คอลัมนิสต์

ฝันใครฝันมัน ’14 ตุลา’ เงียบหงอย ‘คนเดือนตุลา’ สร้างดาวกันคนละดวง

ฝันใครฝันมัน ’14 ตุลา’ เงียบหงอย ‘คนเดือนตุลา’ สร้างดาวกันคนละดวง

14 ต.ค. 2566

กงล้อประวัติศาสตร์ 50 ปี 14 ตุลา ช่างเงียบหงอย คนเดือนตุลา ยังตกหล่มสงครามขั้วสี คนรุ่นใหม่เดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ทางใครทางมัน 14 ตุลา ครบรอบ 50 ปี คนเดือนตุลา ได้เวลาพักผ่อน สงครามขั้วสีที่ยืดเยื้อ สะท้อนความพ่ายแพ้ของคนรุ่นเดียวกัน


50 ปี 14 ตุลา ประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คนรุ่นใหม่รับไม้ต่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม


วันที่ 14 ต.ค. 2566 มูลนิธิ 14 ตุลา และญาติวีรชน ได้จัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

กึ่งศตวรรษ 14 ตุลา ปีนี้ มีการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมในหลายจุด โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นแม่งานใหญ่ ร่วม กับผองเพื่อนคนเดือนตุลา  


กิจกรรมที่เป็นสีสันเดือนตุลาก็คือ งานคอนเสิร์ต 50 ปี 50 เพลง เล่าบรรเลง 14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านบทเพลงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ในงานคอนเสิร์ต 50 ปี 50 เพลง เล่าบรรเลง 14 ตุลา มีศิลปินเพลงยุค 14 ตุลา มาร่วมย้อนยุคเพลงเพื่อชีวิต อาทิ สุรชัย จันทิมาธร, กรรมาชน, กงล้อ, รวมฆ้อน, คุรุชน, พลังเพลง, รุ่งอรุณ, ลูกทุ่งสัจธรรม,คันนายาว,จรยุทธ ฯลฯ 


นอกจากนี้ มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับมูลนิธิเด็กและศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย จัดงานแสดงภาพ สีสันแห่งเดือนตุลา ที่หอนิทรรศการ มศว.ประสานมิตร  


สำหรับงานรำลึก 50 ปี 14 ตุลา ในปีนี้ มีคนเดือนตุลาที่เป็นนักการเมืองมาร่วมงานหลายคน อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, วิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา


ฟากรัฐบาลเศรษฐา ส่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มาเป็นตัวแทนในพิธีการรำลึกวีรชนเดือนตุลา ซึ่งตามแผนเดิมนั้น มีการมอบหมาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมงานดังกล่าว

คนรุ่น 14 ตุลา
แม้จะเป็นวาระ 50 ปี 14 ตุลา แต่บรรยากาศการรำลึกที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ก็ไม่คึกคัก และมีคนเดือนตุลา มาร่วมงานบางตา โดยเฉพาะคนเดือนตุลา สายการเมือง หายหน้าเพียบ

 

ภาพวาดรำลึกวีรชน 14 ตุลา เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

 


เปรียบเทียบกับยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อ 14 ต.ค. 2544 มีพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมาเป็นประธาน 


สุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยในเวลานั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน ได้ระดมเพื่อนพ้องน้องพี่คนเดือนตุลา มาร่วมงานกันมากมาย


ต่างจากปีนี้ หัวแถวเพื่อไทยที่เป็นคนเดือนตุลา อย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ และ อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล ไม่ได้มาร่วมงาน


ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวของ คนเดือนตุลา ได้แปรสภาพเป็นคนละกลุ่มคนละพวก เมื่อเกิดเหตุการณ์การชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ โดยการนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


คนรุ่น 14 ตุลา ที่เคยกอดคอร่วมกันสู้เผด็จการสมัยวัยหนุ่มสาว ก็แบ่งขั้วแยกค่าย ฝ่ายหนึ่งยืนอยู่ฝั่งพรรคไทยรักไทย และอีกฝ่ายหนึ่งไปสวมเสื้อเหลือง เป็นแกนนำพันธมิตรฯ


กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 คนเดือนตุลาก็ยังแบ่งข้างกันเหมือนเดิม ฝ่ายหนึ่งก็ยังหนุนพรรคเพื่อไทย แต่อีกฝ่ายกลับเชียร์กลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม 

 

คนรุ่น 6 ตุลา 
มีข้อน่าสังเกตว่า งานรำลึก 50 ปี 14 ตุลา กับงาน 47 ปี 6 ตุลา ในปีนี้ มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจงาน 6 ตุลา มากกว่างาน 14 ตุลา


2-3 ปีมานี้  กลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ผู้จัดชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร หรือกลุ่มอื่นๆ ในช่วงปลายปี 2563 ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานรำลึก 6 ตุลา


แกนนำนักศึกษารุ่นใหม่มองว่า กระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษาปี 2563-2564 กับขบวนการนักศึกษายุคปี 2516-2519 มีจุดเชื่อมโยงกันและเป็นสายธารเดียวกัน มีศัตรูร่วมกันคือนายทุน ขุนศึก ศักดินา


ที่สำคัญ เยาวชนนักเรียน-นักศึกษารุ่นปัจจุบัน ยังเรียกร้องคืนสถานะทางประวัติศาสตร์ ให้แก่คณะราษฎร คืนศักดิ์ศรีให้คนเสื้อแดงในเหตุการณ์พฤษภา 2553 และคืนความจริงให้เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 


คนรุ่นเจนวายเจนแซด เหมือนจะมองข้ามเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ไปเลย และไม่ให้ค่าคนเดือนตุลา(คนรุ่น 14 ตุลา)