คอลัมนิสต์

สไตล์บ้านใหญ่ ‘ชาดา’ ขอภาพจำ ‘นักเลง’ ไม่ใช่มาเฟีย

สไตล์บ้านใหญ่ ‘ชาดา’ ขอภาพจำ ‘นักเลง’ ไม่ใช่มาเฟีย

30 ส.ค. 2566

จากยุค เสธ.พล ถึง ‘ชาดา’ บ้านใหญ่ดอนหมื่นแสน รอสวมบทสิงห์มหาดไทย ย้ำเป็นนักเลง ไม่ใช่อันธพาล ไม่ใช่มาเฟีย...

สไตล์คนจริง ชาดา ย้ำเป็นนักเลง ไม่ใช่อันธพาล ไม่ใช่มาเฟีย หลอมรวมบ้านใหญ่อุทัยฯ ให้เป็นหนึ่งเดียว


สมัยทักษิณ ชาดา ถูกรุกไล่โดนหลายคดี ยุค คสช. ก็เจอครบทั้งตรวจค้นบ้าน ดักค้นรถกลางทาง นี่แหละการเมืองแบบไทยๆ


หลังมีความชัดเจน ชาดา ไทยเศรษฐ์ จะได้รับตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลเศรษฐา 1 


ตัวตึงก้าวไกลอย่าง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือเจี๊ยบ นครปฐม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ใครเห็นสมควรให้มีการตรวจฉี่ว่าที่รัฐมนตรีบางคนก่อนรับตำแหน่งบ้าง”
 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ หรือ หลาดา ที่อุทัยธานีคุ้นเคย โต้กลับทันทีว่า “มีอะไร ให้ผมมาตรวจเลือดได้เลย ผมไม่อยากยุ่งกับ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เพราะว่าผมไม่อยากเล่นกับพวกชกใต้เข็มขัด”


คนดังเมืองอุทัยฯ คงรู้ว่า อมรัตน์ หรือ เจี๊ยบ นครปฐม ก็ไม่ธรรมดา เพราะเป็นลูกสาวกำนันหัวโต-สัมพันธ์ โชคปมิตต์กุล อดีตกำนันตำบลนครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม 


ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2566 ชาดา ได้ให้สัมภาษณ์  Voice Politics ทุกแง่มุมชีวิต และอธิบายตอนหนึ่งว่า “...นักเลงกับอันธพาล ไม่เหมือนกัน อันธพาลจะสร้างความเดือดร้อนรังแกชาวบ้าน นักเลงคือคนจริงใจพูดคำไหนคำนั้น ช่วยเหลือคน ไม่รังแกคนที่อ่อนแอกว่า แต่ไม่ยอมให้ใครมารังแก”


เหมือนที่ชาดาเคยพูดกับสื่อหลายสำนัก ให้เรียกเขาว่า นักเลง แต่อย่าเรียกมาเฟีย เพราะไม่เคยตั้งแก๊งอาชญากรรม 

บ้านใหญ่สะแกกรัง
ยุคสงครามเย็น คำว่า บ้านใหญ่อุทัยธานี หมายถึง บ้านทรงไทย ริมแม่น้ำสะแกกรัง ของ “เสธ.พล” พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ อดีต สส.อุทัยธานี 5 สมัย 


40 ปีที่แล้ว เมืองอุทัยธานี มีตระกูลการเมืองอยู่ 3 กลุ่มคือ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ อดีตคนสนิท พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, ผู้ใหญ่หริ-ศิริ ทุ่งทอง บ้านใหญ่ อ.หนองฉาง และศิลป์ชัย นุ้ยปรี 


เวลานั้น หลาดาหรือชาดา ยังเป็นพ่อค้าเนื้อ(ซื้อขายวัวควาย) และเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองใหญ่ โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรลุ่มน้ำสะแกกรัง 


กระทั่งปี 2535 ชาดา เป็นพันธมิตรกับตระกูลเหลืองบริบูรณ์ ก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองท้องถิ่น และเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี 2 สมัย


ปี 2551 ชาดา สวมเสื้อพรรคชาติไทย ลงสมัคร สส.อุทัยธานี และเป็น สส.สมัยแรก หลังจากนั้น ชาดา ได้รวบรวมตระกูลการเมืองลุ่มน้ำสะแกกรังให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งตระกูลนุ้ยปรี, เหลืองบริบูรณ์ และทุ่งทอง


พ.ศ.นี้ บ้านใหญ่อุทัยธานี ได้เปลี่ยนจากบ้านทรงไทยในอดีต มาอยู่ที่บ้านดอนหมื่นแสน ต.ดอนขวาง อ.เมือง จ.อุทัยธานี

 

คนอุทัยฯ จะคุ้นเคยกับภาพนี้ สส.สะพายย่าม

 

ฟ้าสางที่อุทัย
ดังที่รู้กัน หลังรัฐประหาร ปี 2557 ชาดา ตกเป็นเป้าของ คสช. ในฐานะผู้มีอิทธิพล ในพื้นที่ จ.อุทัยธานี ในรอบ 3 ปี ชาดาถูกตำรวจบุกค้นบ้าน 3 ครั้ง ในปฏิบัติการฟ้าสางที่อุทัย ยุทธการสะแกกรัง


“ผมน้อมรับ ว่าผมเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่แล้ว แต่ผมใช้อิทธิพล สร้างบ้านสร้างเมือง ใช้อิทธิพล ช่วยเหลือคน ผมไม่ได้ใช้อิทธิพลไปรังแกใคร ผมไม่ได้ใช้อิทธิพลไปทำร้ายบ้านเมือง จะถือว่ามีอิทธิพล ก็มี จะเป็น ส.ส.ไม่มีอิทธิพลได้ไง” ชาดาเล่าความหลังครั้ง คสช.ยึดอำนาจ


หลายคนยังคงจำภาพวันที่ตำรวจกองปราบนำกำลังดักตรวจค้นขบวนรถของชาดาเมื่อ 27 พ.ค. 2560 และเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาถึงวันนี้ ชาดาเปิดใจว่า


“ผมเจ้าหน้าที่เสมอว่า ผมไม่ใช่คนเลว คุณทำหน้าที่ ก็ทำไปตามใบสั่ง แต่ขออย่ามามองผมเป็นคนเลว ผมไม่ใช่คนเลว ผมก็รักบ้าน รักเมือง รักชาวบ้านของผม เพราะคนอุทัยฯ เป็นเจ้านายผมทุกคน เพราะผมจะใหญ่ที่ไหน แต่อุทัยฯ ผมใหญ่ที่นี่ไม่ได้ เพราะคนอุทัยฯ เขาเลี้ยงผมมา” 


คาดว่าต้นเดือน ก.ย.นี้ ชาดา จะเดินทางเข้ากระทรวงคลองหลอด ในฐานะรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และวันนั้น คนลุ่มน้ำสะแกกรังคงได้สัมผัส “หลาดา” อีกบทบาทหนึ่ง