรัส ร่วมกับปัญญาชนก้าวหน้ายุคโน้น
ปี 2531 พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และปี 2534 ต้องไปใช้ชีวิตที่อังกฤษ เพราะมีรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาย
ปี 2544 สมัยรัฐบาลไทยรักไทย พันศักดิ์ เป็นประธานที่ปรึกษานโยบายนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายทักษิโณมิกส์
ปลดล็อกเหล้าเถื่อน
ปีที่แล้ว พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในฐานะที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ได้พูดเรื่องสุราพื้นบ้านผ่านสื่อใหม่ว่า “คุณคิดว่าจะมีประชาชนที่ไหนยอมเข้าคิวเสียภาษีล่วงหน้า ง่ายนิดเดียว เอาเหล้าต้มใต้ดินมาต้มบนดิน แล้วประชาชนจะเข้าคิวเพื่อซื้อแสตมป์สรรพสามิตมาปิดปากขวดเหล้าเพื่อขาย คุณเข้าใจความยิ่งใหญ่นี้ไหม”
ด้วยแนวคิดข้างต้นนี้ พันศักดิ์จึงนำเรื่องการนำเหล้าต้มใต้ดินมาอยู่บนดิน ไปปรึกษา หารือกับทักษิณ นายกฯสมัยนั้น
ปี 2544 รัฐบาลทักษิณ จึงมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้มีการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และ สุรากลั่น โดยมีข้อกำหนดว่า สุรากลั่นชุมชนต้องมีแอลกอฮอล์อยู่ระหว่าง 15 ดีกรี ถึง 40 ดีกรี ส่วนสุราแช่ต้องไม่เกิน 15 ดีกรี
ช่วงปี 2545-2547 มีโรงงานสุราชุมชนเกิดขึ้นมากมาย มีผลิตภัณฑ์สุรา ทั้งสุราแช่ สุราหมัก ไวน์ และอื่นๆ ติดป้ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตออกมาวางขายกันอย่างครึกครื้น
ดับฝันสุราเสรี
หากไม่เกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ สุราพื้นบ้าน คงมีการพัฒนาไปไกลกว่านี้ ดังจะเห็นได้จากสมัยหนึ่ง รัฐบาลไทยรักไทย ได้จัดงานมหกรรมสุราไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 6-10 ก.ย.2545 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสุราไทย
นอกจากนี้ ยังดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 4) และประกาศกรมสรรพสามิต ทำให้มีการผ่อนปรนกฏระเบียบต่างๆ ในการขอใบอนุญาตการผลิตและการจำหน่ายสุรา
หลังรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนสุราพื้นบ้าน มีการออกกฎหมายกีดกันในเรื่องของมาตรฐานการผลิต อ้างความปลอดภัยของผู้บริโภค ความปลอดภัยของชุมชนในกรณีน้ำเสีย รวมไปถึงเงื่อนไขที่ยากลำบากในการเริ่มธุรกิจสุราชุมชน
ข้อมูลปี 2558 พบว่า กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสุราทั้งหมด 112,000 ล้านบาท แต่เป็นภาษีจากสุราจากชุมชนเพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็น 1.3% ของภาษีสุราที่เก็บได้ นั่นหมายความว่า ตลาดสุราไทยในปัจจุบันนั้นยังอยู่ภายใต้อำนาจของนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม