คอลัมนิสต์

ส่องชายแดนใต้ร้อน ‘วันนอร์’ ชูธงพหุวัฒนธรรม ‘บ้านใหญ่’ ไม่มีวันตาย

ส่องชายแดนใต้ร้อน ‘วันนอร์’ ชูธงพหุวัฒนธรรม ‘บ้านใหญ่’ ไม่มีวันตาย

09 มิ.ย. 2566

ชายแดนใต้ในสถานการณ์ร้อน วันนอร์ ชูธงพหุวัฒนธรรม บ้านใหญ่เมืองนรา ยังมีที่อยู่ที่ยืน ส่วนตัวแทน 8 พรรคร่วมรัฐบาล ไม่เอาประชามติแยกดินแดน

ส่องคนการเมืองชายแดนใต้ วันนอร์ โดดเด่นเหนือปลายด้ามขวาน กลุ่มบ้านใหญ่ เมืองนรา สงบนิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนว่าด้วยประชามติแยกดินแดน


พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติและพรรคเป็นธรรม กำลังขับเคลื่อนว่าด้วยเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี แต่ฝ่ายความมั่นคงก็เฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด
 

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นับวันยิ่งโดดเด่นในฐานะนักการเมืองอาวุโส ผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และประชาชนเป็นกำหนดอนาคตของประเทศ


อีกด้านหนึ่งมีกิจกรรมเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง(Self Determination) กับสันติภาพปาตานี ซึ่งมีการจัดพิมพ์บัตรเพื่อร่วมแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียล ในประเด็นให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย


อย่างไรก็ตาม วันที่ 9 มิ.ย. 2566 คณะทำงาน 8 พรรคร่วมรัฐบาล ได้จัดประชุมของคณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาล ว่าด้วยเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ซึ่งได้มีการแถลงว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแบ่งแยกดินแดนของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ และยังไม่ยุบ กอ.รมน. 

 

 

ตัวแทน 8 พรรคร่วมรัฐบาล แถลงไม่เห็นด้วยแบ่งแยกดินแดน

 


สำหรับการเลือกตั้ง สส.เมื่อ 14 พ.ค.2566 สมรภูมิ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผลปรากฏว่า พรรคประชาชาติ ครองแชมป์ ได้ 7 ที่นั่ง , พรรคพลังประชารัฐ รองแชมป์ 3 ที่นั่ง ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ได้พรรคละ 1 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 13 ที่นั่ง

พรรคก้าวไกล ไม่ได้ สส.เขต แต่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 รองจากพรรคประชา ชาติ ทั้ง 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ได้ 72,621 คะแนน, ยะลา ได้ 66,386 คะแนน และนราธิวาส ได้ 85,742 คะแนน


ที่น่าสนใจ รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ กัณวีร์ สืบแสง  เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ คือตัวละครหลักของฝั่งว่าที่รัฐบาลก้าวไกลในกระบวนการสันติปาตานี

 


พรรคเชิงอุดมการณ์
พรรคประชาชาติ ภายใต้การนำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ได้สลัดภาพกลุ่มวาดะห์ สร้างพรรคใหม่ที่เน้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการทหาร จึงครองแชมป์ชายแดนใต้ ติดต่อกัน 2 สมัย


การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาชาติ กวาดเก้า สส.ยะลา 3 ที่นั่ง, ปัตตานี 3 ที่นั่งและนราธิวาส 1 ที่นั่ง บวกกับ สส.บัญชีรายชื่ออีก 2 ที่นั่ง รวม 9 ที่นั่ง 


เฉพาะที่สนามยะลา ถือว่าเป็นพื้นที่บ้านใหญ่ของตระกูลมะทา ซึ่งกลุ่ม สส.ชายแดนใต้เคยรุ่งโรจน์ สมัยรัฐบาลชวลิต และรัฐบาลทักษิณ ในชื่อกลุ่มวาดะห์


ที่ผ่านมา วันนอร์ไม่เคยชนะเลือกตั้งแบบยกจังหวัดที่ยะลา แต่ครั้งนี้ในสีเสื้อประชาชาติ กวาด 3 ที่นั่งคือเขต 1 สุไลมาน บือแนปีแน ,เขต 2 ซูการ์โน มะทา และเขต 3 อับดุลอายี สาแม็ง 

 

 

บ้านใหญ่ยืนยง
สมรภูมิปลายด้ามขวาน มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ สส.บ้านใหญ่ ยังมีที่อยู่ที่ยืน คนในพื้นที่ให้ความสำคัญเรื่องตัวบุคคล มากกว่าพรรค 


อย่างเช่น นัจมุดดีน อูมา อดีต สส.นราธิวาส และอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ ที่แยกตัวมาจากพรรคประชาชาติ โดยอาสาเป็นแม่ทัพให้พรรคภูมิใจไทย และตัวเขาลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ


แม้พรรคภูมิใจไทยจะโดนต้านเรื่องกัญชา แต่ที่เขต 4 นราธิวาส ซาการียา สะอิ ค่ายสีน้ำเงิน ก็เอาชนะ กูเฮง ยาวอหะซัน อดีต สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ไปได้


ส่วนบ้านใหญ่สุไหง-โกลก สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ และน้องชาย อามินทร์ มะยูโซ๊ะ ก็ได้เป็นว่าที่ สส.นราธิวาส สังกัดพรรคพลังประชารัฐ


มินับทายาทบ้านใหญ่เมืองนราฯ วัชระ ยาวอหะซัน ก็ได้เป็นว่าที่ สส.นราธิวาส อีกสมัยในสีเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ


มองผลการเลือกตั้ง สส.ปลายด้ามขวาน ดูจะสวนทางกับข้อเสนอที่สุดโต่งของคนบางกลุ่ม เหมือนที่นักการเมืองคนหนึ่งบอกว่า ประชามติแบ่งแยกดินแดน ยังเป็นเรื่องห่างไกล