เข้าสภาแล้ว ‘สส.ล้มช้าง’ เปิดเคล็ดลับ ‘เพื่อไทรวมพลัง’ โค่นแชมป์เก่า
ผู้สร้างปรากฏการณ์ สส.ล้มช้าง จากเมืองอุบลฯ พิมพกาญจน์-สมศักดิ์ ค่ายเพื่อไทรวมพลัง เข้าสภาแล้ว พบทั้งคู่เป็นคนเด่นในพื้นที่ มีฐานเสียงแน่น น้ำเลี้ยงดี
มาแล้วผู้แทนป้ายแดง สส.ล้มช้าง จากเมืองดอกบัวบาน พิมพกาญจน์-สมศักดิ์ ค่ายเพื่อไทรวมพลัง เผยเคล็ดแห่งชัยชนะคือ คนเด่น-กองหนุนดี-มีน้ำเลี้ยง
ช่วงการเปิดรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา มี สส.ทยอยมารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้แทนป้ายแดงอย่าง พิมพกาญจน์ พลสมัคร สส.อุบลราชธานี เขต 3 และ สมศักดิ์ บุญประชม สส.อุบลราชธานี เขต 10
หลายคนคงจำได้ ผลการเลือกตั้ง สส.อุบลฯ เมื่อ 14 พ.ค.2566 ได้สร้างปรากฏการณ์ล้มช้าง และการแจ้งเกิดของพรรคการเมืองหน้าใหม่ชื่อ เพื่อไทรวมพลัง
ตอนนี้ สื่อมวลชนรู้จัก กังฟู-วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง ในฐานะแกนนำ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่หนุน พิธา เป็นนายกฯ
ผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะระดับตำนานของเมืองอุบลฯ คือ สมศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล และจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล อดีต สส.นครราชสีมา เจ้าของโรงงานแป้งมันเอี่ยมอุบล
จุดเริ่มต้นของพรรคเพื่อไทรวมพลัง มาจาก สมศักดิ์ และมาดามกบ จิตรวรรณ อยากสร้างพรรคในแนวทางของคนท้องถิ่น ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย แก้ปัญหาได้รวดเร็ว และเป็นพรรคที่มีจุดยืนอยู่ข้างคนเล็กคนน้อย คนด้อยโอกาส ไม่ใช่พรรคแบบนายทุน
ดังนั้น พรรคเพื่อไทรวมพลัง จึงก่อรูปขึ้นมาจากเครือข่ายเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่มีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยตอนแรกการออกแบบพรรค เพื่อรองรับการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว สูตรหาร 500
เมื่อโจทย์การเมืองเปลี่ยน กลายเป็นบัตร 2 ใบ หาร 100 จึงเน้นการส่งผู้สมัคร สส.เขตโดยเลือกที่ จ.อุบลฯ ทำการคัดเลือกผู้สมัคร สส.ที่มีจุดเด่นเฉพาะตัวคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ทำงานสังคม ติดพื้นที่มาโดยตลอด มีการทำโพลสำรวจในพื้นที่ สุดท้ายได้ผู้สมัคร สส.ตามเป้าหมายเพียง 2 เขต
ที่ขาดไม่ได้ พรรคเพื่อไทรวมพลัง ได้ทีมงานมืออาชีพ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมาทำสำรวจความนิยมตลอดช่วงเลือกตั้ง พร้อมกับทีมโปรดิวเซอร์ที่มาออกแบบคอนเทนท์ และนักรบไซเบอร์ เสริมกลยุทธ์แอร์วอร์ จนมีกระแสความนิยมพุ่งในเขตเลือกตั้งทั้งสองเขต
สจ.ขวัญใจไทบ้าน
ตอนที่ สจ.หน่อย พิมพกาญจน์ พลสมัคร ลงสมัคร สส.อุบลฯ เขต 3 ต้องแข่งกับชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ อดีต สส.อุบลฯ 9 สมัย จะมีใครบ้างว่า เธอจะล้มแชมป์หลายสมัยได้
หน่อย-พิมพกาญจน์ เป็น ส.อบจ.อุบลฯ เขต อ.ม่วงสามสิบ 3 สมัย ก่อนจะได้รับเลือกเป็นประธานสภา อบจ.อุบลราชธานี จึงเป็นต้นทุนในการดำเนินงานการเมืองระดับชาติ
ด้วยบุคลิกการทำงานแบบใจถึงใจ สจ.หน่อย ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ งานเกิดแก่ เจ็บตาย ต้องเห็นหน้า สจ.หน่อย รวมถึงการเป็นสายบุญ เดินสายทำบุญกับชุมชน สร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ และเป็นแกนนำเครือข่ายสตรีในอำเภอม่วงสามสิบ ที่เข้มแข็งมาก
ดังนั้น กลุ่มคนสูงอายุและกลุ่มคนพิการ จึงเป็นจิตอาสาเดินสายช่วยหาเสียงและเป็นอาสาสมัครให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
เสี่ยใหญ่ใจบุญ
สำหรับ เสี่ยเซียง-สมศักดิ์ บุญประชม ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นักข่าวบางสำนักในท้องถิ่นวิเคราะห์ว่า เสี่ยเซียงไม่มีทางจะเอาชนะสมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทยได้แน่นอน แต่เสี่ยงเซียงก็ดังไปทั้งประเทศ เมื่อโค่นดาวสภาเมืองอุบลฯลงได้
เสี่ยเซียง มีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลลำปางก่อ สร้าง (ศรีสมหวัง) และเป็นคนใจบุญแห่ง อ.น้ำยืน ที่ได้ก่อตั้งชมรมคนรักน้ำยืน เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือสังคม และชุมชน
จะว่าไปแล้ว เสี่ยเซียงก็เหมือนผู้แทนนอกสภา เพราะได้ยื่นมือเข้าไปช่วยสร้างถนนหนทาง ซ่อมแซมสาธารณะประโยชน์ที่ชำรุดทรุดโทรม พร้อมกับสร้างสนามกีฬา สนับสนุนอุปกรณ์กีฬา รวมทั้งจัดแข่งขันกีฬาเยาวชนระดับตำบล ระดับอำเภอ ล้อไปตามงานบุญประเพณีประจำปี
ที่ได้ใจชาวบ้านสุดๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลชัตดาวน์พื้นที่ทุกหมู่บ้าน ไม่มีใครกล้าเดินทางออกจากบ้าน เพราะกลัวติดเชื้อ แต่เสี่ยเซียงกลับเดินสายแจกเครื่องยังชีพ อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วย แจกจ่ายแอลกอฮอล์และเวชภัณฑ์ให้ชาวบ้าน
นอกจากนี้ เสี่ยเซียง ถือเป็นต้นคิดนำเครื่องจักรมาออกแบบขุดบ่อทำธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นคนแรกๆ เป็นผู้สร้างรูปแบบการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง
คนเมืองหลวงอาจแปลกใจที่ สมคิด เชื้อคง ดาวสภาสอบตก แต่ชาว อ.น้ำยืน พูดเป็นเสียงเดียวว่า สมควรแพ้ และไม่ประหลาดใจที่เสี่ยเซียงได้ถึง 6 หมื่นแต้ม