คอลัมนิสต์

บทเรียนงูเห่า ‘อนุทิน’ รู้กระแสคนทิ้ง ‘ทักษิณ’ ร่วงเป็นแถว

บทเรียนงูเห่า ‘อนุทิน’ รู้กระแสคนทิ้ง ‘ทักษิณ’ ร่วงเป็นแถว

26 มิ.ย. 2566

มาดใหม่ค่ายสีน้ำเงิน อนุทิน หมดยุคงูเห่า ตัดกลับไปที่สนามเลือกตั้ง อดีต สส.ที่ย้ายจากเพื่อไทยมาอยู่ภูมิใจไทย สอบตกเกลี้ยง เหตุกระแส ตีกลับทิ้งนายใหญ่

ออกตัวแรง อนุทิน หมดยุคงูเห่า ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ตัดกลับไปที่สนามเลือกตั้ง อดีต สส.ทิ้ง ทักษิณ ไปสวมเสื้อสีน้ำเงิน พ่ายเรียบ


เที่ยวนี้ ภูมิใจไทย กวาด สส.อีสาน มาได้มากที่สุด 35 ที่นั่ง มี สส.หน้าใหม่เพียบ แต่อดีต สส.หลายสมัย สอบตก เพราะกระแสตีกลับ เหตุทิ้งนายใหญ่
 

วันที่ 26 มิ.ย.2566 อนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นำทีม สส.เดินทางมารายงานตัวที่อาคารรัฐสภา และหนีไม่พ้นจะต้องตอบคำถามเรื่องการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย


ประเด็นร้อนที่สุดก็คือ ข่าวการซื้องูเห่า จ่ายค่าตัว สส.คนละ 100 ล้าน ซึ่งเสี่ยหนู ตอบกึ่งทีเล่นทีจริง หากมีการซื้อจริง มูลค่า 6,000 ล้านบาทว่า “คนรับก็ยังเป็นงูเห่า คนจ่ายเป็นอะไรที่มีสองเขา คงไม่มีคนจ่าย มีแต่ควายจ่าย”


การเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 3 คน และ สส.แบ่งเขต 68 คน แยกออกเป็นภาคอีสาน 35 คน, ภาคกลาง 13 คน,ภาคใต้ 12 คน,ภาคเหนือ 3 คน,ภาคตะวันตก 3 คน และภาคตะวันออก 2 คน 


เที่ยวนี้ ค่ายสีน้ำเงิน ประสบความสำเร็จในสมรภูมิเลือกตั้งภาคอีสาน ในจำนวน สส. 35 คน พบว่าเป็น สส.ใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ อดีต สส.หลายสมัย สอบตกระนาว รวมทั้งกลุ่มที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย


ถ้ายังจำกันได้ กลางปีที่แล้ว มีอดีต สส.บ้านใหญ่ศรีสะเกษ ได้ย้ายจากเพื่อไทย ไปสังกัดภูมิใจไทย ทำให้คนแดนไกล สั่งให้ลูกสาว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นำครอบครัวเพื่อไทยไปจัดกิจกรรมไล่หนูตีงูเห่าที่ จ.ศรีสะเกษ 

บ้านใหญ่สุดช้ำ
สนามเลือกตั้ง สส.ศรีสะเกษ ถูกจับตามองมากที่สุด เมื่อ 2 บ้านใหญ่คือ ตระกูลไตรสรณกุล และแซ่จึง อำลาเพื่อไทยมาอยู่ภูมิใจไทย จึงเกิดยุทธการไล่หนูตีงูเห่า อันอึกทึกครึกโครม


ผลการเลือกตั้ง สส.ศรีสะเกษ สะท้อนความล้มเหลวของบ้านใหญ่ในเสื้อสีน้ำเงิน เริ่มจากเขต 9 ปวีณ แซ่จึง อดีต สส. 9 สมัย พ่ายหน้าใหม่เพื่อไทย นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร เจ้าของทีมลูกหนังสโมสรราษีไศล ยูไนเต็ด


เขต 4 (อ.กันทรลักษณ์) อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต สส.ศรีสะเกษ พ่ายคู่ปรับเก่า นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ที่ไม่ได้เข้าสภามา 17 ปี หนนี้ได้สวมเสื้อเพื่อไทย ก็ได้เป็น สส.

 

อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ มีบทเรียนสำคัญ พ่ายเพื่อไทย


เขต 5 (อ.ขุนหาญ) ธีระ ไตรสรณกุล อดีต สส.ศรีสะเกษ 4 สมัย แพ้ อมรเทพ สมหมาย อดีต สส.ศรีสะเกษ ที่แพ้แล้วแพ้อีก เที่ยวนี้ย้ายมาเพื่อไทย ก็ประสบความสำเร็จ


เช่นเดียวกับนครราชสีมา เขต 16 สุชาติ ภิญโญ อดีต สส.นครราชสีมา ทิ้งเพื่อไทยมาอยู่ภูมิใจไทย ก็พ่าย พรเทพ ศิริโรจนกุล หลานเขยกำนันป้อ พรรคเพื่อไทย


อุดรธานี เขต 7 จักรพรรดิ ไชยสาส์น อดีต สส.อุดรฯ ในสีเสื้อภูมิใจไทย พ่าย ธีระชัย แสนแก้ว พรรคเพื่อไทย ซึ่งสองสมัยที่แล้ว ธีระชัย สวมเสื้อสีน้ำเงินลงสนาม แพ้ตลอด จึงย้ายมาสวมเสื้อสีแดง

 

 

แบรนด์นี้ขายยาก
ในภาคเหนือ พรรคภูมิใจไทย ได้ สส. 3 คน จากสนามพิจิตร ส่วนที่สนามอื่น สอบตกหมด เหมือนการเลือกตั้งปี 2554 และ 2562


เชียงราย เขต 4 (อ.เทิง) รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีต สส.เชียงราย 4 สมัย ย้ายจากเพื่อไทย มาอยู่ภูมิใจไทย แพ้คนหน้าใหม่ เทอดชาติ ชัยพงษ์ พรรคเพื่อไทย 


พิษณุโลก เขต 4 (อ.บางระกำ) นิยม ช่างพินิจ อดีต สส.พิษณุโลก 5 สมัย ที่ถอดเสื้อแดงมาสวมเสื้อสีน้ำเงิน พ่าย พิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ อดีต สจ.เขต อ.บางระกำ พรรคเพื่อไทย


กล่าวโดยสรุป อดีต สส.ที่ย้ายจากเพื่อไทย ไปสังกัดภูมิใจไทย สอบตกหมด และพ่ายแพ้แก่ผู้สมัคร สส.เพื่อไทย รวมถึง พรพิมล ธรรมสาร อดีต สส.ปทุมธานี ที่สวมเสื้อสีน้ำเงิน พ่ายเด็กใหม่เสื้อสีส้ม ที่เขต 7 ปทุมธานี


มินับรวมอดีต สส.ที่ย้ายจากพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ประมาณ 10 คน ก็แพ้การเลือกตั้งหมด