คอลัมนิสต์

เกมเลือดสีฟ้า ‘อภิสิทธิ์’ ถอยในรุก ‘เฉลิมชัย’ นำ ปชป.เสี่ยงสูญพันธุ์

เกมเลือดสีฟ้า ‘อภิสิทธิ์’ ถอยในรุก ‘เฉลิมชัย’ นำ ปชป.เสี่ยงสูญพันธุ์

13 ธ.ค. 2566

เปิดเกมแยกเฉดสีฟ้า อภิสิทธิ์ ถอยในรุก เฉลิมชัยตกเป็นฝ่ายรับ ยึดได้แค่แบรนด์พรรค เลือกตั้งครั้งหน้า อาจเป็นพรรคต่ำสิบหรือสูญพันธุ์

เลือดสีฟ้า อภิสิทธิ์ ถอยในรุก เปิดเกมเฉดสีที่แตกต่าง เฉลิมชัยตกเป็นฝ่ายรับ ยึดได้แค่แบรนด์พรรค แต่ไม่ได้จิตวิญญาณ ปชป.


อนาคต ปชป.ในมือ เฉลิมชัย อาจซ้ำรอยพรรคบ้านใหญ่ในอดีต รอวันถดถอย เลือกตั้งครั้งหน้า อาจเป็นพรรคต่ำสิบหรือสูญพันธุ์


วันที่ 12 ธ.ค. 2566 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 2 โดยแชร์ลิงก์เพลง Exile พร้อมข้อความว่า ‘ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ทุกท่านส่งมาให้ครับ เมื่อครั้งลาออกจาก สส.เคยฝากเพลง Watching the Wheels ของ John Lennon ให้ฟัง ปีนี้ขอฝากเพลงนี้ครับ’
Exile เป็นเพลงของนักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ร่วมกับวงบอนอีแวร์ โดยชื่อเพลงนี้ มีความหมายว่า การเนรเทศหรือการขับไล่
 

เพลง Exile พูดถึงความรักที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ก็ต้องจบไป เพราะตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน ทั้งสองไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจกันมากพอ


ดังนั้น ก่อนที่อภิสิทธิ์ จะประกาศถอนตัวจากชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. จึงขอเวลาพูดคุยกับ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเวลา 10 นาที เมื่อกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย ไม่ยอมถอย ไม่ยอมงดใช้ข้อบังคับ 70 : 30 อภิสิทธิ์ก็รู้แล้วว่า ต้องแยกทางกับเสี่ยต่อ


“ผมไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดผมมา ก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย” คำพูดประโยคของอภิสิทธิ์ กลายเป็นโควทออฟเดอะเดย์ในสื่อโซเชียล


สำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 7 และครองตำแหน่งยาวนานถึง 14 ปี รองจาก ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรกที่ทำหน้าที่ยาวนานกว่า 22 ปี


การประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค ปชป. จึงส่งผลสะเทือนถึงแฟนคลับ ปชป. และอดีต สส.อีกจำนวนหนึ่ง

 

เฮือกสุดท้าย ‘สากล’ บ้านใหญ่ ‘ม่วงศิริ’ ตีฝ่าแนวรบสีส้ม

ไม่สูญพันธุ์ ‘เฉลิมชัย’ เขย่าสูตร ‘เพื่อนเนวิน’ มีอำนาจรัฐ มี สส.

 

ถอยในรุก 
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากสมาชิกพรรค ปชป. แต่ก็ยังเชื่อมั่นและศรัทธาในอุดมการณ์การเมืองแบบ ปชป. จึงไม่มีแผนจะไปสังกัดพรรคอื่น


การถอยออกมาเป็นคนนอก แต่ก็เปิดทางพร้อมที่จะกลับเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค ปชป.อีกครั้ง หากพรรคตกต่ำถึงขีดสุด และมีเลือดสีฟ้าที่เข้มข้น เรียกร้องให้อภิสิทธิ์กลับมาพลิกฟื้นพรรค

 

 

อภิสิทธิ์ รอวันกลับมาฟื้นฟู ปชป.

 


ปรากฏการณ์เลือดสีฟ้าไหลออกหลัง 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากมาร์คเอฟเฟกต์


เหนืออื่นใด การลาออกของอภิสิทธิ์ ยังทำให้เกิดการแยกเฉดสี ระหว่างสีฟ้าเชิงอุดมการณ์ กับสีฟ้ารุ่นใหม่สไตล์ใจถึงพึ่งได้


นักรัฐศาสตร์เชื่อว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน และเดชอิศม์ ขาวทอง คงเดินแนวทางสร้างพรรคแบบนักเลือกตั้งใจถึงพึ่งได้เต็มตัว มี สส.อยู่ในมือประมาณ 10-20 ที่นั่ง และพร้อมเข้าร่วมรัฐบาล


สถานการณ์การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจไม่เหมือนปี 2566 เมื่อพรรคก้าวไกล ยึดกุมฐานเสียงคนรุ่นใหม่ทั้งประเทศ ส่วนพรรคเพื่อไทย ก็คงเดินหน้ากวาดต้อนบ้านใหญ่มาไว้เป็นฐานเสียง


พรรค ปชป.ที่ไม่มีจุดขายเชิงอุดมการณ์ ต้องเจอคู่แข่งอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ โอกาสที่ ปชป.ยุคบ้านใหญ่ จะเสี่ยงสูญพันธุ์ก็มีสูง 

 

การเมือง 2 ขั้ว
ตลอดเวลา 14 ปี ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นยุคการเมือง 2 ขั้วคือ ขั้วทักษิณ กับขั้วต้านระบอบทักษิณ


การเลือกตั้งปี 2550 อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ปชป.สมัยแรก นำทัพคว้าเก้าอี้ สส.ได้ถึง 165 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 69 ที่นั่ง และคะแนนบัญชี 14 ล้านเสียง


การเลือกตั้งปี 2554 อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ปชป.สมัยที่ 2 และอยู่ในตำ แหน่งรักษาการนายกฯ ได้พาพลพรรคสีฟ้า ฝ่ากระแสแดงทั้งแผ่นดิน ได้ สส.159 ที่นั่ง คะแนนบัญชีรายชื่อ 11 ล้านเสียง


หลังรัฐประหาร 2557 บริบทการเมืองเปลี่ยน คู่ขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นขั้วต้านอำนาจ คสช. กับขั้วหนุนประยุทธ์ (ขั้วอนุรักษนิยม) ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 พรรค ปชป.ไม่ใช่คำตอบสำหรับมวลชนกลุ่มอนุรักษนิยม จึงได้ สส.เพียง 52 ที่นั่ง และ 25 ที่นั่งตามลำดับ


หาก เฉลิมชัย นำ สส. 21 คนเข้าร่วมรัฐบาลเศรษฐา อาจเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต ใกล้ถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า สส.บางกลุ่มอาจทิ้ง ปชป.ไปสังกัดพรรคที่มีกระแสดีในเวลานั้น ปชป.ก็เหลือแต่ซาก