พายุรากหญ้า ‘เศรษฐา’ โดนทวงเงินหมื่น ‘สมัชชาคนจน’ ประชิดทำเนียบ
ต้านดิจิทัลวอลเลตกระหึ่ม เศรษฐา เผชิญฐานเสียงคนรากหญ้าทวงเงินหมื่น อีกด้านสมัชชาคนจน-พีมูฟ เปิดเกมรุกประชิดทำเนียบรัฐบาล
พายุการเมืองถล่ม เศรษฐา คนรากหญ้าทวงเงินหมื่น เสียงต้านดังกระหึ่ม ม็อบสมัชชาคนจน-พีมูฟ ประชิดทำเนียบรัฐบาล
หมดเวลาฮันนีมูน เศรษฐา ถูกท้าทาย นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีเดิมพันสูง ทำก็เสี่ยง ไม่ทำก็เสียคะแนนนิยม
สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เหมือนยืนอยู่กลางพายุใหญ่ เจอทั้งเหตุการณ์กราดยิงพารากอน และกระแสต้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
นายกฯเศรษฐา และแกนนำพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการภายในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยใช้งบประมาณดำเนินการ 560,000 ล้านบาท
ดูเหมือนนโยบายเงินหมื่น จะกลายเป็นเกมเดิมพันอนาคตรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน เสียงทักท้วงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปก็ออกมาแสดงความเห็นกันมากมาย
ล่าสุด การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวลงชื่อและยื่นข้อเสนอ แนะถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต เพราะได้ไม่คุ้มเสีย
เสียงรากหญ้า
นายกฯเศรษฐา และแกนนำเพื่อไทย ประสานเสียงตอบโต้ผู้คัดค้านนโยบายเงินหมื่น โดยอ้างว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
อย่างเช่นเมื่อ 7 ต.ค.2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการบำบัดยาเสพติดที่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ปรากฏว่า มีชาวบ้านถือป้ายทวงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีข้อความระบุว่า เราต้องการเงินดิจิทัล 10,000 บาท, ชาวร้อยเอ็ดอยากได้ 10,000 บาท และเศรษฐกิจร้อยเอ็ดแย่เอาเงิน 10,000 บาท มาเยียวยาก่อนได้ไหม
ก่อนหน้านั้น นายกฯเศรษฐา ได้ไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่อุบลราชธานี และยโสธร ก็มีชาวบ้านได้ลุกขึ้นถามเรื่องนโยบายเงินหมื่นเช่นกัน
ในมิติทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเสียต้นทุนการเมืองไปกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ดังนั้น จึงหาทางเรียกคะแนนนิยมคืนกลับมา ด้วยโครงการเงินหมื่นเอาใจฐานเสียงคนรากหญ้า
ม็อบรากหญ้า
อีกด้านหนึ่ง คนรากหญ้าและคนชายขอบ ที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน และปัญหาอื่นๆ ก็ยกขบวนมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯเศรษฐา ลงมือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
วันที่ 8 ต.ค. 2566 สมัชชาคนจน ประมาณ 2,000 คน นำโดย ไพฑูรย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน ได้ยึดพื้นที่ชุมนุมอย่างสันติบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ประตู 5
สำหรับข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน มีปัญหาทั้งหมด 35 กรณีพร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา เน้นหนักไปที่เรื่องสิทธิพื้นที่ทำกิน
จริงๆ แล้ว ปัญหา 35 กรณี ก็ล้วนแต่เป็นข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่สมัชชาคนจนเคยเข้าเรียกร้องต่อรัฐบาลประยุทธ์
สัปดาห์ที่แล้ว ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ก็ได้ยกขบวนมาชุมนุมที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล
พีมูฟได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นนโยบาย 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชน 2.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 3.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4. กระจายที่ดินทำกินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม 5.ทบทวนนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 6.ส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดการร่วมในภัยพิบัติ 7.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิความเป็นมนุษย์ 8. คุ้ม ครองสิทธิของคนไร้สถานะ และ 9.ส่งเสริมรัฐสวัสดิการ
ภาคประชาชนในนามพีมูฟ เข้ามาเรียกร้องผ่านหลายรัฐบาลมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะได้แค่การตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานศึกษาไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ฉะนั้น ความคาดหวังต่อรัฐบาลเศรษฐานั้น พีมูฟต้องการความชัดเจนในทุกด้าน และพอมีผลรับรองในแต่ละด้าน จึงจะยอมยุติการชุมนุมและเดินทางกลับบ้าน
มีข้อสังเกต สมัชชาคนจน และขบวนการพีมูฟ ได้มีการประชุมนัดหมายกันตั้งแต่ได้ข่าวว่า จะมีสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลพิเศษ โดยผลักให้พรรคก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้าน
ว่ากันตามตรง แกนนำสมัชชาคนจน และพีมูฟ น่าจะรู้ว่าจังหวะเวลานี้เหมาะสมกับการเปิดเกมรุกรัฐบาลเศรษฐา