คอลัมนิสต์

ดราม่ากู้มาแจก ‘ศิริกัญญา’ ประชัน ‘ทักษิณ’ อาจสามารถโมเดล 2 ขั้ว

ดราม่ากู้มาแจก ‘ศิริกัญญา’ ประชัน ‘ทักษิณ’ อาจสามารถโมเดล 2 ขั้ว

15 พ.ย. 2566

เหตุเกิดที่อาจสามารถ ศิริกัญญา ชูโมเดลน้ำประปาดื่มได้ ประชันเรียลลิตี้แก้จนสูตรทักษิณ ควันหลงวิวาทะกู้มาแจก 5 แสนล้าน

ดราม่ากู้มาแจก ศิริกัญญา ยกอาจสามารถโมเดล น้ำประปาดื่มได้ ประชันตำราแก้จน ทักษิณ ฉบับร้อยเอ็ดเหมือนกัน


เหตุเกิดที่อาจสามารถ ปี 2549 ทักษิณโชว์เรียลลิตี้แก้จน ปี 2564 ธนาธร ทำน้ำประปาดื่มได้ กลายเป็นแคมเปญหาเสียงก้าวไกล


อันเนื่องมาจาก ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โชว์ฟอร์มหญิงเดี่ยวยืนซดทีมเพื่อไทย ว่าด้วยเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตั้งแต่วันแรกๆ โดยเปิดประเด็นกู้มาแจก ไปไม่รอดแน่

วันที่ 14 พ.ย. 2566 ไหม ศิริกัญญา มือเศรษฐกิจค่ายสีส้ม ไปออกรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ เจอคำถามว่า ถ้าไม่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้มาแจกหัวละหมื่นบาท ก้าวไกลมีวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน


ไหม ศิริกัญญา ตอบทันทีว่า ให้ใช้งบประมาณลงทุนในการสร้างสาธารณูปโภคในชุมชน เช่นน้ำประปาดื่มได้ สามารถให้กระตุ้นการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่อน้ำ และมิเตอร์ได้


พลันที่รองหัวหน้าไหม พูดถึงน้ำประปาดื่มได้ กลายเป็นดราม่าในโซเชียลมีเดีย เอฟซีเพื่อไทยวิจารณ์แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสีส้มด้วยน้ำเสียงเย้ยหยัน


จริงๆ แล้ว แผนการทำประปาดื่มได้ ลดรายจ่ายประชาชน ก็อยู่ในนโยบายการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต


ที่น่าสนใจ แผนทำน้ำประปาดื่มได้ของก้าวไกลนั้น มาจากความสำเร็จของ ‘อาจสามารถโมเดล’ โดยคณะก้าวหน้า 


เหนืออื่นใด พื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เคยเป็นโมเดลแก้จนของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ได้ทำเพราะถูกทหารยึดอำนาจไปเสียก่อน


ศิริกัญญา จะตั้งใจหรือไม่ ที่หยิบยกน้ำประปาดื่มได้ ของอาจสามารถโมเดล เป็นตัวอย่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับสีส้ม และหนีไม่พ้นที่คนจะนำไปเปรียยเทียบกับอาจสามารถโมเดลของทักษิณ

อาจสามารถสีส้ม
ช่วงปลายเดือน มี.ค.2566 คณะก้าวหน้าได้รับชัยชนะระดับนายกเทศมนตรีตำบล 12 แห่ง และในร้อยเอ็ดมี 3 แห่ง


เฉพาะเทศบาลตำบลอาจสามารถ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เทพพร จำปานวน ตัวแทนคณะก้าวหน้า ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี ด้วยการชูนโยบาย 99 วัน น้ำต้องใส


หลังเลือกตั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า เดินทางมาที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ เพื่อพัฒนาโครงการผลิตน้ำประปา ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตน้ำ


ต่อมา เทศบาลตำบลอาจสามารถ ได้รับเกียรติบัตรรับรองจากกรมอนามัย ให้น้ำประปาของเทศบาล เป็นน้ำประปาดื่มได้

 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วันที่เดินทางไปเปิดแตมเปญน้ำประปาดื่มได้ ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด

 


ต้นปี 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยเทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ แถลงข่าวความสำเร็จของการผลิตน้ำประปาดื่มได้ และปูทางสู่การสร้างอุตสาหกรรมน้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ


น้ำประปาดื่มน้ำได้จากอาจสามารถ พรรคก้าวไกลได้ยกระดับให้เป็นนโยบายระดับชาติ เหมือนที่ศิริกัญญา ตันสกุล บอกว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ต้องกู้มาแจกคือ การทำน้ำประปาดื่มได้  

 

อาจสามารถสีแดง
ต้นปี 2549 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ยกคณะรัฐมนตรี ลงทำกิจกรรมในพื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อแก้ปัญหาความยากจน หรือ ‘อาจสามารถโมเดล’


แนวทางของอดีตนายกฯทักษิณคือ จะใช้เงิน 250 ล้านบาทต่ออำเภอ จึงจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ รวมงบประมาณทั้งหมดจะอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท ในพื้นที่เป้าหมาย 800 อำเภอ


อาจสามารถโมเดล ไม่สำเร็จตามแผนที่ทักษิณวางไว้ เพราะเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 แต่ชาวร้อยเอ็ดยังเฝ้ารอทักษิณกลับมาสานต่อ จึงทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งในพื้นที่นี้มาโดยตลอด


สำหรับวันที่ 3-4 ธ.ค.2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะไปประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.หนองบัวลำภู เป็นแห่งแรก เนื่องจากหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรน้อยเป็นลำดับที่ 76 ของประเทศ 


นายกฯเศรษฐา จึงมีแผนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวหนองบัวลำภู ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีสื่อบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือหนองบัวโมเดล ตามอาจสามารถโมเดลในยุคทักษิณ