คอลัมนิสต์

ชาติทหารเสือ ‘ประยุทธ์’ วางมือไม่วางม็อบ ‘พิธา’ ปลุกส้มสู้อธรรม

ชาติทหารเสือ ‘ประยุทธ์’ วางมือไม่วางม็อบ ‘พิธา’ ปลุกส้มสู้อธรรม

13 ก.ค. 2566

ถอดหัวโขนการเมือง ประยุทธ์ ยังมีภารกิจความมั่นคง ในวันที่ พิธา เจอแผนปิดทางฝัน ก้าวไกลเสี่ยงถูกยุบพรรค นี่คือไฟต์บังคับ นิติสงครามปะทะสงครามมวลชน

วางมือการเมือง ประยุทธ์ ยังมีหัวโขนนายกฯ ดูแลความมั่นคง ในวันที่ พิธา เจอแผนปิดทางฝัน ก้าวไกลเสี่ยงถูกยุบ ม็อบส้มทะลักลงท้องถนน 


เหมือนฉายหนังเก่าซ้ำเดิมอีกรอบ นิติสงครามปะทะสงครามมวลชน ประยุทธ์ เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญม็อบ เพียงแต่เปลี่ยนจากแดงเป็นส้ม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวางมือทางการเมือง เท่ากับถอยตัวเองออกจากเกมชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ลดการเผชิญหน้ากับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่จะหนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ


พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคดีพิธาหาเสียงแก้ไข ม.112 หลังมีการร้องศาลว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่ และคดีถือหุ้นสื่อ ที่ กกต.ส่งมา ศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องในทางธุรการแล้ว


เพียงด้อมส้มทราบข่าวดังกล่าว ก็มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จัดการชุมนุมประท้วงและเตรียมตัวลงสู่ท้องถนน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็ต้องรับผิดชอบงานความมั่นคง 

งานการเมืองปล่อยวางไปแล้ว แต่งานความมั่นคง ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตทหารเสือราชินี คงต้องรับผิดชอบในภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อหลังรู้ข่าวเรื่องศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องหุ้นไอทีวี และเรื่องใช้ ม.112 มาหาเสียง


“การกลั่นแกล้งผมเพียงคนเดียว มีราคาจ่ายที่ต้องจ่ายสูง กับระบบกลไกในการบริหารราชการ และบริหารประเทศ และหลักเกณฑ์ที่เป็นบรรทัด
ฐานของนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”


พ่อส้มหรือหัวหน้าพรรคก้าวไกล พยายามส่งสัญญาณไปถึงผู้มีอำนาจว่า การใช้นิติสงครามกับตัวเขา และพรรคก้าวไกลนั้น มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก


อาวุธชิ้นเดียวที่พิธา และแกนนำพรรคสีส้มมีอยู่ในมือคือ พลังมวลชน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ในการต่อกรกับนิติสงคราม 

 

อุ่นเครื่องม็อบสีส้ม ก่อนเริ่มต้นม็อบยืดเยื้อ 13 ก.ค.66

 

 

ขุนศึกกับม็อบหลายสี
จากปี 2549 จนมาถึงปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผ่านสงครามม็อบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ม็อบใหญ่ๆ คือ ม็อบเสื้อเหลือง, ม็อบเสื้อแดง ,ม็อบ กปปส. และม็อบเจนใหม่หรือม็อบสามนิ้ว

 

ช่วงเวลาที่หฤโหดสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่มบูรพาพยัคม์ ก็หนีไม่พ้นช่วงม็อบคนเสื้อแดง หรือแดงทั้งแผ่นดิน สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 


เวลานั้นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกจัดตั้งขึ้นภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) เป็นกองบัญชาการของฝ่ายรัฐบาลสู้กับม็อบคนเสื้อแดง


พล.อ.ประยุทธ์ ในเวลานั้นเป็น รอง ผบ.ทบ. ได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.สมัยนั้น และในฐานะ ผอ.ศอฉ. ช่วงที่เปิดยุทธการทางทหารในการรับมือ-กำราบความเคลื่อนไหวของ นปช.


ปี 2563 มีการเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ ที่มีความแตกต่างทั้งในเนื้อหาและกลยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ก็ต้องใช้เวลาอยู่แรมปี กว่าจะสยบม็อบสามนิ้วได้


ปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ ถอดหัวโขนการเมืองออกแล้ว แต่ยังเหลือบทบาทนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่จะต้องทำงานด้านความมั่นคง ในสถานการณ์ม็อบส้มขยับรุกทั้งแผ่นดิน

 

 

ม็อบยุคดิจิทัล
สงครามมวลชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ มีพัฒนาการไปไกลกว่ายุคแดงทั้งแผ่นดิน ที่มีแค่โทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชน เนื่องจากเป็นยุคดิจิทัล จึงมีเครื่องมือใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และโซเชียล ที่มวลชนนำมาใช้ได้ง่ายๆ และมีประสิทธิผล


ต้นปี 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม จึงได้เกิดแฟลชม็อบในสถาบันการศึกษาทั้งประเทศ
 

10 ส.ค. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยกระดับการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ เป็นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ อันเป็นที่มาของแนวทางการต่อสู้แบบทะลุเพดาน 


แม้ม็อบเจนใหม่จะอ่อนแรงลงไป แต่เชื้อไฟความไม่พอใจต่อระบบเผด็จการยังดำรงอยู่ และพวกเขาส่วนใหญ่ เลือกที่จะรอไปเข้าคูหาเลือกตั้ง เพื่อล้มระบอบประยุทธ์


เมื่อพรรคก้าวไกล ได้รับชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ และพิธา เตรียมตัวเป็นนายกฯในฝันของด้อมส้ม ปรากฏว่า พิธา จะตกสวรรค์ ด้วยเสียง สว. และกระบวนการนิติสงคราม


ดังนั้น หากวันที่ 13 ก.ค.นี้ พิธา ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐสภาครบเกณฑ์ 376 เสียงและโหวตรอบสอง ก็ไม่ผ่าน สงครามมวลชนจึงต้องเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้