คอลัมนิสต์

อัสดงบ้านริมคลอง ‘เฉลิม’ แยกทาง ‘ทักษิณ’ วาดฝันพรรคอยู่บำรุง

อัสดงบ้านริมคลอง ‘เฉลิม’ แยกทาง ‘ทักษิณ’ วาดฝันพรรคอยู่บำรุง

05 ต.ค. 2566

ย้อนรอย 32 ปี สัมพันธ์ เฉลิม-ทักษิณ จากสัมปทานเคเบิลไอบีซี จนมาถึงพลังประชาชนและเพื่อไทย จะแยกทางกันเดินจริงหรือ

ศึกศักดิ์ศรี เฉลิม ขุนศึกฝั่งธน ไม่ทน ทักษิณ อนาคตอาจเห็นพรรคมวลชนรีเทิร์น สู้แบบอยู่บำรุง บ้านใหญ่ริมคลอง 


เลือกตั้ง 2566 เฉลิม ช็อกผลคะแนน ลูกวันพ่ายด้อมส้ม กระแสเพื่อไทยเอาไม่อยู่ อ่านเกมสมัยหน้าก็อาจแพ้อีก


ละครฉากใหญ่จากบ้านริมคลอง หลังวัดบางบอน ถนนเอกชัย เขตบางบอน ทำเอาคอการเมืองเกาะติดหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊ก วัน อยู่บำรุง ตั้งแต่เย็น 4 ต.ค. จนถึงตอนสาย 5 ต.ค. 2566

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทักษิณ ชินวัตร จะหันหลังให้กันจริงๆ หรือ กลายเป็นหัวข้อสนทนาของสภากาแฟ ตั้งแต่ซอยวัดบางบอนยันซอยกำนันแม้น


ล่าสุด วัน อยู่บำรุง อดีต สส.กทม. โพสต์เฟซบุ๊กระว่า ชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยน ตามด้วยโพสต์โลโก้พรรคมวลชน และถามเอฟซีใจถึงพึ่งได้ว่า ใครทันบ้าง


ตระกูลอยู่บำรุง จะย้อนรอยถอยหลังไปสู่จุดเริ่มต้นของอดีตนายตำรวจกองปราบอย่างนั้นหรือ


หลายคนคงแปลกใจที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 22 ส.ค. 2566


ตอนนั้น ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่า ไม่สบายใจต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่เลือกจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เพราะจะส่งผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป


นี่อาจเป็นปมขัดแย้งของเฉลิม-ทักษิณ อันนำไปสู่ความน้อยเนื้อต่ำใจ และตามมาด้วยวาทะกวนโอ๊ย ทำให้ระเบิดลงที่บ้านริมคลอง

ทางใครทางมัน
ถ้านับเวลาความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนนี้ ระหว่างเหลิม บางบอน กับแม้ว บางพลัด ก็กินเวลาเนิ่นนานมาถึง 32 ปีแล้ว


ปี 2532 ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคม แต่ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท. รัฐบาลชาติชาย

 

 

เมื่อปี 2561 เฉลิม พาลูกชาย ไปพบทักษิณที่ฮ่องกง

 


ทักษิณเริ่มทำธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการนำวิทยุติดตามตัว(Pager) ยี่ห้อ Phonelink เข้ามาจำหน่าย และเป็นผู้บุกบุกเคเบิลทีวีรายแรกของเมืองไทย


หลายคนอาจลืม แต่ ร.ต.อ.เฉลิม จำแม่น เพราะในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้บริษัท IBC เคเบิลทีวี ของทักษิณ ได้สัญญาสัมปทานประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหรือเคเบิลทีวี โดยเจ้าของสัมปทานคือ อสมท.


หลังจากเกิดรัฐประหาร 2534 ทักษิณก็ยังก้าวหน้าไปบนเส้นทางธุรกิจโทรคมนาคม ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม ต้องไปลี้ภัยอยู่เดนมาร์กเกือบ 2 ปีจึงได้กลับมาเล่นการเมือง


ช่วงที่ทักษิณ เล่นการเมือง ร.ต.อ.เฉลิมก็โลดแล่นไปตามวิถีขาใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวพันกัน เมื่อทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งคู่ก็ไม่ได้โคจรมาร่วมงานกัน


กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ทักษิณกลายเป็นผู้ลี้ภัย ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้เข้าช่วยงานพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย 

 

พรรคอยู่บำรุง
กว่า 3 ทศวรรษแล้ว เหลิม บางบอน ได้สร้างแบรนด์อยู่บำรุง จนชาวเขตหนองแขมเชื่อมั่น และช่วงชิงเขตบางบอนจากตระกูลม่วงศิริ มาได้ในยุคของวัน อยู่บำรุง


ร.ต.อ.เฉลิม ลาออกจากตำรวจกองปราบ ลงสมัคร สส.กทม.เขต 12 ในนามพรรค ปชป. เอาชนะทีม ปลิว ม่วงศิริ อดีตกำนันดัง พรรคประชากรไทย เป็น สส.สมัยแรก ปี 2526


ปี 2529 ร.ต.อ.เฉลิม ลาออกจาก ปชป. มาตั้งพรรคมวลชน และเป็น สส.กทม. อยู่หลายสมัย ก่อนขยับขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคความหวังใหม่


เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม ประเมินกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่พรรคเดิมคงไปต่อยาก จึงยุบพรรคมวลชนควบรวมพรรคความหวังใหม่


สำหรับพื้นที่เขตหนองแขม นวรัตน์ อยู่บำรุง น้องชายคนรองของ ร.ต.อ.เฉลิม ได้ช่วยงานการเมืองพี่ชายมาตั้งแต่ปี 2526 


ปี 2531 นวรัตน์ ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็น ส.ก.เขตหนองแขม สมัยแรก จนถึงปัจจุบัน นวรัตน์ไม่เคยสอบตก เป็น ส.ก.มาแล้ว 7 สมัย


ถ้า เหลิม บางบอน และตระกูลอยู่บำรุง จะหวนกลับไปปัดฝุ่นพรรคมวลชน ก็ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จ เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้วหรือไม่


ใครก็รู้ว่า สมรภูมิการเมืองในเมืองหลวง เป็นเรื่องกระแส พรรคเล็กแจ้งเกิดยาก หรือเกมนี้จะเป็นแค่ละครฉากหนึ่ง หากมีการเยียวยาให้คนในบ้านริมคลองแล้ว แผนการนี้อาจถูกพับไปก่อนก็ได้