สาวกเขาควาย ‘ปิยบุตร’ ดนตรีไร้ชนชั้น ‘แอ๊ด คาราบาว’ เปลี่ยน-เพลงอมตะ
ครั้งแรกในชีวิต ปิยบุตร ปลื้ม แอ๊ด คาราบาว มอบหนังสือก้าวไกล เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน อุดมการณ์ไม่ตรงกัน แต่บทเพลงยังคงอมตะ
พบกันครั้งแรก ปิยบุตร สุดปลื้ม แอ๊ด คาราบาว เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน อุดมการณ์ไม่ตรงกัน แต่บทเพลงยังคงอมตะ
แอ๊ด คาราบาว บอกพี่น้องสีส้ม วันนี้แพ้ ขอให้ใจเย็น 4 ปีข้างหน้าอาจชนะ หลังปิยบุตร มอบหนังสือ 300 นโยบายก้าวไกล
ผ่านไปแล้ว งานคอนเสิร์ต 40 ปี คาราบาว ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายของวงคาราบาว เมื่อ 11 พ.ย. 2566 หลัง แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล ประกาศยุบวงในช่วงต้นปีหน้า
ควันหลังคอนเสิร์ตดังกล่าว มีการแชร์คลิปแอ๊ด คาราบาว พูดถึงการเมืองไทยในปัจจุบัน
“วันนี้ผมก็คิดว่า พี่น้องสีส้มมากันในวันนี้ก็เยอะนะครับ อีก 4 ปีข้างหน้า ท่านอาจจะชนะก็ได้ เราก็ช่วยกันทำงานอย่างนี้ ประเทศมันถึงจะเดินหน้าไปรอด”
เหตุที่แอ๊ด คาราบาว เอ่ยคำว่า พี่น้องสีส้ม กลางเวทีคอนเสิร์ตเพราะเขารู้ว่า ปิยบุตร แสงกนกกุล มาชมคอนเสิร์ตในคืนนั้นด้วย
ช่วงเย็นวันเดียวกัน อาจารย์ป๊อก ปิยบุตร ส่งข้อเขียนชิ้นหนึ่งผ่านแอปพลิเคชัน X เพื่อประกาศความเป็นสาวกคาราบาว
“ผมอ่านข่าว ทราบว่า พี่แอ๊ด ประกาศว่าจะยุบวงคาราบาว...หลังจากนั้นจะไม่มีคอนเสิร์ตของคาราบาวแล้ว ใจหายครับ วงดนตรีที่ผมผูกพัน อยู่กับเสียงเพลงของเขามาตั้งแต่สมัยเด็กประถม จนวัยกลางคน..”
อาจารย์ป๊อก จึงเลื่อนวันเดินทางไปเยี่ยมภรรยาที่ปารีสออกไป เพื่อจะได้ชมคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้าย
คนเปลี่ยน เพลงไม่เปลี่ยน
อาจารย์ป๊อกเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2530 ซื้อเทปคาราบาวครั้งแรก เวลาผ่านไป 36 ปี เขาจึงมีโอกาสพบกับแอ๊ด คาราบาว เป็นการส่วนตัวได้ พูดคุยกันยาวหลายชั่วโมง
หลักฐานการพบกัน อาจารย์ป๊อกได้โพสต์ภาพการมอบหนังสือของพรรคก้าวไกล 300 นโยบายเปลี่ยนประเทศ ให้กับหัวหน้าวงคาราบาว
ปิยบุตร ก็เหมือนแฟนเพลงวงคาราบาวอีกจำนวนมากในประเทศ ที่ตั้งคำถามกับแอ๊ด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดยืนและการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงความมั่งคั่งร่ำรวย พวกเขายังจะฟังเพลงคาราบาวได้หรือไม่
แอ๊ด คาราวบาว ในช่วงหลังสงครามเย็น กับปัจจุบัน แตกต่างกันมาก ทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ และจุดยืนทางการเมือง
สำหรับตัวเขาแล้ว ยังชอบเพลงคาราบาว ยังฟังเพลงคาราบาวได้ “...เนื้อเพลงที่ดี ผ่านไปกี่เดือน ปี ก็ยังคงดีเพลงอมตะ ผ่านไปกี่เดือน ปี ก็ยังคงอมตะ”
ศิลปินเพลงหมื่นล้าน
พ.ศ.นี้ แอ๊ด คาราบาว หรือยืนยง โอภากุล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาณาจักรคาราบาวกรุ๊ป(CBG) ขายสารพัด เครื่องดื่มชูกำลัง เหล้าขาว และเบียร์
กว่าจะมาเป็นศิลปินเพลงหมื่นล้านในวันนี้ แอ๊ด คาราบาว ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาว ยุครอยต่อสงครามเย็นกับประชาธิป ไตยแบบไทย
หลังจบเรียนสถาปัตย์จากฟิลิปปินส์ ยืนยงได้ทำงานสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง ควบคู่กับการเล่นดนตรีในห้องอาหารที่โรงแรมวินเซอร์ ซอยสุขุมวิท 20
บรรยากาศบ้านเมืองยุคเผด็จการขวาจัด หลัง 6 ตุลาคม 2519 ยืนยงไปมาหาสู่กลุ่มเพื่อนศิลปินชาวโคราช ทำให้เขาเข้าสู่ขบวนการปฏิวัติไทย เป็นผู้ปฏิบัติงานในเมืองของ พคท.อีสานใต้
ต้นปี 2526 วิกฤตศรัทธาป่าแตก ส่งผลให้สหายจากเขตป่าเขา เมื่อสงครามยุติแล้ว ทุกคนก็เดินไปตามของตัวเอง
ปีถัดมา ยืนยง ในนามวงคาราบาว ออกอัลบั้มเพลงชุดแรก “ลุงขี้เมา” และเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง “วณิพก”
ไม่นานมานี้ ยืนยง โอภากุล ในวัย 67 ปี อธิบายความคิดความอ่านทางการเมือง ผ่านทีมงาน Optimise Magazine ว่า
“..ผมรักความยุติธรรม..ชีวิตผมวุ่นอยู่แต่กับเรื่องแบบนี้ ไม่งั้นก็ไม่ได้มีอะไร ตั้งแต่มนูญ รูปขจร จำลอง ศรีเมือง ฉลาด วรฉัตร ไปยุ่ง ไปช่วยเขา เมื่อก่อนเป็นเรื่องของผู้คนประชาชน แต่วันนี้ผมพอแล้ว..”
เหมือนที่ปิยบุตรสรุปไว้ ไม่ว่าคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่บทเพลงยังคงอมตะ คาราบาวคือตำนานคนดนตรีของไทย