คอลัมนิสต์

ประชานิยมฉบับ ‘ทักษิณ’ แจกเงินหมื่น ปลุก ‘เหลือง’ รีเทิร์นต้านเพื่อไทย

ประชานิยมฉบับ ‘ทักษิณ’ แจกเงินหมื่น ปลุก ‘เหลือง’ รีเทิร์นต้านเพื่อไทย

18 ต.ค. 2566

เหมือนฉายหนังเรื่องเดิม ประชานิยมแบบ ทักษิณ ปลุกอดีตแนวร่วมเสื้อเหลืองค้านแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ฝั่งกองหนุนเงินหมื่นก็คึกคัก

ประชานิยมแบบ ทักษิณ เหมือนฉายหนังเรื่องเก่า อดีตแนวร่วมเสื้อเหลืองค้านแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประชันกองหนุนเงินหมื่น  


ยิ่งนานวันเสียงค้านแจกเงินหมื่น ยิ่งขยายตัว รัฐบาลเศรษฐาตกอยู่ในสภาพงกๆ เงิ่นๆ จะเดินหน้าหรือถอยหลังก็ไม่ชัด


โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับประชานิยมฉบับ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งภายหลังหลายโครงการในรัฐบาลทักษิณ เจอการตรวจสอบและถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย
 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยยังจำฝังใจกับคำว่า ระบอบทักษิณ เมื่อเห็นโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ต้องใช้เม็ดเงินถึง 5.6 แสนล้านบาท จึงห่วงว่า จะซ้ำรอยเดิมเรื่องวินัยการเงินการคลัง เหมือนโครงการจำนำข้าว


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย จึงขอให้ผู้เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินหมื่น แสดงตัวออกมาหนุนรัฐบาลบ้าง 


ที่น่าสังเกต ไม่มีรัฐมนตรี ไม่มี สส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ออกมาพูดสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คล้ายกับว่าโครงการนี้เป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย


ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 เมื่อเวลา 15.00 น. กลุ่มรวมพลคนเอาเงินหมื่น นำโดยจ่ายุทธ คลองสาม หรือ ยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ อดีตผู้สมัคร สส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ได้นำคนเสื้อแดงปทุมธานี และสมุทรปราการ มาให้กำลังใจนายกฯเศรษฐา 


จ่ายุทธ คลองสาม ยังได้มอบเสื้อ ที่มีข้อความว่า ประชาชน สนับสนุน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต และสติกเกอร์ให้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะตัวแทนรัฐบาล


คาดว่า หลังจากนี้ จะมีกิจกรรมรวมพลคนเอาเงินหมื่น ในหลายจังหวัด แสดงพลังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเศรษฐา

ฉายหนังเรื่องเดิม
จังหวะที่คนเสื้อแดงขยับออกมาหนุนแจกเงินหมื่น อีกฟากหนึ่ง ตัวละครหน้าเดิมๆ สมัยม็อบคนเสื้อเหลืองต้านระบอบทักษิณ ก็เริ่มส่งเสียงค้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต


รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้อง สตง. ร่วมกับ กกต. และ ป.ป.ช. ยับยั้งการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อหยุดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ

 

การขยับของคนเสื้อแดง ปลุกให้คนเสื้อเหลืองเริ่มเคลื่อนไหวต้านแจกเงินหมื่น

 


เนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา ไม่รับฟังเสียงค้านของนักวิชาการ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และประชาชน รสนาเห็นว่า มีเพียงทางเดียวที่จะหยุดยั้งได้คือ องค์กรอิสระทั้งหลายจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ


ขณะเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ได้ออกมารับลูกทันที โดยจะยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อระงับโครงการดิจิทัล 10,000 บาท ในวันที่ 18 ต.ค. 2566 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ


นอกจากนี้ หมอวรงค์ มือปราบโกงจำนำข้าว ยังได้เชิญชวนประชาชนมาร่วมลงชื่อหยุดยั้งโครงการแจกเงินหมื่น 

 


ระบอบทักษิณ(ภาคใหม่)
การเลือกตั้งทั่วไปช่วงต้นปี 2548 นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทำให้พรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ 


อีกด้านหนึ่ง นักวิชาการแถวหน้า นักเศรษฐศาสตร์ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นนโยบายฉาบฉวยหาคะแนนเสียงในชนบท ทำให้รัฐสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล และอาจเกิดการล้มละลายประเทศในแถบละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยม


พร้อมกันนั้น รัฐบาลทักษิณ ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นยุคที่มีการทุจริตขนานใหญ่ เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย มีผลประโยชน์ทับซ้อนของคนในรัฐบาล


ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีสโลแกนว่า ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ ก็ติดหล่มนโยบายประชานิยม เมื่อใช้เงินคงคลัง 3 หมื่นล้านบาท เพื่อมาอุ้มนโยบายจำนำข้าวและรถคันแรก เพื่อหวังผลระยะสั้น แต่ไม่คำนึงผลระยะยาว


ล่าสุด นักวิชาการหลายสถาบัน ออกมาเตือนพรรคเพื่อไทยว่าโครงการเงินดิจิทัล 10,000 เสี่ยงผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งโครงการประชานิยมในปัจจุบัน ต่างจากอดีต โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หากใช้ผิดวัตุประสงค์ จะส่งผลถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


มินับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับปราบโกง ที่เปิดช่องทางให้องค์กรอิสระตรวจสอบและเตือนรัฐบาลได้ เมื่อเตือนแล้วไม่ฟัง รัฐบาลเศรษฐาก็เสี่ยงจะซ้ำรอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์