ส่องทัวร์อีสาน ‘เศรษฐา’ เสื้อแดงหาย ‘เพื่อไทย’ ไม่ฟื้นเหตุข้ามขั้ว
ฮีลใจอีสาน เศรษฐา กู้คืนคะแนนนิยม เหตุรัฐบาลข้ามขั้ว ฐานเสียงเพื่อไทยทรุดหนัก คนเสื้อแดงอุดรฯหาย ไม่โผล่ต้อนรับเหมือนเก่า
แกะรอยทัวร์อีสาน เศรษฐา กู้คืนคะแนนนิยม เหตุรัฐบาลข้ามขั้ว ฐานเสียงเพื่อไทยทรุด คนเสื้อแดงหาย รอประชานิยมเงินหมื่น
อีสานฐานที่มั่นใหญ่ เพื่อไทยไม่มองข้าม นายกฯเศรษฐา ลุยงานหามรุ่งหามค่ำ โชว์ภาพผู้นำติดดินฮีลใจคนอุดร-ขอนแก่น
ก่อนที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะนำทีมคณะรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ได้วางคิวลุยตรวจงานในพื้นที่ภาคอีสาน ช่วงวันที่ 8-9 ก.ย. 2566 เพื่อตอกย้ำคำว่า ไม่มีฮันนีมูน เริ่มงานทันที
เป้าหมายทัวร์อีสานของนายกฯเศรษฐา คือ ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย หัวเมืองหลักในอีสานเหนือ
แน่นอน นายกฯเศรษฐา ขนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีนับสิบคนไปภาคอีสาน ไม่ต่างอะไรกับขบวนช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่หนองคาย นายกฯเศรษฐา บอกกับนักข่าวว่า ได้เตรียมการจัดประชุม ครม.นอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร โดยเล็งว่า จะจัดที่ จ.หนองบัวลำภู ช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้
ดูเหมือนเศรษฐา จะอินกับลงพื้นที่อีสาน ในฐานะนายกรัฐมนตรีมากกว่าตอนมาหาเสียง “...รู้สึกได้ถึงความเป็นธรรมชาติมากกว่า มีความอบอุ่นในแววตาของคนที่ได้พบเห็น หากผมมีเรื่องหนักใจก็อยากเดิน ทางมาอีสานเพราะเหมือนเป็นการฮีลใจ”
ฮีลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษ Heal แปลว่า รักษาเยียวยา ฉะนั้น ฮีลใจก็คือ การรักษาใจ เยียวยาใจ หรือหลบเลียแผลใจจากความรู้สึกแย่ๆ
จอดป้ายขอนแก่น
เศรษฐา ทวีสิน ในวันที่สวมบทนายกฯ เลือกมาที่ขอนแก่น เป็นเป้า หมายแรก โดยมี เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีวัฒนธรรม และเขยเมืองขอนแก่น นำทีม สส.ขอนแก่น และชาวบ้านมาต้อนรับ
ดังที่ทราบกัน เลือกตั้งปี 2566 สมรภูมิอีสาน ที่พรรคเพื่อไทย เคยได้รับชัยชนะยกจังหวัดนับสิบแห่ง ก็เหลือเพียงชนะยกจังหวัดเพียงแห่งเดียวคือ จ.หนองบัวลำภู
สส.อีสานทั้งหมดมี 133 ที่นั่ง และเพื่อไทย ได้ 73 ที่นั่ง ยังรักษาแชมป์อีสานไว้ได้ แต่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการมากถึง 120 ที่นั่ง
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ได้ สส.เพิ่มขึ้นเป็น 35 ที่นั่ง ก้าวไกล 8 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นพลังประชารัฐ,ไทยสร้างไทย และเพื่อไทรวมพลัง
เฉพาะขอนแก่น มี สส. 11 ที่นั่ง ปรากฏว่าเพื่อไทย ได้ 6 ที่นั่ง ก้าวไกล 3 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง
สส.ขอนแก่น ก้าวไกล 3 คน อยู่ในพื้นที่โซนตัวเมืองใหญ่ คือ เขต 1 วีรนันท์ ฮวดศรี, เขต 2 อิทธิพล ชลธราศิริ และเขต 3 ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง
นี่เป็นสัญญาณเตือนเพื่อไทย จากก้าวไกล ที่กำลังขยายฐานเสียงจากในตัวเมืองใหญ่ ไปสู่เขตชนบท
สถานีอุดร-หนองคาย
แทบไม่น่าเชื่อ อุดรธานี ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง นายกฯเศรษฐา ไปเมืองอุดรฯ เที่ยวนี้ ไม่มีคนเสื้อแดงมาต้อนรับเหมือนเมื่อก่อน
ไม่เห็นหน้า ขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร และพลพรรคเสื้อแดง ซึ่งเข้าใจว่า การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเหมือนในอดีตไม่มีแล้ว คงเหลือแต่การเป็นโหวตเตอร์เพื่อไทยเท่านั้น
มีเพียง ปุ๊ก-หทัยรัตน์ เพชรพนมพร สส.อุดรฯ เขต 2 และวัชรพล ขาวขำ สส.อุดรฯ เขต 9 เดินประกบนายกฯเศรษฐา ตั้งแต่อุดรธานี ยันหนอง คาย
หทัยรัตน์ เพชรพนมพร อดีตรองนายกเทศมนตรีนครอุดรฯ เป็นพี่สาวของศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรฯ เพิ่งสมัคร สส.ครั้งแรก
เลือกตั้งปี 2566 อุดรฯ มี สส.10 คน เพื่อไทยได้ สส. 7 คน, พรรคไทยสร้างไทย 2 คน และพรรคก้าวไกล 1 คน
เสี่ยป๊อป-ศราวุธ เพชรพนมพร พ่าย ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ พรรคก้าวไกล ที่เขต 1 ซึ่งความพ่ายแพ้ของบ้านใหญ่ตระกูลเพชรพนมพร ส่งผลสะเทือนไปทั้งแผ่นดินอุดรฯ
ใกล้กับอุดรธานีคือ หนองคาย เพื่อไทย ชนะยกจังหวัดมา 3 สมัยติด ต่อกัน แต่เลือกตั้งหนที่ผ่านมา เขต 1 กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ พลังประชารัฐ พลิกเอาชนะกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ อดีต สส.หนองคาย เพื่อไทย ส่วนอีก 2 เขตที่เหลือยังเป็น สส.เพื่อไทย
ประเมินภาพรวมของทัวร์เศรษฐา ในฐานะนายกฯ ถือว่า สอบผ่าน แต่การที่จะดึงเรตติ้งเพื่อไทยให้กลับมาเหมือนสมัยทักษิณ และยิ่งลักษณ์ คงต้องรอดูผลงานรัฐบาลว่า ตอบโจทย์คนอีสานแค่ไหน