คอลัมนิสต์

ก้าวไกลเงิบ ‘เศรษฐา’ สานต่อ ‘ประยุทธ์’ ดัน กอ.รมน.ปั้นงานสร้างฐานมวลชน

ก้าวไกลเงิบ ‘เศรษฐา’ สานต่อ ‘ประยุทธ์’ ดัน กอ.รมน.ปั้นงานสร้างฐานมวลชน

01 พ.ย. 2566

ไปต่อ 15 ปี กอ.รมน.มรดกประยุทธ์-รัฐบาลขิงแก่ เศรษฐา ไม่ยุบ แถมใช้เป็นเครื่องมือปั้นผลงานรัฐบาลสลายขั้ว และโหมดดีลปรองดอง

ดับฝันก้าวไกล เศรษฐา สานต่อ ประยุทธ์ ดัน กอ.รมน.โฉมใหม่การเมืองนำการทหาร ทำได้ใช้เป็น ก็ได้ฐานมวลชน


ตลกร้าย 15 ปี กอ.รมน.ยุคประชาธิปไตยแบบไทย จากรัฐบาลขิงแก่ถึงรัฐบาลประยุทธ์ มีเป้าหมายเอาชนะระบอบทักษิณ


วันที่ 31 ต.ค. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวย การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เยี่ยมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เป็นครั้งแรก  โดยมี พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรอง ผอ.รมน. ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายกฯเศรษฐา เลือกมาตรวจเยี่ยม กอ.รมน. ท่ามกลางกระแสข่าวพรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.


ในช่วงแถลงข่าวใหญ่ เรื่องกองทัพยกที่ดินเกือบหมื่นไร่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ นายกฯเศรษฐา ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีความคิด ไม่มีนโยบายยุบ กอ.รมน.


“ในการมอบนโยบายวันนี้ มีแต่เรื่องการพัฒนา และเรื่องการทำให้ช่องว่างความเข้าใจผิดระหว่างกองทัพกับประชาชนลดน้อยลง โดยไม่ได้มองว่า กอ.รมน.เป็นเครื่องมือการเมือง” เศรษฐา กล่าว


ดังที่ทราบกัน กอ.รมน. เป็นองค์กรในยุคสงครามเย็น เริ่มจากกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) เมื่อปี 2508 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิว นิสต์ (กอ.ปค.) ในปี 2512


ปี 2543 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐสภาได้เห็นชอบให้ประกาศ ใช้พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 จากนั้น บทบาทของ กอ.รมน.ก็จบลงไปด้วย


ตอนนั้น ก็ไม่มีใครคิดหรอกว่า กอ.รมน.ที่ถูกกลบฝังไปแล้ว จะถูกขุดขึ้นมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

กำจัดระบอบทักษิณ
เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.สมัยนั้น ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ และตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี


รัฐบาลสุรยุทธ์หรือรัฐบาลขิงแก่ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


นั่นคือการกำเนิดใหม่ของ กอ.รมน. ในภารกิจใหม่คือรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมไปถึงกรณีที่เกิดสาธารณภัย โดยยึดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย


ว่ากันตามจริง กฎหมายรักษาความมั่นคงฉบับใหม่ และองค์กร กอ.รมน. ได้ซ่อนเป้าหมายทางการเมืองไว้คือ ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ


ปี 2551 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะมีตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้เข้าเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) ได้ทำงานวิจัยเรื่องกองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่


พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอประเด็นอนาคต กอ.รมน. กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดย กอ.รมน. ตามกฎหมายการรักษาความมั่นคงฯ เป็นองค์กรของรัฐที่จะก้าวไปสู่การบริหารราชการภาครัฐแนวใหม่ เป็นหน่วยระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี


บังเอิญว่า ฝ่ายต้านระบอบทักษิณ พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งในปี 2551 พล.อ.ประยุทธ์ จึงพับแผนการปรับปรุงองค์กร กอ.รมน.

 

 

นายกฯเศรษฐา กำลังใช้ กอ.รมน.สร้างผลงานให้รัฐบาลเพื่อไทย

 

 

เหตุดีลปรองดอง
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้า คสช. หลังทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้สั่งการขยายอำนาจและบทบาทของ กอ.รมน. ออกไปอย่างกว้างขวาง 


หัวหน้า คสช.สมัยนั้น ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ ผอ.รมน.จังหวัด ทำงานคู่กับรอง ผอ.รมน.ที่เป็นนายทหาร เท่ากับว่าจังหวัดหนึ่งมีทั้งผู้ว่าฯ สายพลเรือน และผู้ว่าฯ สายทหาร


นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ยังมีคำสั่งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงฯ โดยให้ กอ.รมน. “เข้าควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบ” 


สส.เพื่อไทย สมัยเป็นฝ่ายค้าน ก็วิพากษ์วิจารณ์ กอ.รมน. บางคนเสนอให้ยุบ กอ.รมน.เสียด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบัน เพื่อไทยอยู่ในโหมดปรองดอง สส.จึงได้แต่แอบคิดอยู่เงียบๆ


ผลพวงของดีลลับดีลปรองดอง ทำให้เศรษฐา พูดเสียงดังฟังชัดว่า ไม่ยุบ กอ.รมน. ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง ก็คงประเมินแล้วเช่นกัน เครือข่ายทักษิณ ไม่ใช่ภัยความมั่นคงแห่งชาติเหมือนในอดีต


คนชั้น 14 อาจมองข้ามช็อต หากใช้ กอ.รมน.สร้างผลงานช่วยเหลือประชาชน เหมือนกรณีแจกที่ดินชาวบ้าน อาจเป็นผลดีแก่เพื่อไทยมากกว่าจะคุมกำเนิด กอ.รมน. และเล่นตามเกมก้าวไกล