ความลี้ลับ ‘บั้งไฟพญานาค’ พิสูจน์แล้ว บ่แม่น ‘คนลาว’ ยิงปืนคืนออกพรรษา
20 กว่าปีที่แล้ว ทางการลาว สรุปกรณีบั้งไฟพญานาค บ่แม่นคนลาวยิงปืน คนฝั่งขวาบ่ยอมจบ ปีนี้ เจ้าแขวงบอลิคำไซ นั่งชมลูกไฟกลางน้ำโขง
วนลูปท้าพิสูจน์ บั้งไฟพญานาค จริงหรือลวง เดิมพันเงินล้าน คืนไหลเรือไฟ เจ้าแขวงบอลิคำไซ นั่งชมลูกไฟพุ่งขึ้นกลางน้ำโขง บ่มีคนลาวยิงปืน
20 กว่าปีที่แล้ว กระทรวงต่างประเทศ สปป.ลาว ทำเอกสารสรุปปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค บ่แม่นคนลาวยิงปืน แต่คนฝั่งขวาบ่ยอมจบ
ผ่านไปแล้ว เทศกาลบั้งไฟพญานาค คืนวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 2566
ฝั่งไทย มีการจัดงานระดับชาติที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปร่วมชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคด้วย
ฝั่งลาว ท่านกองแสง ไซสงคาม เจ้าแขวงบอลิคำไซ นำคณะไปชมบั้งไฟพญานาคที่ท่าน้ำริมโขง วัดโพนสันนาคานิมิต เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ตรงข้าม อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
สถานีโทรทัศน์แขวงบอลิคำไซ รายงานว่า ได้มีลูกไฟขึ้นจากกลางน้ำโขง แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่ากี่ลูก
ในโซเชียลลาว มีการเผยแพร่คลิปลูกไฟหรือบั้งไฟพญานาค ที่บ้านหนองเขียด เมืองปากงึ่ม นครหลวงเวียงจันทน์ ตรงข้าม อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
หลังงานบั้งไฟพญานาค ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องคนลาวยิงปืน ไม่ใช่บั้งไฟพญานาคตามความเชื่อของผู้คนสองฝั่งโขง
จากประเด็นท้าพิสูจน์ความจริง บุญมา พันดวง นักธุรกิจขายน้ำสาหร่ายแดง และเจ้าของช่องบุญมาทีวี ที่เป็นชาวบึงกาฬ จึงขอเดิมพัน 1 ล้านบาทกับ ดร.เจษฎา เพราะเขาเชื่อว่า นี่คือปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค
อย่างที่รู้กัน บั้งไฟพญานาค เป็นความเชื่อของผู้คนลุ่มน้ำโขงมายาวนานหลายร้อยปี ชาวลาวตามหมู่บ้านริมโขงได้จัดงานบุญออกพรรษา ไหลเรือไฟ และบูชาบั้งไฟพญานาคในทุกปี
บ่แม่นยิงปืน
กรณีคนไทยบางคนตั้งธงกล่าวหาคนลาวยิงปืนขึ้นฟ้า หลอกว่าเป็น บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ซึ่งคนฝั่งซ้ายไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวตามหมู่บ้านริมโขง เมืองปากงึ่ม ต่างเคยเห็นบั้งไฟพญานาค มาตั้งแต่เด็กๆ ในคืนออกพรรษา จุดธูปเทียนบูชาตามความเชื่อแบบเงียบๆ
เมื่อช่วงวันออกพรรษา แอดมินเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค เปิดประเด็นคนฝั่งลาวยิงปืนขึ้นฟ้า หลอกคนไทยว่าเป็นบั้งไฟพญานาค ในคืนออกพรรษา แถมชี้พิกัดหมู่บ้านที่มีการยิงปืน อยู่ในเขตเมืองปากงึ่ม นครหลวงเวียงจันทน์ และเมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
ทีมข่าวของสถานีโทรทัศน์นครหลวงเวียงจันทน์ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง และได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง เมืองปากงึ่ม ยืนยันข้อกล่าวหา การยิงปืนในค่ำคืนออกพรรษา บ่มีมูลความจริง
ทางเจ้าเมืองปากงึ่ม ได้ลงสำรวจหาข้อเท็จจริงที่บ้านนากุง, บ้านโดนเหนือ, บ้านหนองเขียด และบ้านปากงึ่ม พร้อมยืนยันว่า ทั้ง 4 หมู่บ้าน บ่มีการยิงปืนในคืนวันออกพรรษาแต่อย่างใด
ลาวพิสูจน์แล้ว
เมื่อปี 2545 สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งของไทย นำเสนอสกู๊ปเรื่องบั้งไฟพญานาค โดยส่งทีมงานข้ามโขงมาสัมภาษณ์ชาวบ้าน แถวบ้านโดนเหนือ เมืองปากงึ่ม และมีข้อสรุปว่า บั้งไฟพญานาคเป็นเรื่องคนลาวยิงปืนขึ้นฟ้า
จากกรณีสื่อทีวีไทยครั้งนั้น กรมการข่าว กระทรวงการต่างประเทศลาว ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจลงไปติดตามหาข้อเท็จจริงที่เมืองปากงึ่ม
ท้าวสีฟอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโดนเหนือสมัยนั้นบอกว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 80 มีความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค และรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคทุกปี แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า เกิดจากเหตุใด
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านโนนซายได้ให้ข้อมูลกับทีมคณะเฉพาะกิจว่า เคยเห็นบั้งไฟพญานาคจริง ไม่ใช่เรื่องที่คนทำ หรือใช้ปืนยิง ดังที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำ ไปกล่าวอ้าง
ปัจจุบัน เอกสารสรุปข้อเท็จจริงเรื่องบั้งไฟพญานาคจากเมืองปากงึ่ม เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ยังอยู่ที่กระทรวงต่างประเทศ สปป.ลาว