คอลัมนิสต์

หนองบัวโมเดล ‘เศรษฐา’ ฟื้นฐานเสียงเสื้อแดง ‘อนุทิน’ แบ่งเค้กอีสานเหนือ

หนองบัวโมเดล ‘เศรษฐา’ ฟื้นฐานเสียงเสื้อแดง ‘อนุทิน’ แบ่งเค้กอีสานเหนือ

04 ธ.ค. 2566

ผ่าสมรภูมิอีสานตอนบน เศรษฐา ปลุกหนองบัวลำภูโมเดล-เสื้อแดง ชิงฐานเสียงพรรคร่วมรัฐบาล อนุทิน-ประวิตร ร่วมแบ่งเค้ก 5 จังหวัด

สัญจรอีสาน เศรษฐา ผ่าหนองบัวโมเดล สมรภูมิชิงฐานเสียงพรรคร่วมรัฐบาล อนุทิน-ประวิตร ร่วมแบ่งเค้กอีสานตอนบน


ส่องลึก 5 จังหวัดอีสานเหนือ ที่มั่นทักษิณถูกเจาะพรุน สูญเสีย 7 ที่นั่ง เพื่อไทยจึงปั้นหนองบัวโมเดล ฟื้นฐานเก่าคนเสื้อแดง    


การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่ 1/2566 ที่ จ.หนองบัวลำภู ในวันที่ 4 ธ.ค. 2566 มีทั้งมิติการบริหารราชการแผ่นดิน และมิติทางการเมือง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และแกนนำเพื่อไทยได้ข้อสรุปที่จะจัดการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.หนองบัวลำภู ตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างนายกฯเศรษฐา เดินทางมาตรวจราชการภาคอีสานครั้งแรก


ครม.สัญจรครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา หมายถึงกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 คือ บึงกาฬ, เลย, หนองคาย, หนองบัวลำภู และอุดรธานี 

 

 

นายกฯเศรษฐา ลุย 5 จังหวัดอีสานตอนบน ปลุกฐานเสื้อแดง

 


ในมิติการเมือง 5 จังหวัดภาคอีสานตอนบนดังกล่าว เฉพาะการเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมา มี สส.รวมทั้งหมด 23 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย ได้ 16 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง พรรคไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกล 1 ที่นั่ง 


นับแต่ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย จนมาถึงยุคพรรคเพื่อไทย สมัยนายกฯยิ่งลักษณ์ โซนอีสานเหนือ 5 จังหวัด ไม่เคยมีพรรคไหนสามารถเบียดเจาะที่มั่นของทักษิณได้


การสูญเสีย 7 ที่นั่งของเพื่อไทย ทำให้ทักษิณ และแกนนำเพื่อไทยนั่งไม่ติด ดังนั้น หนองบัวลำภูโมเดล จึงต้องมาในรัฐบาลเพื่อไทย
 

ย้อนสแกนสมรภูมิเลือกตั้งอีสานตอนบน 5 จังหวัด หนองบัวลำภู มี สส. 3 ที่นั่ง เพื่อไทยชนะยกจังหวัด


อุดรธานี มี สส. 10 ที่นั่ง เพื่อไทย 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 2 ที่นั่งและก้าวไกล 1 ที่นั่ง


หนองคาย มี สส. 3 ที่นั่ง เพื่อไทย 2 ที่นั่ง และพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง 


บึงกาฬ มี สส. 3 ที่นั่ง เพื่อไทย 1 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง


เลย มี สส. 4 ที่นั่ง เพื่อไทย 3 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง


จากผลการเลือกตั้งข้างต้น สะท้อนว่า ก้าวไกลยังไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของเพื่อไทย หากแต่เป็นนักการเมืองบ้านใหญ่ ที่สวมเสื้อไทยสร้างไทย, ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ 

เสาเข็มสีน้ำเงิน
สมัยรัฐบาลประยุทธ์ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้มอบให้ ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย รับผิดชอบพื้นที่อีสานตอนบน โดยวางเป้าหมายต้องปักธงสีน้ำเงินให้ได้ที่สมรภูมิหนองคาย และบึงกาฬ 


ผลปรากฏว่า รมช.ทรงศักดิ์ ประสบความสำเร็จใน จ.บึงกาฬ ภูมิใจไทย คว้า 2 ที่นั่งคือเขต 1 สยาม เพ็งทอง และเขต 2 สุวรรณา กุมภิโร 


จ.หนองคาย ภูมิใจไทยหนุนบ้านใหญ่โพนพิสัย จิดาภา สุนทรธนากุล แต่ล้มแชมป์เก่า ชนก จันทาทอง เพื่อไทยไม่ได้


สำหรับ จ.เลย ธนยศ ทิมสุวรรณ ทายาทบ้านใหญ่วังสะพุง ค่ายสีน้ำเงิน ยังได้รับเลือกเป็น สส.เลย สมัยที่ 2 

 

ผู้กองมาแรง
ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาเปิดตัวผู้สมัคร สส.หนองคาย อย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจาก ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย รับปากลุงป้อม จะดูแลสมรภูมิชายฝั่งโขง 


ในที่สุด บ้านใหญ่หนองคายก็ปักธงได้ที่เขต 1 กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ อดีตรองนายก อบจ.หนองคาย ได้รับเลือกเป็น สส.หนองคาย 


ฉะนั้น เมื่อ 2 ธ.ค. 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการและพบปะเกษตรกรที่ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย โดยมี สส.กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ และยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น


มีข้อน่าสังเกตว่า หลัง พล.อ.ประวิตร เปิดบ้านป่ารอยต่อฯ เคลียรใจแกนนำ พปชร.ทุกซุ้ม รวมถึงผู้กองธรรมนัส เมื่อ 30 พ.ย. 2566 ทำให้การเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส ในภาคอีสานเป็นไปอย่างคึกคัก


สรุปว่า โซนอีสานตอนบน 5 จังหวัด กลยุทธ์บ้านใหญ่ตอกเสาเข็ม กลายเป็นขวากขวางเพื่อไทย ฉะนั้น คนชั้น 14 จึงคาดหวังกับหนองบัวลำภูโมเดล เพื่อฟื้นฐานเสียงคนเสื้อแดง