พลิกขั้วไม่ง่าย ‘ทักษิณ’ ขวาใหม่กุมสภาพ ‘อนุทิน’ ชิงปาดหน้าลุง
หลังพิธาพ่ายยกแรก อนุทิน ฉวยจังหวะลุงตู่ถอย ชิงการนำขวาใหม่ ตีคู่ ประวิตร ที่ลุ้นส้มหล่น เกมพลิกขั้วไม่ง่าย ทักษิณกุมสภาพ รอตัดสินใจครั้งสุดท้าย
อ่านเกมข้ามช็อต อนุทิน ฉวยจังหวะลุงตู่ถอย ชิงการนำขวาใหม่ ตีคู่ ประวิตร ที่แอบลุ้นส้มหล่น เกมพลิกขั้วไม่ง่าย ทักษิณ รอไฟเขียวแลนดิ้ง
แม้เนื้อแท้ ทักษิณ คืออนุรักษนิยมตัวพ่อ แต่คนรุ่นใหม่เพื่อไทย อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา ไม่อยากเล่นเกมเสี่ยง สุดท้ายการตัดสินใจก็อยู่ที่คนแดนไกล
จบศึกยกแรกไปแล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ได้เสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา จึงถือว่ายังไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30
พิธา และพรรคก้าวไกล ยังไม่ยอมแพ้ ประกาศจะเดินหน้ารวบรวมเสียงเพื่อลงมติเลือกครั้ง 2 ต่อไปให้ครบ 376 เสียง
ด้านพรรคเพื่อไทย ก็ต้องแสดงละครเรื่องเนื้อคู่ หรือข้าวต้มมัด ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทั้งสองพรรคจะสุกงอม และเปิดการเจรจาแยกทางกัน ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
ว่ากันตามจริง การพลิกขั้วสลับข้างไม่ง่ายเหมือนที่ สส.เพื่อไทยบางกลุ่ม อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน 2 แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยก็ยังประเมินว่า เกมนี้เสี่ยงเกินไป เสียมากกว่าได้
อย่างไรก็ตาม คนเพื่อไทยเองคงไม่ปฏิเสธความจริงที่ว่า ทักษิณ ชินวัตร ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรค ในแต่ละจังหวะก้าวของการเดินเกมการเมือง
มีข้อสังเกตจากการโหวตเลือกนายกฯ ของขั้ว 188 เสียง ปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทย ,พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างโหวตไม่เห็นชอบ แทนที่จะงดออกเสียงเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา
ชิงการนำขวาใหม่
การถอยออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำถามว่า ขั้วอนุรักษนิยม จะมีตัวละครการเมืองคนไหนขึ้นมาแทนลุงตู่ได้
หากดูจากวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้ ก็พบว่า อนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทย พยายามชิงบทบาทการเป็นผู้ถือธงนำของฝั่งอนุรักษนิยม
สังเกตได้จาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายถึงคุณสมบัติของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วยการอ่านแถลงการณ์ของพรรค แสดงออกถึงความจงรักภักดี และไม่สนับสนุนพรรคที่แก้ไข ม.112
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เฝ้าดูอยู่เงียบๆ ไม่ตัวแทนของพรรคลุกขึ้นอภิปรายคุณสมบัติของพิธา ช่วงที่โหวตเลือกนายกฯ สส.พลังประชารัฐทั้งหมด โหวตไม่เห็นชอบพิธา
เห็นร่องรอยเสี่ยหนูเบียดชิงการนำกับลุงป้อม มาตั้งแต่การโหวตเลือกรองประธานสภา คนที่ 1 เมื่อ สส.ภูมิใจไทย งดออกเสียง ต่างจากพรรคอื่นในขั้ว 188 ที่เทคะแนนให้วิทยา
ขวาตัวตึง
นักวิชาการปีกซ้ายบางกลุ่มวิเคราะห์ว่า เพื่อไทยกับก้าวไกล ถูกจับคลุมถุงชนให้เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งแท้จริงแล้ว อุดมการณ์ก้าวไกลคือ เสรีนิยมก้าวหน้า ส่วนเพื่อไทยนั้น จัดให้อยู่ในหมวดกึ่งอนุรักษนิยม กึ่งเสรีนิยม หรืออาจเรียกว่า ขวาใหม่
ความเป็นอนุรักษนิยมของเพื่อไทย ดูได้จาก ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยแสดงความเห็นผ่านรายการแคร์ทอล์คทางแอพคลับเฮาส์ อยู่บ่อยครั้งว่า “...การเคารพสถาบันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว จุดยืนของพรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร คือเราเคารพรักสถาบัน”
หรืออีกตอนหนึ่ง ทักษิณหรือโทนี่ วู้ดซั่ม เคยสมมติว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาลกัน หากพรรคก้าวไกลจะทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนสถาบัน เพื่อไทยก็คงไม่เห็นด้วย
“เราไม่ใช่ขวาจัดตกขอบ ไม่ใช่ แต่เราเป็นคนไทย เราเคารพสถาบันเท่านั้นเอง ชัดเจน ไม่มีบิดพลิ้ว”
ด้วยเหตุนี้ ช่วงที่กำลังจะมีการโหวตเลือกนายกฯ ก็มีข่าวหลุดมาจากฝ่ายความมั่นคง เกี่ยวกับแผนการเตรียมรับวีไอพี กลับจากต่างประเทศ โดยจะมีการส่งตัวไปศาลและเรือนจำ ดังนั้น ทุกสำนักข่าวต่างฟันธงว่า วีไอพีคนนั้นคือ ทักษิณ
การกลับบ้านของทักษิณ ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือทางการเมือง จึงมีการวิเคราะห์ว่า คนแดนไกลน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง กับภารกิจใหม่ของเพื่อไทย ที่จะต่อกรกับก้าวไกล ในเวทีเลือกตั้งสมัยหน้า