ผงาดมหาดไทย ‘เนวิน’ ปลื้มปริ่ม ‘ชาดา-ทรงศักดิ์’ เสริมทัพ มท.หนู
เซราะกราวผงาด เนวิน ครูใหญ่รีเทิร์น อนุทิน คุมมหาดไทย พ่วงขาประจำ ทรงศักดิ์ แถมตัวตึง ชาดา บ้านใหญ่เมืองอุทัยธานี
ค่ายเซราะกราวผงาด เนวิน ครูใหญ่รีเทิร์น อนุทิน คุมมหาดไทย พ่วงขาประจำ ทรงศักดิ์ มาตามนัด ชาดา ไม่หวั่นเป็นสายล่อฟ้า
ทีมครูใหญ่ เนวิน จัดสรรเก้าอี้ถ้วนหน้า อนุทิน กระจายครบทุกภาค ตอบแทนทุกซุ้มที่ร่วมสู้ศึกร่วมกันมา
ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเศรษฐา ที่น่าจะสุขสมหวังมากกว่าพรรคอื่นคือ พรรคภูมิใจไทย ได้คุมกระทรวงหลักคือ มหาดไทย และศึกษาธิการ
14 ปีที่แล้ว ครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ ส่งปู่จิ้น ชวรัตน์ ชาญวีรกูล นั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย และปีนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล ก็เดินตามรอยพ่อ สวมบท มท.1 ยุคนายกฯเศรษฐา
มิเพียงเท่านั้น ครูใหญ่เนวิน ยังวางตัวรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย เป็นคนค่ายภูมิใจไทยอีก 2 คนคือ ชาดา ไทยเศรษฐ์ และทรงศักดิ์ ทองศรี
เปิดทางให้พรรคเพื่อไทย ส่ง เกรียง กัลป์ตินันท์ สส.บัญชีรายชื่อแม่ทัพอีสานใต้ มาเป็น รมช.มหาดไทย ซึ่งคาดว่าจะได้เป็น มท.2
สำหรับ ทรงศักดิ์ ทองศรี สส.บัญชีรายชื่อ ภูมิใจไทย ญาติของครูใหญ่เนวิน ตอนแรกถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีการอุดมศึกษาฯ (อว.) แต่ภายหลัง เสี่ยป้อม ทรงศักดิ์ เปลี่ยนใจขออยู่มหาดไทยเหมือนเดิม
อย่างที่รู้กัน ในรัฐบาลประยุทธ์ เสี่ยป้อม ทรงศักดิ์ เป็น รมช.มหาดไทย (มท.2) อยู่กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มา 4 ปีเต็ม
กรณี ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี ที่จองเก้าอี้ รมช.มหาดไทย กลายเป็นตำบลกระสุนตก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมากมาย จนได้ฉายา รมต.สายล่อฟ้า
จะว่าไปแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบการเมืองเก่า ก็เสี่ยงต่อเสียงวิจารณ์ของนักวิชาการทำนองเป็น ครม.เต้าหู้ยี้ หรือ ครม.ร้อยพ่อพันแม่
ฝันที่เป็นจริง
พูดถึงเรื่องการเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ในการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทีมครูใหญ่เนวิน ประสบความสำเร็จเกินคาด เมื่อได้กระทรวงมหาด ไทย มาทดแทนกระทรวงคมนาคม ที่หลีกทางให้เพื่อไทย
ช่วงปี 2552-2554 ภูมิใจไทยมีบทเรียนในการคุมมหาดไทย มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วงเลือกตั้งปี 2554 ค่ายสีน้ำเงินก็พ่ายแพ้กระแสเสื้อแดงยับเยิน
มาถึง พ.ศ.นี้ คู่แข่งของภูมิใจไทย ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่คนเสื้อแดง หากแต่เป็นก้าวไกล และด้อมส้ม การได้กำกับดูแลมหาดไทย จึงมีความสำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์การเมืองในอนาคต
กระทรวงมหาดไทย สำคัญอย่างไร ลองมาไล่เรียงดูหน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง, กรมการพัฒนาชุมชน, กรมที่ดิน, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
นอกจากนี้ มหาดไทยยังมีรัฐวิสาหกิจประกอบด้วยการไฟฟ้านครหลวง, การประปานครหลวง, การไฟฟูาส่วนภูมิภาค, การประปาส่วนภูมิภาค, องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย
นโยบายเก้าอี้ถ้วนหน้า
เบื้องหลังการจัดโผ ครม.สายภูมิใจไทย ครูใหญ่เนวิน และเสี่ยหนู อนุทิน จัดวางตัวบุคคลเป็นรัฐมนตรี ตามหลักคณิตศาสตร์การเมือง และคำนึงถึงสปอนเซอร์ด้วย
ภาคอีสาน มี สส.มากที่สุด 35 ที่นั่ง ได้ รมว.มหาดไทย รมว.ศึกษาธิการ และรมช.มหาดไทย
หนนี้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขอพักชั่วคราว ครูใหญ่เนวินจึงดันน้องชาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ นั่ง รมว.ศึกษาธิการ
ภาคใต้ มี สส. 12 ที่นั่ง ได้ รมว.แรงงาน เป็นโควตาของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ
สำหรับภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง มี สส. 21 ที่นั่ง ได้ 3 เก้าอี้คือ รมช.มหาดไทย รมช.ศึกษาธิการ และ รมช.พาณิชย์
ชาดา ไทยเศรษฐ์ แม่ทัพภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง มี สส.11 คนอยู่ในซุ้มสะแกกรัง จึงตีตั๋ว รมช.มหาดไทย
สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล สส.อยุธยา ลูกชาย สมทรง พันธุ์เจริญวรกุล นายก อบจ.อยุธยา หนนี้ ซ้อสมทรงคว้า สส.กรุงเก่ามา 3 ที่นั่ง สุรศักดิ์จึงได้เป็น รมช.ศึกษาธิการ
นภินทร ศรีสรรพางค์ เจ้าของตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี กรณีราชบุรี ที่ไม่มี สส.ภูมิใจไทย แม้แต่คนเดียว ยังได้เก้าอี้ รมช.พาณิชย์ เพราะคนที่ชื่อ สรอรรถ กลิ่นประทุม เป็นเพื่อนรักของเนวิน
ทำนองเดียวกัน กรุงเทพมหานคร ภูมิใจไทยไม่ได้ สส.สักคน แต่ ศุภมาศ อิศรภักดี อดีต สส.กทม. ก็ได้ตำแหน่ง รมว.การอุดมศึกษาฯ (อว.)
ปัจจุบัน ผึ้ง ศุภมาศ ร่ำรวยมีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาท จากการทำธุรกิจขายอาหารเสริม แบรนด์ดีโออี ไบโอเทค
ธรรมชาติของพรรคบ้านใหญ่ แรงกระเพื่อมหลังการจัดสรรโควตารัฐมนตรีย่อมมีเป็นธรรมดา ด้วยความเป็นครูใหญ่เนวิน จึงเอาอยู่