คอลัมนิสต์

ศึกชิงธงความคิด ‘พิธา’ พ่ายพิษ ‘ม.112’ ตามรอยอนาคตใหม่

ศึกชิงธงความคิด ‘พิธา’ พ่ายพิษ ‘ม.112’ ตามรอยอนาคตใหม่

13 ก.ค. 2566

ผลพวงสงครามความคิด พิธา เจอด่าน สว.ขั้วอนุรักษนิยม ขวางทางสู่เก้าอี้นายกฯ ด้วยพิษ ม.112 ส่งผลพ่อส้ม พ่ายศึกยกแรก จับตาธนาธร-ปิยบุตร เดินเกมนอกสภา

สงครามความคิด พิธา เจอด่าน สว.ขั้วอนุรักษนิยม ขึงขวางทางสู่เก้าอี้นายกฯ ด้วยเหตุที่ก้าวไกล มีนโยบายแก้ไข ม.112 ทำให้พ่อส้มตกสวรรค์ ในยกแรก  


4 ปีที่แล้ว ธนาธร-ปิยบุตร ลดธงแก้ไข ม.112 เลี่ยงการเผชิญหน้า สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ปลุกคนหนุ่มสาวลุกขึ้นสู้ ก้าวไกลรับไม้ต่อ ขอปักธงความคิด
 

วันที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ประชุมรัฐสภา ได้นัดประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย 8 พรรคที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 คน เกินครึ่ง สส. 500 คนในสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล


ก่อนที่จะมีการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้มีการอภิปรายเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ทั้งจาก สส. และ สว.


ประชาชนที่ติดตามการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา คงจะเห็นได้ว่า เวทีการเลือกนายกฯ ได้กลายเป็นเวทีปะทะความคิด ระหว่าง สส.พรรคก้าวไกล กับ สว.ขั้วอนุรักษนิยม ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112
 

เชื่อว่า สว.ส่วนใหญ่ ที่จะใช้สิทธิ์ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯที่ชื่อ พิธา ก็จะอ้างเหตุที่พรรคก้าวไกล ไม่ยอมถอยเรื่องแก้ไข ม.112 


ทำนองเดียวกัน สส.จากพรรคในขั้ว 188 เสียง ก็ได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เอาพรรคการเมืองมีแนวคิดแก้ไข ม.112 จึงใช้วิธีงดออกเสียง


ทั้งพิธา และแกนนำพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า การแก้ไข ม.112 ตั้งบนฐานความคิดที่ว่าสถาบันหลักของชาติ จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน เพราะไม่มีสถาบันใดอยู่ได้ ด้วยการกด ปราบ บังคับ


ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายยืนยันแนวคิดแก้ไข ม.112 และฝากถึงทุกฝ่ายว่า “..วิธีการอะไร กุศโลบายอะไรที่ดีที่สุด ที่จะรักษาสิ่งที่เรารักและหวงแหนให้ดำรงอยู่ให้ได้ในสังคมพลวัตตลอดเวลา เราไม่เชื่อว่าสิ่งใดๆ จะดำรงอยู่ได้ ด้วยการสถิตอยู่เหมือนเดิมทุกประการ แล้วจะมั่นคงสถาพร” 

 

 

กลืนเลือด-ตราบาป
ปี 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ,ชัยธวัช ตุลาธน และปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นทางเลือกใหม่ของสังคมไทย 


เวลานั้น กลุ่มขั้วอนุรักษนิยมได้เฝ้าจับตามองว่า ธนาธรและปิยบุตร จะผลักดันแนวคิดแก้ไข ม.112 เป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เนื่องจากปิยบุตรถูกมองว่า เป็นนักวิชาการปีกซ้าย และเคยอยู่ในกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เคยเสนอยกเลิก ม.112


เมื่อพรรคอนาคตใหม่ เปิดนโยบายสำหรับการหาเสียง ไม่มีเรื่องการแก้ไข ม.112 ซึ่งปิยบุตร ได้มายอมรับในภายหลังว่า “ผมยอมกลืนเลือด ตัดสินใจขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกของผมอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว ด้วยการประกาศว่า ไม่มีนโยบายแก้ 112 ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดอุปสรรคขัดขวาง ให้พรรคก่อตั้งได้ ให้พรรคได้ไปต่อ..”


ปิยบุตรบอกว่า การตัดสินใจไม่เสนอนโยบายแก้ ม.112 ในครั้งก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นเรื่องที่เป็นตราบาปฝังในจิตใจ และเป็นแผลเป็นในชีวิตทางการเมือง

 

 

ขบวนปฏิรูปสถาบัน
กลางปี 2563 หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคโดมปฏิวัติ ภายใต้การนำของเพนกวิน- พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พร้อมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เสนอ 10 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันฯ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ


จากนั้น ได้เกิดการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และกลุ่มอื่นๆ โดยชูธงยกเลิก ม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งได้มีการจับกุมแกนนำและแนวร่วม ในข้อหาเกี่ยวกับ ม.112 จำนวนมาก


เมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นชูธงปฏิรูปสถาบันฯ ทำให้ ปิยบุตร แสดงตัวเป็นกองหนุนเด็กๆ และก่อการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ยกเลิก 112 ในนามคณะก้าวหน้า 


วันที่ 1 พ.ย. 2564 คณะก้าวหน้า ออกแถลงการณ์จะร่วมรณรงค์ล่ารายชื่อให้ได้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 


ถัดมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินหน้าผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาแต่ไม่สำเร็จ เมื่อประธานสภา ไม่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม


ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงได้นำประเด็นการแก้ไข ม.112 มาเป็นนโยบายหาเสียง และต้องสะดุดตกเก้าอี้นายกฯ ในยกแรก เพราะนโยบายที่เป็นธงความคิดของพรรค