คอลัมนิสต์

ขงเบ้งสีส้ม ‘ชัยธวัช’ วางกลศึก ‘ชั้น 14’ อุดมการณ์ต่างสี

ขงเบ้งสีส้ม ‘ชัยธวัช’ วางกลศึก ‘ชั้น 14’ อุดมการณ์ต่างสี

20 ธ.ค. 2566

อุดมการณ์บนเส้นขนาน ชัยธวัช ขงเบ้งสีส้มวางกลศึก ชั้น 14 ลบคำปรามาสก้าวไกลค้านอำพราง อ่านความคิด เอก-ต๋อม เป้าหมายล้ำลึกกว่าทักษิณ

ขงเบ้งมาแล้ว ชัยธวัช ผู้นำฝ่ายค้านตัวจริง ลุยชั้น 14 ลบคำปรามาสก้าวไกลค้านอำพราง อ่านความคิด เอก-ต๋อม ล้ำลึกกว่าทักษิณ


ส่องทางเดิน ทักษิณ กับสองสหาย เอก-ต๋อม เปรียบอุดมการณ์บนเส้นขนานอาจเป็นแนวร่วมทางยุทธวิธี แต่ยืนคนละขั้วในทางยุทธศาสตร์    


นักวิเคราะห์การเมืองหลายสำนักอาจแปลกใจ ที่เห็น ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบคำถามนักข่าวว่าด้วยระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่เรื่องการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ แต่พาดพิงกรณีทักษิณ ชินวัตร นอกพักรักษาใน รพ.ตำรวจ

ต๋อม ชัยธวัช ใช้คำว่า กระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน กับกรณีทักษิณอยู่ใน รพ.ตำรวจ เกือบจะครบ 120 วันแล้ว


“มันก็เกิดคำถามว่า ทำไมคุณทักษิณถึงได้รับการปฏิบัติที่ดูเหมือนมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องขังคนอื่น”


หัวหน้าพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกรณีผู้ต้องป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและหากว่า รพ.ราชทัณฑ์ มีศักยภาพไม่เพียงพอ ก็เห็นด้วยที่ผู้ถูกคุมขังจะได้รับสิทธิ์ออกไปรักษาข้างนอกได้


สำหรับกรณีทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิ์เข้ารักษาใน รพ.ตำรวจมา 120 วันแล้ว ทำไมถึงได้รับสิทธิ์นี้อยู่ และรัฐบาลควรตอบสังคมให้ชัดเจน 


“ฝ่ายค้านจะต้องตรวจสอบแน่นอน ผมคิดว่าฝ่ายบริหาร ควรตอบสังคมให้ได้ในเรื่องนี้ อย่าเงียบและคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก” 


ก่อนหน้านี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกลว่า ไม่แตะนักโทษชายบนชั้น 14 และโยงดีลลับฮ่องกง เมื่อธนาธรไปพบทักษิณ 


จะว่าไปแล้ว หากได้ศึกษาเส้นทางเดินของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็จะรู้ว่า ก้าวไกลกับเพื่อไทยนั้น อุดมการณ์ต่างกัน ยุทธศาสตร์ก็ต่างกัน 

สหายร่วมรบ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นี่เป็นย่างก้าวที่สำคัญของผู้ชายวัย 45 ปี

 

 

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน อย่างเป็นทางการ

 


ต๋อม ชัยธวัช ได้ฉายา ขงเบ้งก้าวไกล หรือขงเบ้งสีส้ม เนื่องจากเป็นนักคิด นักกลยุทธ์ มาตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)


เอก ธนาธร และต๋อม ชัยธวัช เรียนต่างสถาบันกัน แต่ได้มาพบกันบนเส้นทางการต่อสู้ภาคประชาชน ช่วงหลังวิกฤตฟองสบู่แตก


ปี 2543 ธนาธรเรียนจบธรรมศาสตร์ ได้สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มเพื่อนประชาชน (Friend of people-FOP) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิแห่งหนึ่งในเยอรมัน


ส่วนชัยธวัช ได้รับการติดต่อจากรุ่นพี่คนหนึ่งให้เข้าทำงานที่สถาบันพัฒนาการเมือง ซึ่งต๋อมรับหน้าที่ผลิตวารสารแนวการเมืองใหม่ 


ปี 2545 ธนาพล อิ๋วสกุล ชวน ต๋อม ชัยธวัช และเอก ธนาธร มาตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพื่อผลิตวารสารฟ้าเดียวกัน 


รัฐบาลไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อาจเป็นขวัญใจคนรากหญ้าและคนชั้นกลาง แต่สำหรับขบวนการภาคประชาชน กลับมองว่า รัฐบาลทักษิณคือตัวแทนกลุ่มทุนผูกขาด


เวลานั้น เอก ธนาธร และต๋อม ชัยธวัช เลือกยืนข้างภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจน, กลุ่มต้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ และกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด


ต้นปี 2547 วารสารฟ้าเดียวกัน ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเรื่อง “ระบอบทักษิณ ความเป็นมา และความเป็นไปในอนาคต” โดยมีนักวิชาการ 30 คนเข้าร่วม 

 

ฝันกันคนละแบบ
ทั้ง ต๋อม ชัยธวัช และเอก ธนาธร เริ่มรู้สึกเห็นใจและเข้าใจทักษิณ หลังเกิดรัฐประหาร 2549 พวกเขาจึงเข้าร่วมชุมนุมต้านเผด็จการทหารที่ท้องสนามหลวง


กระทั่ง นปช.จัดชุมนุมใหญ่ปี 2553 ธนาธรและเพื่อน ก็เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะเป็นยุทธการไพร่โค่นอำมาตย์  


หลังการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณสั่งคนเสื้อแดงหยุดพายเรือ เพราะตัวเขาถึงฝั่งแล้ว ธนาธรรู้สึกโกรธ เพราะตอนแรกประเมินว่า ทักษิณคิดเหมือนพวกเขา

 

ธนาธรคิดได้ทันทีว่า “ต้องมีพรรคการเมืองใหม่แล้ว ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย..”


ปี 2561 เอก ธนาธร และต๋อม ชัยธวัช จึงตัดสินใจก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ด้วยความมุ่งหวังจะพลิกโฉมหน้าสังคมไทย และสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์