คอลัมนิสต์

สอนมวยรุ่นน้อง ‘เฉลิม’ หนุน ‘อดิศร’ สะท้อนพลังบ้านใหญ่

สอนมวยรุ่นน้อง ‘เฉลิม’ หนุน ‘อดิศร’ สะท้อนพลังบ้านใหญ่

22 มิ.ย. 2566

มาแล้วขุนศึกฝั่งธน เฉลิม หนุนอดิศร สะท้อนภายในเพื่อไทย ซุ้มบ้านใหญ่ ไม่วางใจคนในพรรคบางกลุ่มเอาใจสีส้ม ไม่หวั่นด้อมส้มถล่มบ้านริมคลอง

เสียงจากบ้านริมคลอง เฉลิม เดินหน้าหนุนอดิศร ชนก้าวไกล สะท้อนภายในเพื่อไทย ซุ้มบ้านใหญ่ ไม่วางใจคนในพรรคบางกลุ่มเอาใจสีส้มเกินเหตุ


ขุนศึกฝั่งธน เฉลิม รู้ว่าทัวร์ลงลูกน้องเก่าอดิศรหนัก จึงชิงเปิดประเด็นสอนมวยเด็กรุ่นใหม่ มีข้อน่าสังเกต ประมุขบ้านริมคลอง ไม่แตะกรณีสุชาติ ตันเจริญ
 

ช่วงบ่ายวันที่ 22 มิ.ย.2566 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เดินทางมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยแยกตัวมาคนเดียว ไม่ได้ร่วมขบวนมากับ สส.เพื่อไทยกลุ่มใหญ่


เช่นเดียว อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ ที่มารายงานตัวแต่เช้าเพียงลำพัง หลังเจอทัวร์ลง จากกรณีแสดงความเห็นเรื่องตำแหน่งประธานสภา ต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย และพาดพิงพรรคก้าวไกลว่า เป็นพระบวชใหม่ ไม่เหมาะนั่งเก้าอี้ประธานสภา


ร.ต.อ.เฉลิม น่าจะรับรู้ว่า มีทัวร์ด้อมส้มตามไปถล่มหมอแคนอดิศร จึงเปิดประเด็นให้สัมภาษณ์ด้วยเรื่องคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทำนองว่า อย่าดูแคลนคนรุ่นเก่าเป็นยาหมดอายุ และต้องเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นต่าง ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็พาทัวร์มาลง
 

จากนั้น ขุนศึกฝั่งธน วัย 70 กว่าปี ก็ร่ายยาวประเด็นตำแหน่งประธานสภาว่า “..อย่าพูดว่า ประธานสภาเป็นของพรรคของผม หรือของพรรคไหน..ทำให้คนสับสน เขาเป็นประธานของสภา ประธานรัฐสภาเป็นของทุกพรรค ไม่ใช่ของผม จะเอาแต่พรรคผม การเสนอกฎหมาย คนเดียวกฎหมายก็ไม่ผ่าน ซึ่งที่พูดมานั้นโง่” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว


แกะรอยจากการเคลื่อนไหวของภูมิธรรม เวชยชัย สอดประสานกับอดิศร เพียงเกษ จนมาถึง ร.ต.อ.เฉลิม เหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังแกนนำพรรคเพื่อไทยบางกลุ่ม ที่กำลังเจรจากับพรรคก้าวไกลว่า อย่าโอนอ่อนผ่อนตามพรรคอันดับ 1 มากเกินไป 

 

 

เสียงสะท้อนบ้านใหญ่
สไตล์ถึงลูกถึงคนแบบ เฉลิม อาจมองว่าเป็นการเมืองเก่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า กว่าร้อยละ 80 ของ สส.เพื่อไทย เป็นนักการเมืองบ้านใหญ่ หรือไม่ก็วงศาคณาญาติ 


