คอลัมนิสต์

อีสานเดือด ‘อดิศร’ สะท้อนภาพซุ้ม ‘เพื่อไทย’ เสี่ยงบ้านแตก

อีสานเดือด ‘อดิศร’ สะท้อนภาพซุ้ม ‘เพื่อไทย’ เสี่ยงบ้านแตก

27 มิ.ย. 2566

อีสานบ้านใหญ่หลายซุ้ม อดิศร ขยับ ประยุทธ์ รับลูกลุยศึกชิงประธานสภา เพื่อไทยป่วน สส.ภาคอื่นนิ่ง รอแบ่งเค้ก ท่ามกลางข่าวลือโหวตลับ

อีสานป่วน อดิศร แตะมือ ประยุทธ์ ลุยศึกชิงประธานสภา หากแกนนำเพื่อไทย ยอมถอยให้ก้าวไกล ในกระแสข่าวลือโหวตลับ เสี่ยงแตกหัก


สส.เพื่อไทย ภาคอื่นนิ่งเงียบ มีเพียงกลุ่ม สส.อีสาน ที่ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว เนื่องจากภาคนี้ มี สส.เขตมากที่สุด และหลายก๊กหลายก๊วน 
 

หลังจาก อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาทวงเก้าอี้ประธาน สภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งนี้ยกให้ก้าวไกลไม่ได้


ล่าสุด ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาวิจารณ์การทำงานของคณะเจรจาพรรคเพื่อไทย ที่ไม่นำปัญหาประธานสภา เข้ามาปรึกษาหารือกับ สส. โดยพรรคก้าวไกลจะได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง


กรณีที่จะมีการเลือกประธานสภา ในวันที่ 4 ก.ค. 2566 หากเพื่อไทยเจรจากับก้าวไกลแล้วตกลงกันได้ โดยก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภา เพื่อไทยจะเกิดโหวตแตกหรือเสียงแตกหรือไม่


เนื่องจากการเลือกประธานสภา ให้ทำเป็นทางลับ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 120 ระบุในการลงมติเพื่อเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งให้ทำเป็นการลับ ยกเว้นที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น 
 

“เมื่อลับแล้วจะบอกว่าเหมือนกันเลยหรือไม่ ไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ เพราะจับมือใครดมไม่ได้” ประยุทธ์ กล่าวอย่างไม่มั่นใจว่า เสียงเพื่อไทยจะเป็นเอกภาพ ถ้ากรณีโหวตประธานสภา ที่มีการเสนอชื่อตัวแทนจากก้าวไกล


ความวุ่นวายในพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะภายในพรรคเต็มไปด้วยนักเลือกตั้งเจนสังเวียน ศูนย์รวมบ้านใหญ่ระดับท้องถิ่น แม้จะมีคนหน้าใหม่ แต่ก็เป็นทายาทนักเลือกตั้ง 


ต้องยอมรับว่า สส.เขต พรรคเพื่อไทย 112 คน ส่วนใหญ่เป็น สส.ภาคอีสาน 73 คน รองลงมาคือ สส.ภาคเหนือ 25 คน ส่วน สส.ภาคกลาง 13 คน และมี สส.เมืองหลวง 1 คน 


ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวของ อดิศร และประยุทธ์ กรณีประธานสภา ก็เหมือนตัวแทนหมู่บ้าน ซึ่งขาใหญ่ภาคเหนือรายหนึ่งมองว่า เป็นพวกแถวสองแถวสาม มาเคลื่อนไหวต่อรองตำแหน่งในพรรค

 

 

ซุ้มอีสานโสตาย
ในจำนวน สส.อีสาน 73 คน ต่างก็มีก๊กก๊วนแยกย่อยกันไป ไม่ได้รวมศูนย์เป็นกลุ่มเดียวเหมือนซุ้มเหนือ หรือซุ้มเมืองหลวง  


การขยับรับลูกกัน ระหว่าง ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ,อดิศร เพียงเกษ และสุทิน คลังแสง ซึ่งทั้งสามต่างเป็น สส.บัญชีรายชื่อ โซนอีสานกลาง


สำหรับ สส.เพื่อไทย โซนอีสานกลาง 3 จังหวัด มีจำนวน 16 คน ได้แก่ มหาสารคาม 5 คน ,ขอนแก่น 6 คน และร้อยเอ็ด 5 คน 


นอกจากนี้ ยังมี สส.โซนอีสานเหนืออีกหลายจังหวัด อย่างหนองบัวลำภู 3 คน, เลย 3 คน, กาฬสินธุ์ 4 คน, นครพนม 2 คน และสกลนคร 5 คน โดย สส.เหล่านี้ต่างเป็นเอกเทศ เช่น เดียวกับโซนอีสานใต้ 2 จังหวัดอย่างชัยภูมิ 3 คน และสุรินทร์ 3 คน ก็ไม่ได้ขึ้นต่อซุ้มไหน


จะว่าไปแล้ว ซุ้มเล็กซุ้มน้อยเหล่านี้ อาจถูกดึงไปเข้ากลุ่มก๊วนใหญ่ในพรรค หรือแม้แต่อาจมีผู้ยื่นข้อเสนอใหม่ๆ มาจากนอกพรรค

 

 

กลุ่มบ้านใหญ่อีสาน
มีข้อสังเกตว่า กลุ่มบ้านใหญ่อีสาน 2-3 กลุ่ม ไม่เคลื่อนไหวอะไรมากนัก อีกอย่างหัวหน้ากลุ่มบ้านใหญ่ มีตำแหน่งใหญ่ในพรรค จึงไม่จำเป็นต้องส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย


อย่างกลุ่มโคราช นำโดยกำนันป้อ-วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เจ้าของแป้งมันเอี่ยมเฮงและประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อ มี สส.เขตในซุ้ม 12 คน


นัยว่า กลุ่มนี้มีการต่อรองในพรรคสูงมาก และรายงานข่าวบางกระแส ระบุว่า มีการแยกออกเป็น 2 ซุ้มคือ ซุ้มประเสริฐ กับซุ้มกำนันป้อ เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี


กลุ่มอุบล-ศรีสะเกษ โดย เกรียง กัลป์ตินันท์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มี สส.อุบล,ศรีสะเกษ และยโสธร รวม 11 คน เป็นขุมกำลัง และเป็นที่รู้กัน เกรียง เป็นสายตรงเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ บ้านแจ้งวัฒนะ


กลุ่มนครอุดร ที่มี วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี และศราวุธ เพชรพนมพร ลูกเขย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นแกนนำ มี สส.อุดรฯ 7 คน หนองคาย 2 และบึงกาฬ 1 คน แม้ตัวศราวุธเอง จะสอบตก แต่พี่สาว หทัยรัตน์ เพชรพนม ก็ได้เป็น สส.อุดรฯ เขต 2 


สภาพการณ์หลายก๊กหลายก๊วนในกลุ่ม สส.อีสาน จึงเต็มไปด้วยข่าวลือดีลลับและการแสวงหา “มือ” เพื่อโหวตประธานสภา และนายกฯตามสูตรรัฐบาลพลิกขั้ว