คอลัมนิสต์

ไขคำตอบภาพ ‘ทักษิณ’ บนเตียงรถเข็น โยง ‘ชั้น 14’ กรณีดีลพาฝัน

ไขคำตอบภาพ ‘ทักษิณ’ บนเตียงรถเข็น โยง ‘ชั้น 14’ กรณีดีลพาฝัน

16 ต.ค. 2566

ผ่านมาแล้ว 50 กว่าวัน ทักษิณ คนป่วยชั้น 14 มีความเคลื่อนไหว ภาพนอนบนเตียงรถเข็นเพียงภาพเดียว โยงถึงกรณี 22 สิงหา ดีลพาฝัน

หนึ่งภาพล้านแชร์ ทักษิณ บนรถเข็นกลายไวรัลในโซเชียลมีเดีย ผู้นำรัฐบาลเศรษฐาขานรับ เหมือนส่งสัญญาณถึงชั้น 14 


ใกล้ถึงวันที่ 60 ทักษิณ คนป่วยชั้น 14 จึงมีความเคลื่อนไหว ภาพนอนบนเตียงรถเข็นเพียงภาพเดียว ถูกโยงถึงกรณี 22 สิงหา ดีลพาฝัน 


ตอนสาย วันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ปรากฏภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในชุดคนไข้สีฟ้า สวมหน้ากากอนามัยนอนอยู่บนเตียงรถเข็นของผู้ป่วย 

ปัจจุบัน ทักษิณ เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดี ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ และอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ


ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ภาพทักษิณบนเตียงรถเข็น กลายเป็นไวรัลโซเชียลมีเดีย โดยไม่มีใครสนใจแหล่งที่มาของภาพนี้

 

อุ๊งอิ๊ง ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ กรณีภาพพ่อทักษิณ บนเตียงรถเข็นเผยแพร่ในโลกออนไลน์

 


ต่อมา สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายเรื่องที่มาของภาพทักษิณบนเตียงรถเข็นว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ทีมแพทย์ที่รักษาและประเมินสุขภาพของทักษิณ ได้นำตัวทักษิณ ไปทำ CT Scan และ MRI หลังดำเนินการเสร็จสิ้นในเวลา 11.00 น. ก็กลับไปนอนพักรักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยเหมือนเดิม 


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามนักข่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นภาพทักษิณนอนบนเตียงรถเข็นจริง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นการตัดสินใจของแพทย์ รพ.ตำรวจ


ดูเหมือนว่า ผู้นำประเทศและผู้บริหารสูงสุดของกรมราชทัณฑ์ ได้รับรู้เรื่องที่มาของภาพทักษิณบนเตียงรถเข็นมาก่อนแล้ว 

รถเข็น-รถม้า
กรณีของคนบนเตียงรถเข็น ทำให้คอลัมนิสต์การเมืองสำนักข่าวชื่อดัง ได้นำไปเปรียบเทียบภาพคนนั่งรถม้า 


สืบเนื่องจากวันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่กองบัญชาการกองทัพบก สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และคณะตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพบกอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ โดยมีจัดรถม้า และหมู่ม้า 47 ม้านำขบวนมารอรับ


หลังจากนั้น สุทิน คลังแสง ได้ขึ้นรถม้าเข้าไปยังลานประกอบการตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ


“ได้มานั่งรถม้าก็รู้สึกตื่นเต้น ตอนเด็กเคยนั่งอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ใช่รถม้าเกียรติยศ แล้วรู้สึกประทับใจกับการต้อนรับของกองทัพบก ได้รับเกียรติและได้รับความร่วมมือ เป็นที่พึงพอใจ” สุทินกล่าวกับนักข่าว


คอลัมนิสต์การเมืองชื่อดัง พยายามโยงภาพทักษิณบนเตียงรถเข็น ใน รพ.ตำรวจ กับสุทิน บนรถม้า ในกองทัพบก ว่าสองภาพนี้มาจากสารตั้งต้น 22 สิงหาคม 


กรณี 22 ส.ค.คือ วันที่อดีตนายกฯทักษิณ กลับไทย และเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมรัฐสภา โหวตเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายก รัฐมนตรี คนที่ 30


พูดจาภาษาการเมืองในสภากาแฟ ภาพคนบนเตียงรถเข็นกับภาพคนบนรถม้าเกียรติยศ ก็คือประดิษฐ์กรรมทางการเมือง อันเนื่องจากดีลลับนั่นเอง

 

กลยุทธ์นอนชั้น 14 
ทำไม ต้องมีการเผยแพรภาพอดีตนายกฯบนเตียงรถเข็นในช่วงนี้ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้คำตอบผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว


“...น่าจะเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดจากกฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พศ.2563 ข้อ 7 (2) เมื่อผู้ต้องขังพักรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานกว่า 60 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้รักษา พร้อมหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องและรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ”


ตอนท้าย สว.สมชาย เขียนสั้นๆ แต่อ่านเกมทะลุไปถึงชั้น 14 ว่า “สรุปว่า เพราะใกล้ครบ 60 วัน ก็ต้องมีภาพก็เท่านั้น”


สอดรับกับทางกรมราชทัณฑ์ ที่อธิบายว่า ในช่วงวันที่ 22 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ทักษิณจะเข้าสู่ขั้นตอนการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 60 วัน 


ทางทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องนำส่งความเห็น การวินิจฉัยเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์


จากนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณาความเห็นดังกล่าวของแพทย์ และนำเสนอไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นไปตามลำดับชั้น เพื่อให้รับทราบถึงกระบวนการการรักษาผู้ต้องขังป่วย


ถ้าหากจะมีการรักษาเกินกว่า 120 วัน จะต้องมีการนำเสนอไปยังชั้นของ รมว.ยุติธรรม ต่อไป ทั้งหมดนี้ก็คือ กระบวนการนอนพักรักษาตัวชั้นที่ 14 อันเป็นไปตามขั้นตอนกรมราชทัณฑ์