“เล่นการเมืองต้องเล่นให้เป็น ถ้าผมไปเห็นนายพิธาดีกว่าคนของพรรคเพื่อไทย ผมก็ไม่ใช่เฉลิม อยู่บำรุง” คำพูดประโยคนี้ของ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องการกระทบชิ่งไปถึงใครบางคน ที่เพิ่งเล่นการเมือง และเข้ามาสังกัดพรรคเพื่อไทยได้ไม่นาน


เช่นเดียวกัน หมอแคนอดิศร ไม่ใช่นักการเมืองบ้านใหญ่ แต่สิ่งที่เขาพูด มันโดนใจ สส.อีสานเพื่อไทยโดยส่วนใหญ่ ซึ่งนักวิชาการสายสีส้มมักเรียกพวกเขาว่า นักเลงภูธร


ความปราชัยของเพื่อไทย ไม่ใช่แค่เรื่องกระแสสีส้มอย่างเดียว หากแต่มีเหตุปัจจัยภายในเรื่องการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของแกนนำพรรค และการไม่ทุ่มทรัพยากรเพื่อการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้สมัคร สส.ต่างจังหวัด สอบตก


ประเด็นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ค้างคาใจคนเก่าแก่เพื่อไทย และพวกเขาไม่กล้าพูด กล้าวิจารณ์เพราะกลัวทัวร์ลง จึงหนุนอดิศร ออกมาเป็นตัวชน 


ในฐานะลูกพี่เก่า ร.ต.อ.เฉลิม ทนเห็นเสี่ยตุ๊ อดิศร น้องรัก เจอด้อมส้มรุมสกรัมไม่ไหว จึงต้องออกมาสั่งสอนนักการเมืองรุ่นลูกให้รู้ซะบ้างว่า ไผเป็นไผ

 

 

อดีตลูกพี่-ลูกน้อง
คอการเมืองคงรู้ดีว่า เฉลิม เป็นผู้ปั้น อดิศร มาจากนักการเมืองบ้านนอก จนกลายเป็นดาวสภา และได้ดิบได้ดีเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง


เริ่มจาก อดิศร เพียงเกษ ลูกชายทองปักษ์ เพียงเกษ กระโดดลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่น สังกัดพรรคแรงงานประชาธิปไตย ปี 2526 แต่สอบตก ก่อนจะย้ายมาพรรคสังคมประชาธิปไตย ก็ยังไปไม่ถึงสภา

 

 

อดิศร สมัยเป็น สส.ขอนแก่น สมัยแรก พรรคมวลชน

 


การเลือกตั้ง ส.ส.ขอนแก่น ปี 2531 อดิศร ลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่น ในสีเสื้อพรรคมวลชน ร.ต.อ.เฉลิม ทุ่มเต็มกำลัง จนหมอแคนหนุ่มได้เป็น สส.สมัยแรก


ช่วง ร.ต.อ.เฉลิมและครอบครัวหนีไปเดนมาร์ก อดิศรก็ยังเฝ้าพรรคมวลชนอยู่ กระทั่ง เฉลิมกลับเมืองไทย และนำพรรคลงสนามเลือกตั้ง 2535/1 อดิศรลงสนามขอนแก่นอีกรอบ คราวนี้สอบตก


เลือกตั้ง 2535/2 อดิศรลาพรรคมวลชนไปซบมหาจำลอง และนำทีมพลังธรรมชนะเลือกตั้ง สส.ขอนแก่น ยกเขต 3 คน ได้บำเหน็จเป็น รมช.ศึกษาฯ ถือว่าโชคดีมาก 


ปี 2538 หมอแคนอดิศร ย้ายไปอยู่พรรคนำไทย และปี 2539 ย้ายอีกรอบไปอยู่พรรคความหวังใหม่ ก่อนที่จะมาสังกัดพรรคไทยรักไทย


หลังรัฐประหาร 2549 หมอแคนอดิศร ต้องเว้นวรรคการทำหน้าที่ สส.ไปนานถึง 17 ปี จึงได้เข้าสภาอีกครั้งในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย